เชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อนำเข้ารายใหม่ 7 ราย เตรียมจัด Shuttle Bus วิ่งรอบเมืองรับปชช.ฉีดวัคซีน 3 จุดใหญ่ 28 มิย.นี้ แพทย์เตือนป้องกันตนเองเข้ม หลังพบผู้ติดเชื้อจากการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 แล้ว
วันที่ 25 มิถุนายน 2564 ที่ศูนย์บัญชาการสถานการณ์การระบาดโรค Covid-19 จังหวัดเชียงใหม่ ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ แถลงสถานการณ์การระบาดของโรค Covid-19 ระลอกเดือนเมษายนจังหวัดเชียงใหม่ประจำวัน ว่าวันนี้จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 7 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเป็น 4,144 ราย รักษาหายแล้ว 4,090 ราย ยังคงมีผู้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทุกประเภท จำนวน 28 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลรัฐ 22 ราย โรงพยาบาลเอกชน 6 ราย โดยในวันนี้ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยังอยู่ที่ 26 รายดังเดิม ขณะที่กลุ่มผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาตัวอยู่นั้น แยกเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย (สีเขียว) 17 ราย อาการปานกลาง (สีเหลือง) 9 ราย อาการค่อนข้างหนัก (สีส้ม) 1 ราย และผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง) 1 ราย
การตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้สัมผัสหรือผู้เสี่ยงสูง เมื่อวานนี้ (24 มิ.ย. 64) ตรวจไป 715 ราย พบเชื้อ 7 ราย คิดเป็น 0.98% โดยปัจจัยเสี่ยงพบว่ายังคงเป็นการนำเข้าจากต่างพื้นที่ และในวันนี้ได้เริ่มพบผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสในครอบครัว ซึ่งเป็นรูปแบบเช่นนี้มาโดยตลอดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงขอย้ำเตือนผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงและผู้ที่ให้พักอาศัย ร่วมสแกน CM-CHANA และกักตนเองอย่างเคร่งครัด โดยการกักตนเองจะต้องแยกห่างหรือไม่สัมผัสกับคนในครอบครัว เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ญาติพี่น้อง ส่วนคลัสเตอร์ติวเตอร์สถาบันกวดวิชา ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
สำหรับรายละเอียดของผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้ง 7 รายวันนี้ CM 4221 เป็นหญิง อายุ 49 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด ทำงานที่บริษัทอีซูซุ จังหวัดสมุทรปราการ วันที่ 17 มิถุนายน เดินทางไปทำธุระที่บ้านเพื่อนในกรุงเทพมหานคร วันที่ 18 มิถุนายน เดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่โดยรถยนต์ส่วนตัวกับเพื่อน 1 คน วันที่ 19 มิถุนายนไปบ้านแม่ที่หมู่บ้านกาญจน์กนก 1 บ่อสร้าง วันที่ 20 มิถุนายน ไปตัดผมที่ร้านปะสะวะตี และนัดซื้อของกับเพื่อน วันที่ 21 มิถุนายน จ้างหมอนวดมานวดที่บ้าน วันที่ 22 มิถุนายน ติดต่อธุระที่สำนักงานคุมประพฤติ ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นวันที่ 23 มิถุนายน ทราบว่าเพื่อนติดเชื้อจึงเข้ารับการตรวจและพบเชื้อ โดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 8 ราย เป็นคนในครอบครัว 2 ราย นั่งรถมาด้วยกัน 1 ราย ในชุมชน 5 ราย อยู่ระหว่างติดตามตัว ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำคือเจ้าหน้าที่สำนักงานคุมประพฤติ ให้เฝ้าสังเกตอาการ
CM 4222 และ CM 4223 เป็นหญิงอายุ 55 ปี และชายอายุ 26 ปี เป็นแม่-ลูกกัน โดยวันที่ 13 มิถุนายนเดินทางไปร่วมงานแต่งงานที่จังหวัดสตูล กับครอบครัว 6 คน และได้เดินทางไปสนามบินหาดใหญ่เพื่อเดินทางกลับมาจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยสายการบิน Vietjet เที่ยวบินที่ VZ104 กทม.-ชม. เวลา 12.30-13.40 น. วันที่ 20-23 มิถุนายน ได้กักตนเองที่บ้านและทราบข่าวการเกิดคลัสเตอร์งานแต่งที่จังหวัดสตูล จึงเข้ารับการตรวจในวันที่ 24 มิถุนายน และพบเชื้อทั้ง 2 ราย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 10 ราย เป็นสัมผัสร่วมบ้าน 6 ราย ไปงานด้วยกัน 4 ราย ได้ติดตามตัวเข้ารับการตรวจและกักตัว ส่วนผู้เดินทางในเที่ยวบินเดียวกันให้เฝ้าสังเกตอาการ
CM 4224 เป็นหญิง อายุ 19 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ เข้ารับการตรวจหาเชื้อก่อนการผ่าตัด ไม่มีอาการป่วย มีประวัติเดินทางไปเที่ยวกับกลุ่มเพื่อนที่หมู่บ้านแม่กำปอง เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ต่อมาวันที่ 16 มิถุนายน เข้ารับการตรวจอาการเจ็บข้อเท้า และเดินทางไปหาพี่ชายที่เจ็ดยอด วันที่ 17-23 มิถุนายน พักอยู่ที่บ้าน แล้วไปหาพี่ชายอีกครั้ง ก่อนจะไปตรวจหาเชื้อเพื่อเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลเอกชน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ผลตรวจพบเชื้อ จากการสอบสวนโรคพบกลุ่มเสี่ยงสูง 18 ราย เป็นผู้สัมผัสร่วมบ้าน 7 ราย และกลุ่มเพื่อนอีก 11 ราย ยังไม่พบผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ
