- Author, ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
- Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ชาวโรฮิงญากว่า 200 ชีวิต ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก เสี่ยงเสียชีวิตหมู่ ใกล้ จ.ภูเก็ตของไทย หลังขาดน้ำ ขาดอาหาร และขาดคนช่วยเหลืออยู่ในทะเลอันดามัน มานานกว่า 7 วัน
วานนี้ (6 ธ.ค.) สมาคมโรฮิงญาแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่คลิปวิดีโอความยาวราว 1 นาที เผยให้เห็นชาวโรฮิงญานับร้อยคนบนเรือลำหนึ่ง ลอยลำอยู่ในน่านน้ำใกล้เขตเศรษฐกิจจำเพาะ ใกล้ จ.ภูเก็ต ทางตะวันตกของไทยในฝั่งอันดามัน
สภาพของพวกเขาอิดโรย ซูบผอม โดยนายซายิด อาลัม ผู้ประสานงานช่วยเหลือชาวโรฮิงญาในประเทศไทย เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า “ตอนตี 1 ที่ผ่านมา เสียชีวิตไปแล้ว 30 คน”
“ตายแล้วก็โยนทิ้งทะเล สถานการณ์แย่ที่สุด อาหารหมด น้ำทะลักเข้าเรือ คนที่อยู่บนเรือก็ไม่มีแรงจากขาดอาหารและน้ำ” ซายิด เล่าถึงสถานการณ์ที่ญาติของชาวโรฮิงญาบนเรือ โทรศัพท์มาเล่าให้เขาฟัง
“ถ้าไม่มีใครช่วยเหลือนะ เรือจะจมภายใน 2 วัน” และนั่นหมายความว่า ชาวโรฮิงญากว่า 200 ชีวิต จะจมน้ำเสียชีวิตอยู่นอกชายฝั่งไทย
บีบีซีไทยติดต่อศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 3 หรือ ศรชล. ภาค 3 ทื่ยืนยันว่า ได้รับทราบการพบเรือโรฮิงญาดังกล่าวแล้ว แต่อยู่ห่างจากชายฝั่งอาณาเขตของไทยกว่า 100 ไมล์ทะเล ทำให้เรือของ ศรชล. ภาค 3 ไม่มีศักยภาพพอจะเข้าไปตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือได้ จึงประสานต่อให้กองทัพเรือ ภาคที่ 3 รับทราบถึงสถานการณ์
บีบีซีไทยจึงติดต่อกองทัพเรือภาคที่ 3 ซึ่งยอมรับว่า ได้รับแจ้งเหตุพบเรือชาวโรฮิงญากลุ่มนี้แล้ว แต่อยู่นอกน่านน้ำอาณาเขตของไทย ตอนนี้ อยู่ในกระบวนการเฝ้าระวัง ยังไม่เข้าไปควบคุมตัว และยังไม่ได้นำอาหารเข้าไปช่วยเหลือ เพราะอยู่นอกน่านน้ำไทย จึงไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบ
ตายดาบหน้า
ผู้ประสานงานโรฮิงญาประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ชาวโรฮิงญาเหล่านี้ เป็นหนึ่งในชาวโรฮิงญาเกือบ 800 คน ที่เดินทางด้วยเรือ 4 ลำ (ลำละราว 200 คน) ออกจากบังกลาเทศ เพื่อหวังไปลี้ภัยในชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้ง มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย
เรือ 2 ลำที่เดินทางถึงมาเลเซียก่อนหน้านี้ ถูกทางการมาเลเซียควบคุมตัวไว้ เรืออีก 1 ลำ ได้สูญหายไปในทะเลเมื่อไม่กี่วันก่อน ส่วนเรือลำที่ 4 ที่ลอยอยู่ใกล้ จ.ภูเก็ต ของไทย เดินทางจากบังกลาเทศมาได้ 20 วัน ตั้งแต่กลางเดือน พ.ย. แล้ว ด้วยจุดหมายที่ไม่แน่ชัด
จากการประสานงานกับคนบนเรือสถานการณ์น่าเป็นห่วงเพราะมากกว่าครึ่งหนึ่งเริ่มเจ็บป่วยจากการขาดน้ำและอาหาร และตลอด 1 สัปดาหห์ที่เรือลอยลำอยู่ มีชาวโรงฮิงญาทยอยเสียชีวิตบนเรือจนถึงช่วงเช้าตรู่วันที่ 7 ธ.ค. แล้ว 30 คน นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยเพิ่มอีก 60 – 70 คน ส่วนใหญ่ขาดน้ำและอาหาร
นายซายิด ระบุว่า อันที่จริง มีเรือที่เชื่อว่าเป็นทหารเรือไทย เดินทางเข้าไปติดต่อกับเรือผู้อพยพชาวโรฮิงญาเหล่านี้เมื่อ 2 วันก่อน พร้อมให้คำมั่นว่าจะช่วยเหลือ แต่จนถึงวันนี้ ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปช่วยเหลือชาวโรฮิงญาเหล่านี้
