ตรัง – ค้นพบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทย “ส้มแก้วสมคิด” ที่สวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง จ.ตรัง เผยเป็นพืชใกล้สูญพันธุ์ โดยผลของมันสามารถกินได้ และมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นไม้ประดับ
ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช และศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จ.สุราษฎร์ธานี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งกลุ่มนักศึกษาปริญญาเอก School of Biological Sciences, University of Reading สหราชอาณาจักร ได้ร่วมกันค้นพบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทย โดยตั้งชื่อว่า “ส้มแก้วสมคิด” เพื่อเป็นเกียรติแก่ รศ.ดร.สมคิด สิริพัฒนดิลก ข้าราชการบำนาญ ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์ผู้สอนด้านวิทยาศาสตร์ป่าไม้ของประเทศไทย ที่มีความตั้งใจ และทุ่มเท จึงเป็นที่เคารพรัก และศรัทธาของลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก
“ส้มแก้วสมคิด” (Garcinia siripatanadilokii) วงศ์ Clusiaceae (Guttiferae) มีลักษณะคล้ายกับมะแปม (Garcinia lanceifolia) เป็นไม้พุ่ม หรือไม้ต้น ไม่ผลัดใบ สูง 2-4 เมตร เส้นรอบวง 7-15 เซนติเมตร ส่วนผลมีลักษณะรูปทรงกลมแป้น กว้าง 2.8-4.5 เซนติเมตร ยาว 2.7-3.8 เซนติเมตร ปลายผลมีลักษณะเป็นแอ่ง เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนจากสีเขียวมาเป็นสีเหลืองสด เกลี้ยง เป็นมัน โดยส้มชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ที่ จ.ตรัง สตูล และ จ.นราธิวาส พบในป่าดิบชื้นระดับต่ำ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 50-200 เมตร ซึ่งจะออกดอกเดือนตุลาคม-กรกฎาคม เป็นผลเดือนธันวาคม-สิงหาคม หรือสามารถออกดอกออกผลได้มากกว่าปีละ 1 ครั้ง ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมาเลเซีย ส่วนสถานภาพการอนุรักษ์ในปัจจุบัน จัดเป็นพืชใกล้สูญพันธุ์ (endangered)
นายประพจน์ สัตถาภรณ์ หัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง กล่าวว่า ประวัติการค้นพบ “ส้มแก้วสมคิด” นั้น เริ่มจากการที่ ดร.อาเธอร์ คาร์ หรือที่คนไทยเรียกว่า “หมอคาร์” ได้พบและเก็บตัวอย่างพรรณไม้ชนิดนี้ครั้งแรก ที่บริเวณคลองทอน จ.สตูล เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2471 ต่อมา มีนักวิชาการอื่นๆ ได้เก็บตัวอย่างพรรณไม้ชนิดนี้มาจากอีกหลายที่ เช่น ที่น้ำตกกะช่อง สวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง จ.ตรัง หรือที่น้ำตกสิรินธร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จ.นราธิวาส และครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 ซึ่งถือเป็นการเก็บตัวอย่างที่มีผลออกมาสมบูรณ์ที่สุด และเมื่อตรวจสอบโดยละเอียดจึงพบว่าเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกที่พบในประเทศไทย โดยผลของมันสามารถกินได้ ส่วนยอดอ่อน ใบ ดอก มีรสเปรี้ยว และมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นไม้ประดับ