ฟ้องขับไล่ “ชาวเลอื้อ” เหตุนายทุนต้องการที่ดิน “ชาวหลีเป๊ะ” โดนหนักแปลงเดียว 28 คดี “นักกฎหมาย”ชี้รัฐต้องแก้ระดับนโยบาย-วอนกรมที่ดินตรวจสอบระบุพิกัด นักวิชากระตุกการท่องเที่ยวควรมุ่งคุณภาพ
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ที่ชุมชนทับตะวัน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ได้มีการจัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 12 “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กับความยั่งยืนในการพัฒนา” โดยภายในงานได้มีการแสดงวัฒนธรรมชาวเล เวทีเสวนา และซุ้มนิทรรศการต่างๆ โดยมีชาวเลจากจังหวัดต่างๆในทะเลอันดามันและเครือข่ายต่างๆ นักวิชาการ ข้าราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน
ทั้งนี้สถานการณ์ความเดือดร้อนของชาวเลในชุมชนต่างๆยังคงหนักหน่วงโดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังต่างๆมีการฟ้องร้องขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินเดิมของบรรพบุรุษ
นางเรณู ทะเลมอญ ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เปิดเผยว่าคุณตาของตนเป็นลูกของโต๊ะคีรีซึ่งเป็นผู้บุกเกาะหลีเป๊ะ จึงมีที่ดินอยู่เยอะ ซึ่งสมัยก่อนใครไปใครมาก็มาอาศัยอยู่ด้วย แต่คุณตาไม่รู้หนังสือและไม่รู้ว่าใครมาเอาที่ดินไปออกเอกสารสิทธิ ทำให้ปัจจุบันตนถูกฟ้องขับไล่ให้ออกจากที่ดินซึ่งเป็นบ้านเกิด
“ที่ดินที่เราอยู่หลายครอบครัว เป็นพื้นที่เดียวที่มีทางลงทะเล แต่เขาฟ้องร้องขับไล่ เรารู้สึกกังวลใจมาก เพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร หากถูกไล่ที่ก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ทุกวันนี้เราอยู่อย่างไม่มีความสุข เพราะไม่รู้ว่าจะโดนคดีอะไรอีกบ้าง”นางเรณู กล่าว
ครูแสงโสม หาญทะเล กล่าวว่า ตอนนี้ชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะถูกฟ้องแล้ว 28 คดีในที่ดินแปลงเดียว และยังมีแปลงอื่นๆอีกที่ถูกฟ้อง รวมแล้วไม่น้อยกว่า 30 คดี อยากให้มีการสำรวจและตรวจสอบแนวเขตที่ดินให้ชัดเจน เพราะที่ดินบางแปลง ตอนเป็นสค.1 มีอยู่ 50 ไร่ พอเป็น นส.3 เพิ่มเป็น 81 ไร่ แต่ครอบครองจริงกลาย 140 ไร่ ทำให้ชาวบ้าน 150 หลังคาเดือดร้อน
ด้านนางยุพา ชาวน้ำ ชาวเลชุมชนแหลมตงบนเกาะพีพี จ.กระบี่ กล่าวว่า เดิมทีชาวเลอยู่บนเกาะพีพีกระจัดกระจายโดยมีการปลูกข้าวและทำไร่ทำสวน แต่เมื่อการท่องเที่ยวได้รับความนิยม ทำให้เอกชนเข้าแสวงหาที่ดินด้วยวิธีการต่างๆ แม้แต่ที่ดินของโรงเรียนที่พ่อของตนเคยบริจาคไว้ 6 ไร่เมื่อตอนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จมาที่อ่าวต้นไทรและมีพระราชดำริอยากสร้างโรงเรียน แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 4 ไร่ ขณะที่ที่ดินของชาวเลที่อยู่รวมกันในพื้นที่กว่า 2 ไร่ก็เตรียมถูกนำมาขาย ทำให้ชาวเลกว่า 40 ครอบครัวกำลังเดือดร้อน
“เดิมที่พ่อมีที่ดินอยู่ 12 ไร่ แต่เอาไปจำนองในราคา 2 หมื่นบาท เขาพยายามให้พ่อขายให้ และพ่อก็ไม่รู้หนังสือ แต่ไม่ได้ขายให้ สุดท้ายพ่อถูกปั๊มลายนิ่วมือ และเขาบอกว่าที่ดินตกเป็นของเขา ทุกวันนี้ก็ยังฟ้องร้องกันอยู่”นางยุภา กล่าว