“น่าจะผลักดัน (ออกจากน่านน้ำไทย) มีเจ้าหน้าที่ไปคุยแล้ว แต่ขาไม่ช่วย… ทำไมโหดร้ายขนาดนี้ ไปเจอเขาแล้ว คุยกับเขาแล้ว” นายซายิด กล่าว พร้อมเสริมว่า ตอนนี้ ชุมชนชาวโรฮิงญาในไทยและทั่วโลก กำลังวิตกถึงชะตากรรมของผู้ลี้ภัยเหล่านี้
“คนรอตายอย่างเดียว ต้องรออำนาจเข้าไปช่วย… ผมว่า วันนี้ไม่มีใครไปช่วยเหลือนะ เรือจะจม”
ไทยพีบีเอสรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์ปฎิบัติการ ศรชล.ภาค 3 ได้รับรายงานจากไต๋เรือว่าพบเรือผู้อพยพลอยลำอยู่กลางทะเล จึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร
บีบีซีไทยถามว่า ทำไมชาวโรฮิงญาเหล่านี้ถึงต้องเสี่ยงตายออกจากศูนย์อพยพที่บังกลาเทศ, นายซายิด อธิบายว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้อพยพชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศ เผชิญความยากลำบากอย่างมาก ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องอยู่แต่ในผืนผ้าใบมาหลายปี ซ้ำร้าย ยังเกิดปัญหายาเสพติดและแก๊งอิทธิพลภายในค่ายอีกด้วย
“อยู่อย่างทรมาน ลำบากสุด ๆ ตายเสียดีกว่า” จึงเป็นเหตุผลที่ชาวโรฮิงญาพยายามข้ามน้ำข้ามทะเล เสี่ยงชีวิตไปลี้ภัยในต่างประเทศ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรก
เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล และกองทัพเรือ เข้าช่วยกลุ่มชาวโรฮิงญา 59 คน ที่อยู่ในสภาพหิวโซ บริเวณเกาะดง ในเขตอุทยานทางทิศตะวันตกของเกาะหลีเป๊ะ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.
กลุ่มชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ กำลังอยู่บนเรือที่จะเข้ามาเลเซีย แต่เรือที่มาพร้อมกันถูกจับ เรือลำดังกล่าวกลัวความผิดจึงนำพวกเขามาลงไว้ที่เกาะโดยหลอกว่าเป็นประเทศมาเลเซีย
“กระบวนการวันนี้เรารู้แล้วว่าเริ่มจากพม่า (เมียนมา) และต้องการไปทำงานที่บังกลาเทศ เมื่อไปทำงานไม่ได้ก็ย้อนกลับมาที่มาเลเซีย” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะรอง ผอ. ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร) ระบุ
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า พบว่าในกลุ่มชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ บางส่วนมีบัตรประจำตัวผู้ลี้ภัยขององค์กรสหประชาชาติ (UNHCR)
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวถึงการสอบสวนเบื้องต้น พบว่าเรือดังกล่าว เดินทางพร้อมกับเรืออีก 2 ลำ รวมเป็น 3 ลำ มีทั้งเรือบังกลาเทศและมาเลเซีย ที่เดินทางมาจากเมียนมา จะไปบังกลาเทศ แต่เข้าบังกลาเทศไม่ได้ จึงหันกลับจะเข้ามาเลเซีย แต่เมื่อเข้ามาเลเซียก็ถูกทางการมาเลเซียจับกุม เรือ 2 ลำแรก มีรวม 199 คนถูกจับกุมไป ส่วนเรือลำที่ 3 เกิดความหวาดกลัวจึงนำชาวโรฮิงญามาทิ้งไว้ที่เกาะดังกล่าวในเขตของประเทศไทย โดยบอกกับลูกเรือโรฮิงญาว่าเป็นประเทศมาเลเซีย
ย้อนเหตุการณ์ระลอกผู้อพยพชาวโรฮิงญาเมื่อปี 2558
เคยมีเหตุการณ์ระลอกผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่ผ่านน่านน้ำไทยครั้งใหญ่เมื่อปี 2558 ก่อนมีการขยายผลจนทางการไทยขุดค้นพบร่างชาวโรฮิงญาจำนวนหลายสิบศพบนเทือกเขาแก้ว จ.สงขลา ซึ่งถูกใช้เป็นค่ายสำหรับพักและกักขังชาวโรฮิงญาจากเมียนมาและบังกลาเทศ ก่อนส่งผ่านไปยังมาเลเซีย เมื่อปีเดียวกัน
การพบศพชาวโรฮิงญานำมาสู่การสอบสวนขยายผลไปสู่ขบวนการค้ามนุษย์ พบการเชื่อมโยงบุคคลทั้งข้าราชการระดับสูง นักการเมืองท้องถิ่น และนายหน้าจากเมียนมา โดยบุคคลสำคัญที่ถูกกล่าวถึงคือ พล.ท. มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก และนายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือ “โกโต้ง” อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สตูล
คดีนี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนและสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติ โดยศาลตัดสินให้มีความผิด 62 ราย จากจำเลยทั้งหมด 103 ราย ในฐานความผิดต่างกัน อาทิ เป็นสมาชิกองค์กรอาชญากรรมต่างชาติ, สมคบและร่วมกันค้ามนุษย์, นำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร, รับและให้ที่พักคนต่างด้าว, ความผิดต่อเสรีภาพ, เรียกค่าไถ่ และทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย โดยให้ลงโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 94 ปี
พล.ท. มนัสถูกตัดสินจำคุก 27 ปี ฐานมีส่วนในองค์กรอาชญกรรมข้ามชาติและความผิดฐานค้ามนุษย์ 3 คดี และยังพบอีกว่าการมีรับโอนเงินจากเครือข่ายค้ามนุษย์ราว 13 ล้านบาท
ต่อมาเมื่อปี 2562 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาเพิ่มโทษจำคุก พล.ท. มนัสจาก 27 ปี เป็น 82 ปี โดยให้ได้รับโทษจริง 50 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกฐานร่วมกันฟอกเงินอีก 20 ปี ที่อัยการแยกฟ้องคดีไว้ โทษจำคุก พล.ท. มนัส รวม 70 ปี
อย่างไรก็ตาม พล.ท. มนัส ได้เสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลันขณะถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม กรุงเทพฯ เมื่อเดือน มิ.ย. 2564
คดีค้ามนุษย์ที่ทำให้หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนขอลี้ภัยในออสเตรเลีย
18 ก.พ. 2565 นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หยิบประเด็นเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ซึ่งมี พล.ต.ต. ปวีณ เป็นอดีตหัวหน้าชุดทำคดี มาอภิปรายระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติ ทำให้ประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์และชะตากรรมของ พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และอดีตหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญากลับมาอยู่ในความสนใจของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง
หลังการอภิปรายของนายรังสิมันต์ พล.ต.ต.ปวีณปรากฏตัวผ่านระบบวิดีโอออนไลน์ ยืนยันว่าสิ่งที่ ส.ส. พรรคก้าวไกลพูด “คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง” และ “รู้สึกได้รับความเป็นธรรมกลับมาครึ่งหนึ่ง”
“วันนี้เป็นวันที่มีความสุขมากที่สุดวันหนึ่ง มันเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่ติดค้างคาอยู่ในใจ ที่สร้างความทุกข์ระทมขมขื่น ทั้งเครียด ทั้งกลัว สะท้อนจิตใจ นับตั้งแต่หลบหนีออกนอกประเทศไทย จนถึงวันนี้ นานถึง 6 ปี 6 เดือน 3 วัน จากการที่ผมปฏิบัติหน้าที่แล้วถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรัฐบาล รวมถึงผู้มีอำนาจ” พล.ต.ต.ปวีณกล่าว