CM 4225 และ CM 4226 เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ป่วยรายเดิมที่เป็นนักบวชศาสนาคริสต์ที่ตรวจพบเชื้อเมื่อวานนี้ โดยเป็นผู้ที่อาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกัน 4 คน ผลเป็นลบ 1 ราย และผลเป็นบวก 2 ราย โดยผู้ที่ผลเป็นลบต้องกักตัวจนครบ 14 วันและตรวจหาเชื้อซ้ำอีกรอบ สำหรับผู้ป่วยรหัส CM 4225 ว่างงานพักอาศัยอยู่ที่บ้านตลอด เข้ารับการตรวจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน เนื่องจากมีเพื่อนร่วมบ้านติดเชื้อ ส่วนผู้ป่วยรหัส CM 4226 เป็นชาวต่างชาติเป็นครูโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง โดยพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน เดินทางไปสอน รับประทานอาหาร ไปโบสถ์ และร้านค้าต่าง ๆ พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 3 ราย เป็นผู้สัมผัสร่วมบ้านผลเป็นบวก 2 ราย และผลเป็นลบ 1 ราย ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในโรงเรียน และโบสถ์อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำที่ร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้าโลตัสหางดง โดยขอให้เฝ้าสังเกตอาการตนเอง
CM 4227 เป็นหญิงอายุ 67 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอไชยปราการ ไม่มีอาการ เป็นผู้สัมผัสกับ CM 4202 มีความเสี่ยงคือวันที่ 1-10 มิถุนายน ได้ทำการเกษตรและรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน ตรวจครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ไม่พบเชื้อ ได้กักตนเองที่บ้านและตรวจพบเชื้อในวันที่เข้ารับการตรวจหาเชื้อก่อนครบการกักตัว มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเป็นคนในครอบครัวจำนวน 2 ราย ส่วนผู้เสี่ยงต่ำที่ทำการเกษตรร่วมกัน 15 ราย ตรวจหาเชื้อทั้ง 2 ครั้งแล้ว ไม่พบเชื้อ
ทั้งนี้ ประชากรกลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีนของจังหวัดเชียงใหม่อยู่ที่ 1,200,000 คน มีผู้ประสงค์ฉีด 826,171 คน คิดเป็น 69% และมีการฉีดวัคซีนให้ชาวเชียงใหม่แล้วจำนวน 170,374 โดส 112,753 คน ซึ่งในวันจันทร์ที่ 28 มิถุนายนนี้ จะมีผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนอีกจำนวนมาก และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ได้ขอความร่วมมือไปยังเทศบาลนครเชียงใหม่และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จัดรถ Shuttle Bus วิ่งรอบเมืองตามจุดต่าง ๆ บริการประชาชนฟรีเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนที่ 3 จุดฉีดใหญ่ คือจุดฉีดศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ และห้างสรรพสินค้าพรอมเมนาดา
ในขณะที่ นพ.กิตติพันธุ์ ฉลอม ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ว่า ขณะนี้มีสายพันธุ์หลักๆ ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดคือสายพันธุ์เดลตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เริ่มต้นมาจากประเทศอินเดีย อย่างไรก็ตามจากข้อมูลพบว่าสายพันธุ์นี้ไม่ได้ทำให้เกิดการเสียชีวิตหรืออัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น แต่มีความสามารถในการแพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์อังกฤษประมาณ 1.4 – 1.6 เท่า ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาแล้วจำนวน 2 ราย เป็นผู้มีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อที่จังหวัดปทุมธานี และในหลายพื้นที่ก็เริ่มพบสายพันธุ์นี้แล้วเช่นเดียวกัน สิ่งที่เป็นกังวลคือประสิทธิภาพของวัคซีน เพราะสายพันธุ์เดลตาที่เกิดการกลายพันธุ์นี้อาจทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงและอาจต้องใช้ภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นกว่าเดิม กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ปรับแผนในการฉีดวัคซีนให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ตามความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่
นอกจากนี้ยังมีสายพันธุ์ที่จะต้องระวังอย่างใกล้ชิดอีก 1 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์เบตา จากประเทศแอฟริกาใต้ ที่เริ่มพบการนำเชื้อเข้ามาในประเทศไทยแล้ว ซึ่งสายพันธุ์นี้ไม่ได้มีผลเรื่องความรุนแรงที่ชัดเจน แต่ที่น่ากังวลคือความสามารถในการแพร่เชื้อ เพราะฉะนั้นจังหวัดเชียงใหม่จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม และมีผู้ได้รับวัคซีนจนครบ 2 เข็ม หรือต้องมีการกระตุ้นเข็มที่ 3 โดยคาดว่าจะครอบคลุมและบรรลุเป้าหมายในช่วงปลายปี จึงต้องขอความร่วมมือประชาชนในการป้องกันตนเอง ทั้งการเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร การสวมหน้ากากอนามัย การงดการรวมกลุ่มหรือทำกิจกรรมเสี่ยง หมั่นล้างมือ และเฝ้าระวังสังเกตอาการ ทั้งนี้หากพบอาการผิดปกติหรือมีประวัติเสี่ยงให้เข้ารับการตรวจได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด