วันที่ 19 พ.ค.2564 เกษตรอำเภอมะนัง โดย นายเฉลิมพร ศรีสวัสดิ์ นำสื่อมวลชนเข้าชมแปลงสละของนางสมพิศ แสงเดช อายุ 56 ปี เกษตรกรปลูกสละตำบลปาล์มพัฒนา อ.มะนัง จ.สตูล ที่กำลังให้ผลผลิตอย่างดีในช่วงนี้ มีลูกรอบต้นสวยงาม สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง หลังตัดสินใจโค่นต้นปาล์มน้ำมันเมื่อ 3 ปีก่อนเพราะราคาตกโลละ 1-2 บาท หันมาปลูกสละพันธุ์สุมาลีบนพื้นที่ 6 ไร่ และกำลังขยายปลูกเพิ่มอีก 4 ไร่
นายเฉลิมพร ศรีสวัสดิ์ เกษตรอำเภอมะนัง กล่าวว่า สวนแห่งนี้มีพื้นที่ปลูก 6 ไร่ เดิมเกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมัน เปลี่ยนมาปลูกสละซึ่งเป็นสละสวนแรกๆของพื้นที่อำเภอมะนัง ในส่วนของสำนักงานเกษตรอำเภอ ก็เข้ามาสนับสนุนในเรื่องการวางแผนการผลิต เรื่องการผลักดัน ให้ได้รับรองมาตรฐาน GAP เพื่อให้ได้ สละที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานรับรอง สำหรับสละถือเป็นผลไม้ยอดฮิต ส่วนหนึ่งเกษตรกรสามารถมีรายได้ตลอดปี ในช่วง ฤดูฝนก็ยังสามารถให้ผลผลิตได้ ถ้าเป็นยางพารา ในส่วนของฤดูฝนเกษตรกรก็ไม่มีรายได้แต่สละสามารถให้รายได้ตลอดปี สามารถเชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยวที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดสตูลโดยเฉพาะในเขตของอำเภอมะนัง มีแหล่งท่องเที่ยวล่องแก่ง ถ้ำภูผาเพชร ซึ่งถ้าการท่องเที่ยวกลับมาเป็นปกติ คาดว่าในเรื่องของตลาดก็น่าจะไม่เป็นปัญหา ในปัจจุบันนี้ ก็ยังจำหน่ายได้ปกติอยู่ แต่ถ้าการท่องเที่ยวกลับมา น่าจะดีขึ้นกว่านี้อีก ในส่วนของแปลงสละนี้เราสามารถปลูกพืชชนิดอื่นแซมได้ ซึ่งเกษตรกรรายนี้ก่อนที่จะมีรายได้จากสละ เจ้าของสวนก็ปลูกกล้วยมีรายได้จากกล้วย กล้วยไข่ กล้วยหอม ในส่วนของปีแรกๆ รวมถึงรายได้จากพริกไทย
นาง สมพิศ แสงเดช อายุ 56 ปี เกษตรกรชาวสวนสละ กล่าวว่า พื้นที่ทั้งหมด 10 ไร่ แต่ที่ปลูกตอนนี้ 6 ไร่ เดิมปลูกปาล์ม ผลผลิตราคาถูก ผลผลิตน้อย เลยหันมาปลูกสละแทน ผลตอบรับได้ดี ขนาดตัดได้เดือนกว่า สำหรับสละที่ปลูกเป็นสละสายพันธุ์สุมาลี ก็มีแม่ค้าโทรมาสั่งจอง ส่งตามบ้าน ซึ่งแม่ค้าจะรับไปขายอีกทอดหนึ่ง ราคาขาย 10 กิโลกรัมขึ้นไปกิโลกรัมละ 50 บาท ถ้าขายปลีกกิโลกรัมละ 60 บาท สำหรับ covid รอบนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบ ลูกค้าซื้อไปแล้วก็ย้อนกลับมาซื้อซ้ำค่ะ
และอนาคตข้างหน้าหากผลผลิตมีจำนวนมากก็คิดว่าจะแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นสละลอยแก้ว ส่วนลูกค้าที่จะสั่งทางไกลก็สามารถสั่งได้ตามเบอร์โทร 081-2752018 มีบริการส่งทั่วไทย
สำหรับสละสายพันธุ์สุมาลีนั้น เกษตรกรจะใช้เวลาปลูกนาน 2-3 ปี ก็สามารถให้ผลผลิตได้ ในส่วนของผลสละเมื่อผ่านการผสมเกสรแล้ว เกษตรกรจะนับวันเมื่อครบ 8 เดือนก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ โดยจะได้สละที่มีรสชาติหวานพอดี หากชอบรสเปรี้ยวก็สามารถตัดก่อนครบ 8 เดือนได้ โดยทางสวนจะเขียนวันที่ติดไว้ที่ช่อผลสละไว้ทุกช่อเพื่อเป็นสัญลักษณ์
…………………………………..