นายสนิท แซ่ชั่ว ชาวเลชุมชนราไวย์ จ.ภูเก็ตกล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ทางเดินไปสู่บารายซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิของชาวเล ถูกศาลตัดสินว่าเป็นของนายทุน แต่ชาวบ้านยังคงต้องใช้พื้นที่ริมหาดในการซ่อมแซมและทำอุปกรณ์ประมง ขณะที่พื้นที่หน้าหาดที่เคยเป็นที่ขายอาหารทะเลสดก็ถูกเทศบาลปรับปรุงให้ทำเป็นร้านค้า ทำให้ชาวเลต้องเดือนร้อน นอกจากนี้คลองสาธารณะที่ชุมชนเคยใช้ก็ถูกอ้างกรรมสิทธิทำให้ตอนนี้ต้องฟ้องร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้เข้ามาตรวจสอบ
นายทนงศักดิ์ ทองกุล ทนายความมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า สถานการณ์การฟ้องขับไล่ชาวเลยังคงรุนแรงโดยเปลี่ยนจากที่ชาวเลเป็นผู้บุกเบิกให้กลายเป็นผู้บุกรุก ปัญหาที่สำคัญคือชาวเลไม่รู้หนังสือทำให้ถูกหลอกโดยกลุ่มทุนที่ฟ้องขับไล่ชาวเลทั้งที่เกาะหลีเป๊ะ เกาะพีพี และที่ราไวย์เป็นกลุ่มทุนที่มีความเชื่อมโยงเป็นกลุ่มเดียวกัน โดยที่เกาะพีพีแม้ที่ดินที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำริให้ออกเอกสารสิทธิให้เป็นของชาวเลแต่ก็ถูกนายทุนเบียดขับโดยใช้เทคนิคทางด้านกฏหมาย
“ในส่วนของเกาะหลีเป๊ะที่ชาวบ้านถูกฟ้องร้องเพิ่มเพราะที่ดินมีราคาแพงขึ้น ที่ดินบางแปลงบวมขึ้นเรื่อยๆ บางแปลงพอน้ำทะเลกัดเซาะ เขาก็สามารถขยับหนีขึ้นและรุกเข้าที่ในที่ดินที่ชาวเลอยู่อาศัย เรื่องนี้เป็นเรื่องระดับนโยบาย เพราะอุทยานฯเคยตรวจสอบ แต่กรมที่ดินไม่ยอมรับการตรวจสอบนั้น หากกรมที่ดินเข้ามาสำรวจระบุแนวเขตให้ชัดจะทำให้ข้อเท็จจริงปรากฏ”นายทนงศักดิ์ กล่าว
ดร.นฤมล อรุโณทัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ กล่าวว่า การท่องเที่ยวยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวเลเนื่องจากในอดีตมักจะเน้นเรื่องจำนวนของนักท่องเที่ยวและรายได้ที่เป็นเม็ดเงิน แต่ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ชาวเลได้พิสูจน์ให้เห็นถึงภูมิปัญญาพึ่งพาตัวเองที่มีสายใยอยู่กับทะเล รวมทั้งมีการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนผ่านโครงการข้าวแลกปลา ซึ่งตอนแรกตนเชื่อว่าจะทำให้เกิดการฉุกคิดและทบทวนนโยบายด้านการท่องเที่ยวซึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับที่ 13 ได้ระบุในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ แต่ปัจจุบันที่การท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว ก็ให้ความสำคัญกับจำนวนนักท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของธุรกิจ ปล่อยให้การท่องเที่ยวที่เน้นเงินกลับคืนมา ทำให้เกิดการเบียดขับชาวเล
“การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพคือเน้นส่งเสริมเอกลักษณ์และศักยภาพของชุมชนในพื้นที่ แต่ขณะนี้การท่องเที่ยวกำลังลดทอนศักยภาพของคนเหล่านี้”ดร.นฤมล กล่าว