ภาพรวมการค้า การลงทุน และท่องเที่ยวในจังหวัดฝั่งอันดามันปัจจุบันเริ่มกลับมาฟื้นตัว 60% หลังโควิดคลี่คลาย และในเดือนพฤศจิกายนนี้ถือเป็นไฮซีซั่นที่น่าจะทำให้เศรษฐกิจใน 6 จังหวัดอันดามันกลับมาคึกคักมากขึ้นไปอีกขั้น เพราะเริ่มมียอดจองโรงแรมยาวไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566
แต่โควิดก็เป็นบทเรียนราคาแพงให้ทุกคนรู้ว่าไม่ควรพึ่งพาการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ Sea Sand Sun เพียงอย่างเดียว และควรบริหารความเสี่ยงด้วยการเพิ่มแมกเน็ตอื่นๆ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่เข้ามาโดยเฉพาะธุรกิจส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Tourism) ที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลก
คุณสลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้า กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน กล่าวว่า การฟื้นตัวของ 6 จังหวัดฝั่งอันดามันหลังวิกฤตโควิดมีไม่เท่ากัน โดยจังหวัดที่ฟื้นตัวเร็วกว่า คือจังหวัดที่พึ่งพาการท่องเที่ยวน้อยกว่าอย่างระนอง ตรัง และสตูล ต่างจากภูเก็ต กระบี่ และพังงา จะใช้เวลานานฟื้นตัวนานกว่า
“ผู้ประกอบการฝั่งอันดามันมีการพูดคุยกันว่า การท่องเที่ยวที่พึ่ง Sea Sand Sun ทำให้เกิดรายได้กระจุกตัว และไม่เพียงพอต่อดีมานด์การท่องเที่ยวในอนาคต ทั้งๆ ที่จังหวัดฝั่งอันดามันมีกลไกหลายตัวที่สามารถดึงขึ้นมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ จึงนำเสนอโครงการ Medical Plaza หาดไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต ไปยังภาครัฐและได้รับความเห็นชอบ ต่อมาปลายปี 2564 เมื่อนายกฯ เดินทางมาประชุมครม. สัญจรที่กระบี่ ผู้ประกอบการกับทีเส็บจึงร่วมกันผลักดันวิสัยทัศน์ให้ภูเก็ตเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ Expo Phuket 2028 บนพื้นที่หาดไม้ขาวที่ภาคเอกชนพยายามนำเสนอไปก่อนหน้านี้ โดยนำไอเดีย Medical Plaza ที่ได้รับการอนุมัติงบ 1,000 ล้านบาท มาพัฒนาต่อยอดเป็น Medical Hub ให้ภูเก็ตเพื่อเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ทั้งยังหนุนให้ไทยมีภาพลักษณ์ก้าวสู่ศูนย์กลางด้านดูแลสุขภาพของโลก ซึ่งต้องใช้งบการจัดงาน Expo Phuket 2028 อีก 4,000 ล้านบาท หากภูเก็ตได้เป็นเจ้าภาพก็จะสร้างเม็ดเงินได้มากกว่า 40,000 ล้านบาท”
คุณสลิล กล่าวว่า Expo Phuket 2028 มีความเป็นไปได้สูงด้วยศักยภาพและธีมที่ทีเส็บวางไว้ และหากภูเก็ตได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจะทำให้จังหวัดในฝั่งอันดามันได้อานิสงส์ไปด้วย ไม่เฉพาะแค่ภูเก็ตเท่านั้น โดยกลุ่มผู้ประกอบการภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้ประชุมหารือให้แต่ละจังหวัดทำโครงการ หรือมองหาโอกาสสอดรับกับโอกาสในครั้งนี้ สร้างความพร้อมต่างๆ รองรับหากภูเก็ตได้เป็นเจ้าภาพ จะได้กระจายรายได้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจไปทั่ว 6 จังหวัด
