วันเสาร์ ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2565, 06.00 น.
อุตุฯเตือนใต้ฝนตกหนักต่อเนื่อง
ระวังท่วมฉับพลัน
สตูลวิกฤตจมบาดาล6อำเภอ
ลำชีทะลักพนังแตกท่วมเพิ่ม
กาฬสินธุ์ยังอ่วมใน2อำเภอ
มท.1ยันเร่งฟื้นฟูหลังน้ำลด
กรมอุตุฯเตือนภาคใต้มีฝนหนักต่อเนื่องระวังท่วมฉับพลัน-น้ำป่าหลาก “มท.1” ยันดูแลประชาชนประสบภัย เล็งซ่อมบ้านเรือนหลังน้ำลด ด้านกระทรวงเกษตรฯจัดงบเยียวยากรมประมง ช่วยกว่า 200 ล้านบาท “บิ๊กตู่” ยกคณะ ลงพื้นที่สิงห์บุรี 24 ตุลาคมนี้ ส่วนกาฬสินธุ์ ซ่อมพนังขาดได้แล้ว 17 เมตร สตูลท่วมกระจายแล้ว 6 อำเภอ
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ว่าร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมทะเลอันดามันตอนกลาง ขณะที่ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากโดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 3 เมตร ขณะที่ทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2565
อีสาน-ภาคกลางอุณหภูมิสูงขึ้น
สำหรับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่มีลมตะวันออกเฉียงใต้ในระดับบนพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกทม.และปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีฝนเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้
ภาคเหนืออากาศเย็นในตอนเช้า
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย ภาคเหนือ อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยอุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศาฯ อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาฯ กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 18-21 องศาฯ อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาฯ ภาคกลาง มีหมอกบางในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาฯ โดยมีฝนร้อยละ 30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาฯ อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาฯ มีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาฯ อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาฯ ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร
ภาคใต้มีฝนร้อยละ80ของพื้นที่
ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาฯ อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาฯ ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาฯ อุณหภูมิสูงสุด 26-32 องศาฯ ตั้งแต่ จ.กระบี่ ขึ้นมา ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 3 เมตร ตั้งแต่ จ.ตรัง ลงไป ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร กทม.และปริมณฑล มีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาฯ อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาฯ
มท.1ยันดูแลประชาชนช่วงวิกฤต
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ได้ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งที่ จ.อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบมากจากปัญหาลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี ซึ่งจะดูเรื่องการดำเนินชีวิตของประชาชนในช่วงนี้ให้ได้ก่อน หลังจากระบายน้ำจนสามารถฟื้นฟูได้แล้ว ก็จะเร่งฟื้นฟูโดยเร็ว ให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้ สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยาขณะนี้น้ำไหลลงไปในพื้นที่เกษตรเป็นส่วนใหญ่ หากสามารถฟื้นฟูได้ก็จะคอยดูแล
