- เรื่องโดย ชัยยศ ยงค์เจริญชัย ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
- วิดีโอโดย วสวัตติ์ ลุขะรัง ผู้สื่อข่าววิดีโอ
โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่เปิดเกาะรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 5,000 คน ในช่วง 2 สองสัปดาห์แรก และยังมียอดจองห้องพักไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ย. 176,993 รูมไนท์
โครงการนี้น่าจะเป็นสิ่งที่คนใน จ.ภูเก็ตรอคอย เพราะนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาหมายถึงรายได้ที่จะสะพัดในเมืองที่มีธุรกิจท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเกาะในครั้งนี้
นอกจากผู้ประกอบการท่องเที่ยว เจ้าของโรงแรมรีสอร์ต ร้านค้า บริษัททัวร์ในแหล่งท่องเที่ยวหลักของภูเก็ตแล้ว ยังมีชุมชนชาวเลที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ไม่น้อยกว่ากันหรืออาจจะหนักกว่าอย่างบ้านแหลมตุ๊กแก ซึ่งเป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์อุรักลาโว้ย ที่แทบไม่มีใครเหลียวแล ไม่ว่าจะช่วงปิดเกาะหรือเปิดเกาะ
ชาวบ้านแหลมตุ๊กแกที่เป็นชาวประมงขาดรายได้จากการขายสัตว์ทะเลและรับจ้างขับเรือขนส่งนักท่องเที่ยว ส่วนกลุ่มแม่ม่ายชาวอุรักลาโว้ยที่ตั้งคณะการแสดงพื้นบ้านก็ขาดรายได้เพราะไม่มีคนจ้างคณะไปแสดงให้นักท่องเที่ยวชมเหมือนช่วงก่อนโควิด
ขณะที่ผู้ประกอบการในเมืองเริ่มมีรายได้เข้ามาบ้างจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แต่สำหรับคณะรำมะนาของกลุ่มสตรีอุรักลาโว้ย พวกเธอยังไม่แน่ใจว่าจะกลับมามีงานทำหรือไม่ หรือจะต้องทนอยู่ในสภาพอดมื้อกินมื้อต่อไป
กำเนิดคณะนักแสดงแม่ม่าย
บ้านแหลมตุ๊กแก เกาะสิเหร่ อ. เมืองภูเก็ต ชุมชนชาวเลที่อยู่กันอย่างแออัดมากกว่า 300 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่มีอาชีพหลักเป็นชาวประมงและขับเรือให้นักท่องเที่ยว
ชุมชนแห่งนี้เป็นหนึ่งในหลาย ๆ พื้นที่ของ จ.ภูเก็ต ที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิเมื่อเดือน ธ.ค. 2547 โชคดีที่ไม่มีใครเสียชีวิต แต่คลื่นยักษ์ได้ทำลายบ้านเรือนไปกว่า 100 หลังคาเรือน ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากไร้ที่อยู่อาศัย
เหตุการณ์นั้นทำให้องค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ เริ่มให้ความสนใจชุมชนแหลมตุ๊กแกมากขึ้น กานดาซึ่งเป็นผู้นำสตรีกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับเชิญไปบอกเล่าประสบการณ์และเข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชนอื่น ๆ ทุกครั้งที่เธอไปจะได้รับชมศิลปะการแสดงจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เธอกลับมาตั้งคณะการแสดงพื้นบ้านของชุมชนแหลมตุ๊กแกบ้าง
ความคิดของกานดาได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกในชุมชนที่พากันเสนอว่าควรนำการแสดงพื้นบ้านอย่าง “รำมะนา” และ “รองเง็ง” ที่ใช้แสดงเมื่อมีเทศกาลสำคัญ ๆ ของหมู่บ้าน เช่น ประเพณีลอยเรือประจำปี และประเพณีเคารพบรรพบุรุษ ไปเผยแพร่ให้คนนอกชุมชนรู้จักอัตลักษณ์ของชาวอุรักลาโว้ยให้มากยิ่งขึ้น
ที่สำคัญศิลปะพื้นบ้านเหล่านี้กำลังสูญหายไปจากชุมชน เด็กรุ่นใหม่ก็แทบจะไม่รู้จักหรือเล่นไม่เป็น คนที่เป็นศิลปินด้านนี้ก็นับวันจะอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ
“อยากให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้จักวัฒนธรรมท้องถิ่นของเรา ให้รู้ว่าเรามีภาษาของตัวเอง มีการแต่งตัวที่เป็นแบบเฉพาะ…เราต้องอนุรักษ์เอกลักษณ์ของหมู่บ้านให้คนอื่นรู้ว่าชนเผ่าอุรักลาโว้ยของภูเก็ตเป็นอย่างไร เราก็มีดีเหมือนกัน” กานดากล่าว
คณะรำมะนาของกานดามีสมาชิก 15 คนอายุตั้งแต่ 50 จนถึง 70 ปี ส่วนใหญ่เป็นม่ายจากการที่สามีเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วยจากการดำน้ำลึกตัวเปล่าเพื่อจับปลา ซึ่งเป็นวิถีของชาวเลที่นี่
สามีของกานดาก็เสียชีวิตไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ทำให้เธอต้องกลายมาเป็นหัวหน้าครอบครัวตั้งแต่นั้นมา เช่นเดียวกับผู้หญิงอีกหลายคนในชุมชนที่ต้องหารายได้ พวกเธอจึงสมัครใจมารวมตัวกันตั้งวงรำมะนาและรองเง็งเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว และยังได้เผยแพร่วัฒนธรรมชนเผ่าไปด้วย
โควิดมา งานหาย รายได้หมด
จากที่เคยทำรายได้มากพอที่จะส่งหลานเรียนและเลี้ยงครอบครัวที่มีสมาชิกถึง 9 คน กานดา ประมงกิต วัย 58 ปี แกนนำสตรีพื้นเมืองชนเผ่าอุรักลาโว้ยบ้านแหลมตุ๊กแก ต้องขาดรายได้ไป 9 เดือนแล้วจากการไร้คนจ้างให้เธอและคณะไปแสดง
ก่อนเกิดโรคระบาด สมาชิกของคณะรำมะนาบ้านแหลมตุ๊กแกมีคนว่าจ้างไปแสดงทั้งในภูเก็ตและจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศสูงสุดถึงเดือนละ 4-5 ครั้ง ทำให้มีรายได้คนละประมาณ 15,000 บาท แต่ช่วงเกือบปีที่ผ่านมา รายได้ของพวกเธอกลายเป็นศูนย์
“ทุกครั้งที่เดินทางไปแสดงก็จะนำผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปและไข่มุกจากกลุ่มแม่บ้านในชุมชนไปขายเป็นรายได้เสริม” กานดาเล่าถึงช่วงที่เธอมีงานมีรายได้
“ตั้งแต่เกิดโควิด ไม่มีงานมามากกว่า 9 เดือนแล้ว ครั้งสุดท้ายที่ได้ไปแสดงก็คือที่เกาะหลีเป๊ะ (จ. สตูล) ก่อนหน้านี้ได้ไปแสดงที่ประเทศฟิลิปปินส์ ได้เงินมา 25,000 บาท หลังจากนั้นก็ว่างงานมาตลอด”
ดิ้นรนช่วงโควิด
“ตอนนี้เปิดเกาะแล้ว แต่คนในชุมชนก็ยังไม่มีงานทำเลย เรือก็ยังไม่ได้ออก พวกอาหารทะเลก็ยังไม่ค่อยมีคนซื้อ ขายได้เฉพาะในชุมชนกันเอง” กานดากล่าว
ตั้งแต่ที่คณะการแสดงรำมะนาและรองเง็งของกานดาต้องขาดรายได้ไป เธอและสมาชิกที่ยังพอมีแรงก็สมัครเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ของเทศบาลตำบลรัษฎา ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 200-500 บาท ซึ่งพวกเธอก็ยังมีข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่ได้ 1,500 บาทเหมือน อสม.ในพื้นที่อื่น ๆ
หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลูกสาว 2 คนรวมทั้งลูกเขยถูกเลิกจ้าง กานดาเองก็ไม่มีใครจ้างไปแสดง
“ทุกวันนี้ต้องไปรับบริจาคอาหาร ข้าวสาร น้ำมัน เพื่อประทังชีวิต เพื่อให้ครอบครัวได้มีข้าวกิน ก่อนหน้านี้เทศบาลสนับสนุนอาหารแห้งให้ อสม. ก็พออยู่ได้ไปเรื่อย ๆ” กานดากล่าว
“นอกจากนี้ก็จะไปจับปลา จับหอย ขายลูกชิ้นทอด หรือเอาของที่มีอยู่ไปแลกกับคนอื่น เพื่อที่พวกเราจะได้ไม่อดตาย”
หญิงวัย 58 ปีบอกว่าบางวันที่ออกไปหาหอยตามชายหาด เธอต้องแบกกระสอบหอยที่หนัก 20-30 กิโลกรัมเพื่อนำไปขาย แม้งานจะหนักแต่เธอก็สู้เพราะต้องใช้เงินหาข้าวปลาอาหารและใช้จ่ายเรื่องการเรียนของหลาน ๆ
กลัวอดตายมากกว่าติดโควิด
“ตอนนี้ภูเก็ตเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามา ก็ไม่รู้ว่าจะดีขึ้นมั้ย หรือจะหนักกว่าเดิม ตอนนี้กลัวอย่างเดียวว่าโควิด-19 จะกลับมาระบาดหนักอีกที่ภูเก็ตอีก” กานดาระบายความกังวล “อยากให้ทุกคนกลับมามีงานทำ จะได้มีเงินใช้จ่ายในครอบครัวและไม่ต้องลำบากกันแบบนี้”
ด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดของชุมชนบ้านแหลมตุ๊กแก คนในชุมชนต่างกลัวว่าจะมีการระบาดในหมู่บ้าน เพราะยังมีคนเข้าออกอยู่ อีกทั้งไม่มั่นใจว่าวัคซีนที่ได้รับครบทั้ง 2 เข็มแล้วจะป้องกันการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ได้หรือไม่
“ตอนนี้พวกเราได้แต่ตัวเองว่าจะอดตายหรือเป็นโควิดตาย รัฐบาลต้องมาดูสภาพบ้านเราบ้าง” กานดาเรียกร้อง
“ทุกคนก็ตกงานเหมือนกันหมด แล้วรัฐบาลไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือครบทุกคน ระบบที่ตั้งมาก็มีปัญหาบ่อย บางทีจะซื้อของเข้าบ้านระบบก็ล่ม ประชาชนก็ลำบาก” เธอพูดถึงมาตรการเยียวยาช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของรัฐบาลที่ต้องใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ
“ส่วนตัวไม่ได้คาดหวังอะไรกับรัฐบาล เราแค่ต้องต่อสู้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสิ้นชีวิต โควิดไม่ได้กลัวเท่าไหร่ แต่กลัวอดตายอย่างเดียว”