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประกอบการฝั่งอันดามันยังพยายามหาแมกเน็ตใหม่มาเพิ่มโอกาสการค้าการลงทุน เช่น การผลักดันให้ภาคใต้ฝั่งอันดามันเป็น Andaman Wellness Corridor: AWC เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่เข้ามา เพราะกลุ่มนี้นอกจากเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพแล้ว กลุ่ม Wellness Tourism ยังใช้จ่ายมากกว่า และมีระยะเวลาการเข้าพักที่นานกว่า ทั้งนี้ AWC จะใช้ภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่อง พร้อมมีแผนผลักดันให้เกิดตราสัญลักษณ์รับรองจากหน่วยงานรัฐบาล เพื่อแสดงถึงมาตรฐานการให้บริการสปาและเวลเนสโดยคนไทย นอกจากทำให้เป็นที่ยอมรับในสากล และสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าแล้ว ยังสามารถยกระดับรายได้ให้กับพนักงานบริการด้วย
Gastronomy Tourism เป็นอีกโอกาสธุรกิจที่กลุ่มผู้ประกอบการฝั่งอันดามันกำลังผลักดัน โดยมุ่งสร้างคุณค่าและมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ เช่น ทะเล ประมง และสัตว์น้ำ โดยนำเสนอภาคครัฐภายใต้โครงการ “บ่อปลายักษ์” โดยนำพื้นที่ทะเลอันดามันทั้งหมดมายกระดับพัฒนาวัตถุดิบให้เป็นสินค้ากึ่งกลางน้ำที่มีคุณค่าและราคาที่สูงมากขึ้น แทนการนำไปขายในตลาดสด พร้อมแนวทางอนุรักษ์สัตว์ทะเล
“ตัวอย่างสินค้ากึ่งกลางน้ำที่เราพยายามทำ คือนำกระแสความนิยมบริโภคซาซิมิมาใช้ แทนที่ลูกค้าจะทานปลาแซลมอนซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาเลี้ยง เราก็นำเสนอปลาธรรมชาติจากทะเลอันดามัน เช่น ปลามง ปลาช่อนทะเล ที่ผ่านการถนอมอาหารอย่างดี อยู่ในเกรดที่ทำซาซิมิเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค นอกจากเป็นสัตว์พื้นถิ่นรสชาติอร่อยไม่แพ้แซลมอนแล้ว ยังให้คุณค่าอาหารดีกว่า และไม่มีสารตกค้าง นอกจากนี้ยังเริ่มขยายการทำปศุสัตว์เลี้ยงแพะ เพื่อนำมาเป็นอาหารป้อนในประเทศและเพื่อส่งออกด้วย”
ตามด้วย Sport Tourism โดยผลักดันให้แต่ละจังหวัดฝั่งอันดามันนำกีฬาขึ้นมาชูเป็นจุดเด่น นอกจากการจัดรายการกีฬาอย่างวิ่งมาราธอน วิ่งเทรล และไตรกีฬา ยกตัวอย่างที่ผ่านมาพังงาเริ่มผลักดันจังหวัดให้เป็นเซิร์ฟทาวน์ เป็นต้น
และอีกหนึ่งแมกเน็ตนั่นคือ นำโปรเจ็กต์ Phuket Smart City ที่มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ มาต่อยอดสู่จุดหมายปลายทาง Work Andaman from Anywhere ดึงกลุ่มคนทำงานข้ามชาติเข้ามาทำงานมากขึ้น
คุณสลิล ทิ้งท้ายว่า การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพครั้งนี้เหมือนเป็นหมุดหมายให้ผู้ประกอบการเร่งขับเคลื่อน และเสาะหาโอกาสการค้าการลงทุนใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดฝั่งอันดามันในระยะยาว หากภูเก็ตได้รับการเสนอชื่อให้เป็นเจ้าภาพ จะเป็นการพลิกโฉมการท่องเที่ยวอันดามันที่ก่อนหน้านี้เป็นการท่องเที่ยวเชิงปริมาณให้เป็นเชิงคุณภาพ และทำให้การท่องเที่ยวเกิดความยั่งยืน เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติน้อยลง ที่สำคัญยังกระจายรายได้ไปยังชุมชน
“ผมคิดว่าปีนี้เราผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ปีหน้ากำลังไต่ขึ้นมาโดยมีคนส่งเชือกและอีกหลายอย่างให้เรา ภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐ และหน่วยงานราชการที่เห็นความสำคัญของการท่องเที่ยวในแถบนี้ คาดว่าเราจะไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงยอดเขาจากอีเวนท์ Expo Phuket 2028 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า”