คพ.เผยคุณภาพสิ่งแวดล้อมปี 63 กทม.สะอาดที่สุดในประเทศ แต่โควิดทำพลาสติกเพิ่ม นราธิวาส สตูล ภูเก็ต สงขลา ยะลา อากาศดี
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สรุปสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ประจำปี 2563 สถานการณ์คุณภาพน้ำ คุณภาพน้ำเกณฑ์พอใช้ขยับสูงขึ้นเป็นเกณฑ์ดี แม่น้ำตาปีตอนบนอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2554-2563) คุณภาพน้ำของแหล่งน้ำมีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ถึงดี ไม่มีแหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก คุณภาพน้ำทะเลในภาพรวมมีคุณภาพน้ำดีขึ้น แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปีคุณภาพน้ำทะเลส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี ยกเว้นบริเวณอ่าวไทยรูปตัว ก ที่เสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์คุณภาพอากาศ พื้นที่ทั่วไปภาพรวมคุณภาพอากาศดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา จังหวัดที่มีคุณภาพอากาศดีที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ นราธิวาส สตูล ภูเก็ต สงขลา และยะลา ตามลำดับ ซึ่งไม่มีจำนวนวันที่มลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐาน พื้นที่วิกฤต กทม.และปริมณฑล สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ลดลงกว่าปี 2562 หมอกควันภาคเหนือ มีจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 112 วัน ซึ่งเท่ากับปี 2562 จุดความร้อนสะสมลดลง ต.หน้าพระลาน จ.สระบุรี ฝุ่นละออง PM10 มีจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานและปริมาณฝุ่นละออง PM10 เฉลี่ยรายปีลดลง
ขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 27.35 ล้านตัน ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 4 ของเสียอันตรายจากชุมชนเกิดขึ้นประมาณ 658,651 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 1.6 มูลฝอยติดเชื้อเกิดขึ้น 47,962 ตัน ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 10 ขณะที่จังหวัดสะอาด 5 อันดับแรก ปี 2563 ได้แก่ กทม.ภูเก็ต ลำพูน ระยอง และนนทบุรี ตามลำดับ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ปริมาณขยะมูลฝอยลดลงเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และขณะเดียวกันมีมาตรการกำหนดให้ปฏิบัติงาน Work From Home ทำให้ปริมาณพลาสติกใช้ครั้งเดียว (Single use plastic) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีการใช้บริการสั่งซื้อสินค้าและอาหารผ่านระบบออนไลน์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ปี 2563 พบว่ามีปริมาณขยะพลาสติกเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ประมาณ 6,300 ตัน/วัน เพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 15 จากในช่วงสถานการณ์ปกติมีขยะพลาสติกประมาณ 5,500 ตัน/วัน
สถานการณ์คุณภาพน้ำคุณภาพน้ำ 59 แหล่งน้ำและ 6 แหล่งน้ำนิ่ง อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ร้อยละ 2 (เท่ากับปี 2562) เกณฑ์ดี ร้อยละ 37 (เพิ่มขึ้นจาก 2562 ร้อยละ 9) เกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 43 (ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 7) และเกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 18 (เท่ากับปี 2562) แหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี 5 ลำดับแรก ในปี 2563 คือ 1.ตาปีตอนบน (อยู่ในเกณฑ์ดีมาก) 2.กก 3. แควน้อย 4.หนองหาร และ 5.อูน แหล่งน้ำที่คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม 5 ลำดับแรก ในปี 2563 คือ 1.ลำตะคองตอนล่าง 2.เจ้าพระยาตอนล่าง 3. สะแกกรัง 4.ระยองตอนล่าง และ 5.กวง มีแหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์เป็นไปตามประเภทการใช้ประโยชน์ จำนวน 8 แหล่ง จาก 59 แหล่ง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2554-2563) คุณภาพน้ำของแหล่งน้ำมีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ถึงดี ไม่มีแหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก
คุณภาพน้ำทะเล อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ร้อยละ 4 (เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 100) เกณฑ์ดี ร้อยละ 60 (เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 2) เกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 27 (ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 21) เกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 7 (เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 133) และเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก ร้อยละ 2 (เท่ากับปี 2562) คุณภาพน้ำทะเลในภาพรวมมีคุณภาพน้ำดีขึ้น บริเวณที่มีคุณภาพน้ำทะเลดี 5 ลำดับแรก คือ 1.หาดพระราชวังไกลกังวล 2.หาดบ้านปากบารา 3.หาดมหาราช 4.หาดในหาน และ 5.หาดบ้านหน้าทับ บริเวณที่มีคุณภาพน้ำทะเลเสื่อมโทรม 5 ลำดับแรก คือ 1.ปากแม่น้ำเจ้าพระยา 2.หน้าโรงงานฟอกย้อม กม.35 3.ปากคลอง 12 ธันวา 4.ศรีราชา (เกาะลอย) และ 5.หาดสุชาดา แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปี คุณภาพน้ำทะเลส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี ยกเว้นบริเวณอ่าวไทยรูปตัว ก ที่เสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่อง
ส่วนเรื่องร้องเรียนด้านมลพิษ มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 718 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 469 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 524 เรื่อง ร้อยละ 73 ปัญหามลพิษที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด คือ กลิ่นเหม็น ร้อยละ 42 รองลงมาคือ ฝุ่นละออง/เขม่าควัน ร้อยละ 30 และเสียงดัง/เสียงรบกวน ร้อยละ 14 โดยแหล่งที่มาของปัญหาเรื่องร้องเรียนมากที่สุดยังคงเป็นโรงงาน ร้อยละ 47 รองลงมา คือ สถานประกอบการ ร้อยละ 26 สำหรับการประเมินความพึงพอใจผู้ร้องเรียนมีความพึงพอใจต่อการให้บริการคำปรึกษา แนะนำและการรับแจ้งปัญหา ร้อยละ 98 และพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหา ร้อยละ 75