เมื่อถามว่าขณะนี้ได้สำรวจความเสียหายตามพื้นที่ต่างๆ เรียบร้อยแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ดูแลความเป็นอยู่ประชาชนก่อน เพราะหลายพื้นที่ประชาชนยังอพยพอยู่ที่ศูนย์พักพิงเช่น จ.อุบลราชธานี ยืนยันว่าหากน้ำลดลงจะเร่งฟื้นฟูทันที และเร่งซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงการชดเชยการทำมาหากินเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย แต่เวลานี้ยังสำรวจไม่ได้เนื่องจากน้ำยังมากอยู่
ก.เกษตรฯเร่งมือช่วยเหลือ
ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรกรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย ส่งผลให้เกษตรกรได้รับผลกระทบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีความห่วงใยผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวจึงสั่งการให้ส่วนราชการต่างๆ เร่งเยียวยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งทาง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ขับเคลื่อนนโยบายตามข้อสั่งการ โดยมอบหมายหน่วยงานในสังกัดบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร็ว
กรมประมงใช้เงิน200ล้านบาท
น.ส.รัชดา กล่าวต่อว่า จากรายงานการสำรวจความเสียหายด้านการประมง พบมีพื้นที่เสียหาย 41 จังหวัด มีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 21,467 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหายรวมกว่า 2.7 หมื่นไร่ คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 464 ล้านบาท ประมาณการวงเงินช่วยเหลือไว้ 200 ล้านบาท ซึ่งกรมประมงจะเร่งสำรวจอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและให้ความช่วยเหลือตามระเบียบของกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ อัตราการให้ความช่วยเหลือ มีดังนี้ 1.กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล หรือหอยทะเล ไร่ละ 11,780 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่ 2.ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นนอกจากข้อ 1 ที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าว หรือร่องสวน (คิดเฉพาะพื้นที่เลี้ยง) ไร่ละ 4,682 บาท ไม่กินรายละ 5 ไร่ 3.สัตว์น้ำตามข้อ 1 และ 2 ที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ หรือที่เลี้ยงในลักษณะอื่นที่คล้ายคลึงกัน ตารางเมตรละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตารางเมตร
‘บิ๊กตู่’ยกคณะลุยสิงห์บุรี24ต.ค.นี้
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตี พร้อมคณะ มีกำหนดการเดินทางไปติดตามสถานการณ์อุทกภัยที่ จ.สิงห์บุรี ในวันที่ 24 ตุลาคมนี้ โดยจะพบปะให้กำลังใจประชาชนที่ประสบอุทกภัยพื้นที่หมู่ 3 ต.บางกระบือ อ.เมือง , ต.พิกุลทอง ต.โพประจักษ์ อ.ท่าช้าง ก่อนจะเดินทางกลับ กทม.อย่างไรก็ดี กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม
กาฬสินธุ์ซ่อมพนังได้แล้ว17เมตร
ที่ จ.กาฬสินธุ์ ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการซ่อมแซมพนังกั้นแม่น้ำชี ที่ขาดเป็นทางยาวกว่า 50 เมตรบริเวณบ้านสะดำศรี ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเข้าสู่วันที่ 5 ว่า นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ รักษาราชการแทน ผวจ.กาฬสินธุ์ พร้อมคณะ ยังคงติดตามและเร่งรัดการซ่อมแซมอย่างต่อเนื่อง โดยการซ่อมแซมคืบหน้าไปมากเพราะน้ำเริ่มลดความเชี่ยวกราก วัสดุต่างๆ โดยเฉพาะหินที่ใส่ตะแกรงเหล็กแกเบรียลมีความพร้อมมากขึ้น จึงสามารถซ่อมพนัง 2 ฝั่งได้ระยะทางกว่า 17 เมตรเหลือระยะทางอีก 33 เมตร จากระยะที่ขาด 50 เมตร
ชี้เจ้าหน้าที่ทำงานกันตลอด24ชม.
ขณะเดียวกัน นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ มอบนโยบายให้นายประสงค์ จันทร์กระจ่าง ป้องกันจังหวัด นำกำลังอาสาสมัคร และจิตอาสา เข้าสนับสนุนภารกิจของเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ในการซ่อมแซม และหากไม่มีเหตุสุดวิสัย โดยเฉพาะฝนที่ตกลงมาเพิ่ม หรือมีมวลน้ำจำนวนมากไหลเข้ามาคาดว่าจะสามารถซ่อมซ่อมพนังแล้วเสร็จในอีก 7 วัน เพราะมีการทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อปิดรอยขาดให้เร็วที่สุด ไม่ให้มวลน้ำขยายวงกว้างออกไปมากกว่านี้
น้ำจากลำชีพนังแตกทะลักเพิ่ม
ขณะที่มวลน้ำจากพนังที่ขาดยังคงไหลเอ่อเข้าท่วมถนนทางหลวงหมายเลข 214 กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด ประมาณ หลัก กม.ที่ 23-28 บ้านหนองบัว ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย ความสูงประมาณ 10-15 เซนติเมตร ซึ่งการจราจร รถยังสัญจรไปได้แต่เป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องใช้ความระมัดระวัง เจ้าหน้าที่แนะนำให้รถเล็กควรเลี่ยงไปใช้เส้นทางบ้านโจด ไปบ้านหนองตุ
ทั้งนี้ นางดวงตา พายุพล ผอ.แขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ ได้นำเจ้าหน้าที่ ร่วมกับฝ่ายปกครอง อ.กมลาไสย ผู้นำชุมชน และกู้ภัย วางกระสอบทรายพร้อมติดป้ายเตือนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้เส้นทางแล้ว
ลำน้ำชีไหลท่วมกระทบใน2อำเภอ
สำหรับภาพรวมผลกระทบจากพนังลำชีขาด พบว่ามีน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.ฆ้องชัย และ อ.กมลาไสย รวม 6 ตำบล 20 หมู่บ้าน 917 หลังคาเรือน ประชาได้รับผลกระทบ 2,853 คน ถนน 7 สาย และพื้นที่การเกษตรกว่า 20,000 ไร่
ติดตั้งสะพานเบลีย์บุรีรัมย์-สุรินทร์
ด้านนายสมัย ปามุทา หมวดบำรุงทางหลวงชนบทพุทไธสง แขวงทางหลวงชนบทบุรีรัมย์ และสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 5 นครราชสีมา ได้ติดตั้งสะพานเบลีย์ ความยาว 18 เมตร บริเวณเชิงลาดสะพาน สาย บร.022 สะพานมิตรภาพเมืองบัว ต.เมืองบัว อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ เชื่อมเขตติดต่อ อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรระหว่างทั้งสองพื้นที่ ให้สามารถสัญจรผ่านไปมาได้เหมือนปกติ หลังจากถูกลำน้ำมูลกัดเซาะคอสะพานดังกล่าว ได้รับความเสียหายจนประชาชนได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ อย่างไรก็ดี สะพานที่ติดตั้งดังกล่าว ห้ามรถบรรทุกน้ำหนักเกิน 12 ตัน ขับผ่านเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ ส่วนการซ่อมแซมระยะยาว คาดว่าเมื่อน้ำลดแล้ว จะมีการสำรวจและดำเนินการต่อไป
สตูลน้ำท่วมกระจายไปแล้ว6อำเภอ
ส่วนที่ จ.สตูล ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์น้ำท่วมซึ่งเป็นวันที่ 4 ว่าแม้ฝนจะหยุดตก แต่กระแสน้ำขุ่นแดงจากเทือกเขาบรรทัด ยังคงไหลเชี่ยวลงสู่ที่ราบ ท่วมบ้านเรือน เรือกสวน ไร่นาของเกษตรกร รวมทั้งถนนหลายสายจนขาดเป็นช่วงๆ ซึ่งผลกระทบกระจายเป็นวงกว้างออกไปครอบคลุมทั้ง 6 อำเภอ ได้แก่ อ.มะนัง อ.ทุ่งหว้า อ.ท่าแพ อ.ควนกาหลง อ.เมืองและอ.ละงู ซึ่งใกล้พื้นที่ปลายน้ำก่อนจะออกสู่ทะเล โดยหลายหน่วยงาน ได้เตรียมสำรวจระดับน้ำและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว
ประมงย้ายเต่าบกหนีพื้นที่น้ำท่วม
ทั้งนี้ผลกระทบน้ำท่วมในครั้งนี้ ยังส่งผลถึงศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดซึ่งเป็นสถานที่เพาะเลี้ยงเต่าหลากหลายสายพันธุ์มากถึง 1,000 ตัว โดยเจ้าหน้าที่ต้องช่วยกันเคลื่อนย้ายเต่าบางสายพันธุ์เพื่อหนีน้ำเนื่องจากเป็นเต่าบกไม่สามารถลอยคอกลางกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวได้ มีจำนวนมากกว่า50ตัว หลังจากกระแสน้ำป่าไหลเข้าท่วมศูนย์วิจัยฯ ทำให้เขื่อนกั้นตลิ่งภายในศูนย์วิจัยฯ พังเสียหาย