เพื่อสุขภาพชุมชนร.ร. ศูนย์ปฐมพยาบาล – แม้ศูนย์ปฐมพยาบาลจะมีบทบาทสำคัญมากในชุมชน แต่มีหลายแห่งที่ถูกทิ้งร้างว่างเปล่า ในขณะที่บางแห่งแออัด ดูแลผู้ป่วยได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ ไม่มีแม้แต่ยาสามัญประจำบ้านเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น
การสร้างศูนย์พยาบาลที่เหมาะสมกับการใช้งานและเหมาะสมกับชุมชนจึงต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง ดังตัวอย่างกรณีศึกษาความสำเร็จของศูนย์ปฐมพยาบาลชุมชน โรงเรียนกลุ่มนักข่าวหญิง 2 (บ้านบ่อหวี) อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี หนึ่งในรูปธรรมการดำเนินงานสร้างสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีต่อผู้คนในสังคม ตามนโยบายการดำเนินงานตลอด 20 ปี ของมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย ที่ร่วมมือกับมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยในการแสวงหาพื้นที่ที่จำเป็น เหมาะสม และพร้อม เพื่อสร้างศูนย์ปฐมพยาบาลชุมชนแห่งนี้เป็นแห่งแรกเมื่อปี 2562
นายเปลว ปุริสาร ผู้อำนวยการโรงเรียนกลุ่มนักข่าวหญิง 2 (บ้านบ่อหวี) เล่าว่า ก่อนหน้านี้โรงเรียนมีห้องพยาบาลซึ่งมีเพียง 1 เตียง อุปกรณ์การรักษาและยาก็มีไม่มาก ในขณะที่เรามีนักเรียน 302 คน ทั้งชาวไทยและกลุ่มชนกะเหรี่ยงเผ่าโปว์ เมื่อเด็กๆ เกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจึงไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง โรงพยาบาลใหญ่คือโรงพยาบาลสวนผึ้งอยู่ห่างจากชุมชนกว่า 60 กิโลเมตร ผู้ปกครองไม่มีรถพาเด็กๆ ไปหาหมอ และเนื่องจากโรงเรียนตั้งอยู่ในป่าจึงพบปัญหาไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย และโรคชิคุนกุนยาด้วย
“เมื่อปี 2562 มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทยและมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยเข้ามาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว พร้อมมอบศูนย์ปฐมพยาบาลชุมชน (Pfizer First-aid Center) ให้โรงเรียน ระยะเวลา 1 ปีกว่า เห็นได้ชัดเจนว่าสุขภาพอนามัยของเด็กนักเรียนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะช่วยเรื่องการดูแลรักษาได้ทันท่วงที แต่หากเด็กมีอาการหนักโรงเรียนจะรีบติดต่อไปที่ รพ.สต. ให้เข้ามาช่วยดูแล”
น.ส.รุ่งลาวัลย์ ทองลิ่ม พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.บ้านบ่อหวี เล่าว่า ศูนย์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นช่วยแบ่งเบาปริมาณคนไข้ของ รพ.สต.ได้มาก สำหรับคนไข้ที่ไม่ได้มีอาการหนัก ศูนย์ปฐมพยาบาลจะช่วยดูแลได้ก่อน ที่นี่มีเตียงคนไข้ 4 เตียง ยาสามัญประจำบ้าน และเครื่องมือปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาที่โรงพยาบาล
ด้าน ด.ญ.พรทิพา โฉมยง หรือ น้องมายด์ นักเรียนชั้นป.5 เล่าว่า “เมื่อก่อนมักบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ทำให้ต้องมาที่ห้องพยาบาล โดยมีคุณครูทำแผลให้เบื้องต้น แต่จะพบปัญหายารักษาไม่เพียงพอ เตียงนอนพักฟื้นมีไว้สำหรับคนที่มีอาการหนักมาก ทำให้ต้องเดินทางกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านซึ่งไกลจากโรงเรียนมาก และไม่มีคนคอยดูแลที่บ้านเพราะผู้ปกครองออกไปทำงาน ต่างจากปัจจุบันที่มีศูนย์ปฐมพยาบาลขนาดใหญ่ พร้อมยารักษาและอุปกรณ์ที่เพียงพอ ทำให้รักษาตัวที่นี่ได้เลย”
ด.ญ.ลลิตา คำภาวะ หรือ น้องวี่ ชั้นป.5 เล่าว่า “มาใช้ศูนย์ปฐมพยาบาลเวลามีอาการปวดหัว เป็นไข้ เพื่อนๆ ที่มีผู้ปกครองเป็นชาวไทยกะเหรี่ยงก็มักจะมาขอยาสามัญไปให้ครอบครัวเวลาเจ็บป่วย เพราะไม่สามารถไปใช้สิทธิ์การรักษาในโรงพยาบาลได้ นอกจากมีอาการหนักจริงๆ จึงจะยอมไปโรงพยาบาล”
ศูนย์ปฐมพยาบาลแห่งนี้ยังใช้เป็นสถานที่ตรวจสุขภาพของเด็กๆ รวมถึงจัดกิจกรรมให้ความรู้การดูแลสุขภาพอนามัย โดยทาง รพ.สต.จะมาให้ความรู้ที่มุ่งเน้นสร้างพฤติกรรมการป้องกันโรคให้เป็นอุปนิสัย นักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปบอกต่อผู้ปกครอง ในอนาคตจะสร้างบุคลากรให้ความรู้ รวมถึงการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ส่งเสริมด้านสุขภาพอนามัยแก่คนในชุมชนต่อไป
จากความสำเร็จนี้ มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทยและมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยเตรียมนำโมเดลนี้ขยายการจัดสร้างเพิ่มเติมในโรงเรียนที่ห่างไกลอีก 9 แห่งภายในระยะเวลา 3 ปี ในจังหวัดอุทัยธานี ระนอง บุรีรัมย์ เชียงใหม่ (2 โรงเรียน) พังงา เพชรบุรี จันทบุรี และสตูล