เป็นตอนสุดท้ายแล้วสำหรับเรื่องเล่าจากงานเสวนา (ออนไลน์) เรื่อง “ล็อกดาวน์ไม่ล็อกการเรียนรู้” ว่าด้วยความพยายามทลายข้อจำกัดของการเรียนออนไลน์ในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ จาก 2 ตอนก่อนที่ยกตัวอย่างของโรงเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.บุรีรัมย์, จ.ศรีสะเกษ) กับภาคตะวันออก (จ.ระยอง) ส่วนในตอนนี้จะพาลงใต้ไปรับฟังเรื่องราวจาก จ.สตูล
“การเรียนการสอนแบบเดิมก่อนการระบาดของโควิด-19 โรงเรียนสอนวิชาพื้นฐานในตอนเช้า ส่วนช่วงบ่ายเป็นวิชาบูรณาการใช้โครงงานวิจัยเป็นฐานเปิดโอกาสให้ผู้เรียนลงพื้นที่ชุมชน เพื่อศึกษา เก็บข้อมูลและลงมือทำกิจกรรมที่ผู้เรียนแต่ละชั้นสนใจ เมื่อต้องปรับเปลี่ยนมาสอนออนไลน์ ในช่วงแรก ผู้เรียนได้เพียงความรู้แต่ไม่ได้พัฒนาทักษะและเจตคติ ผลตอบรับจากผู้ปกครองมีทั้งความเครียด กังวล จากการขาดแคลนเครื่องมือไม่มีเวลา กำกับควบคุมลูกไม่ได้ และสอนลูกไม่ได้ นอกจากนี้ยังพบว่า นักเรียนใช้เวลาอยู่หน้าจอนานเกินไปและมีการบ้านเยอะจนไม่สามารถรับผิดชอบตัวเองได้”
ยงยุทธ ยืนยง ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูลเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่มาเยือน ซึ่งเป็นที่มาของการพัฒนาระบบ “นาฬิกาชีวิต” ตารางกิจวัตรประจำวันของนักเรียนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยฝึก “ทักษะการจัดการตนเอง (Self-Regulation)” ในช่วงเรียนรู้จากที่บ้าน โดยกระบวนการเรียนรู้นี้ให้บทบาทผู้เรียนวิเคราะห์กิจวัตรประจำวันของตนเอง ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน และวิเคราะห์กิจวัตรประจำวันของผู้ปกครอง เพื่อให้เข้าใจด้วยตัวเองว่าในแต่ละช่วงเวลาของวัน ผู้ปกครองทำอะไรและตนเองทำอะไรบ้าง
ขณะที่ นัฐญา ไหมฉิม ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อธิบายประโยชน์ของระบบนี้ว่า “ครูได้เรียนรู้และทำความรู้จักนักเรียนผ่านนาฬิกาชีวิตของแต่ละคน แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาช่วยออกแบบโครงงานฐานวิจัยร่วมกับนักเรียนและผู้ปกครอง” จากเดิมในสถานการณ์ปกติจัดการเรียนรู้แบบโครงงานฐานวิจัย 1 โจทย์ วิจัยต่อ 1 ห้องเรียน ปัจจุบันการตั้งโจทย์ขึ้นอยู่กับนาฬิกาชีวิตและบริบทแวดล้อม นักเรียนสามารถเรียนคนเดียว เรียนกับพี่น้อง เรียนกับเพื่อนข้างบ้าน หรือเรียนกับเพื่อนต่างโรงเรียนได้ ทำให้เกิดโจทย์โครงงานฐานวิจัยหลากหลาย
เช่น การเลี้ยงปลากัด การปลูกผักปลอดสารพิษ การฝังเข็ม การเลี้ยงวัวบ้าน กาแฟโบราณสตูล ขนมโบราณสูตรคุณยาย และการปลูกต้นไม้ เป็นต้น “โจทย์เป็นแค่สื่อการเรียนการสอน ส่วนเป้าหมายที่ต้องการ คือ การสร้างความรู้ ทักษะ และวิธีคิดของนักเรียน” โดยโรงเรียนจัดประชุมผู้ปกครองสร้างความเข้าใจให้เดินไปด้วยกัน ชวนคิด ชวนทำ ปรับบทบาทของผู้ปกครองเป็นการทลายกำแพงห้องเรียน
“ยกตัวอย่างโจทย์ปลากัด เป็นโจทย์บนฐานครอบครัวที่นักเรียนได้ร่วมปฏิบัติซึ่งมี 6 ครอบครัวมาเรียนด้วยกัน เด็กดึงผู้ปกครอง เพื่อนที่เลี้ยงปลากัด น้องที่เรียนโรงเรียนเดียวกัน และเพื่อนต่างโรงเรียนเข้ามาเรียนรู้ ช่วยกันคิดว่าประเด็นไหนเกี่ยวกับปลากัดที่รู้แล้ว ประเด็นที่ยังไม่รู้ และเรื่องที่อยากพัฒนา จนได้โจทย์ออกมาว่าจะผสมพันธุ์ปลากัดอย่างไรให้มีสีสวยงาม ขายได้ราคาดี และเป็นที่ต้องการของตลาด” ครูนัฐญา กล่าว
เสียงสะท้อนจากผู้ปกครอง พัชรี ทองชู แม่ของนักเรียนชั้น ป.6 กล่าวเสริมว่า “แม้จะยุ่งกับการขายข้าวแกงทุกวัน แต่ยินดีช่วยการเรียนรู้ของลูก” ให้ความรู้เท่าที่ตนเองจะมี หรือแนะนำให้ลูกไปถามผู้รู้ “การทำเพื่อลูกไม่รู้สึกเป็นภาระ แต่ดีใจด้วยซ้ำเพราะแม้ลูกจะเรียนอยู่บ้านก็ยังเห็นลูกตั้งใจหาความรู้” เห็นลูกมุ่งมั่นไปหาปลากัดกับเพื่อนๆ มาเลี้ยงมาดูแล มาผสมพันธุ์ เฝ้าดูการเติบโต รู้วิธีการเลี้ยง การผสมพันธุ์ รู้ว่าปลากัดแบบไหนที่จะขายได้ราคาดี ถึงขั้นคิดจะทำเป็นอาชีพด้วย จึงรู้สึกภูมิใจที่ลูกมีความรับผิดชอบมากขึ้น และมีความรู้ติดตัวไปใช้ได้จริง
จากเด็กเล็กสู่เด็กโต เสรี มากแสง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเขาจีน มองเห็นปัญหานักเรียนมีใบงานจำนวนมาก กล่าวคือ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ก็จะมีถึง 8 ใบงาน “นักเรียนก็เครียด ผู้ปกครองก็ช่วยสอนไม่ไหว ครูก็กังวลว่าเด็กจะทำงานได้ไม่ตามเป้าที่วางไว้” จึงคิดหาวิธีบูรณาการใบงานระหว่างกลุ่มสาระวิชาเข้าด้วยกันเพื่อไม่ให้เป็นภาระของทั้งนักเรียน ผู้ปกครองและครูมากเกินไป โดยคณะครูได้ใช้กลไก “PLC (Professional Learning Community)” หรือ “ชุมชนการเรียนรู้” ระดมความคิดและวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอนออนไลน์
อาอีฉ๊ะ เปรมใจ ครูประจำชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ยกตัวอย่างใบงานบูรณาการ ที่หยิบสถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดสตูลตลอด 1 สัปดาห์มาเป็นโจทย์การเรียนรู้ เชื่อมโยงกับสาระวิชาคณิตศาสตร์ การงาน ภาษาอังกฤษและสังคมคำถามแต่ละข้อสัมพันธ์กับสาระวิชาต่างกัน นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ร่วมสนทนากับผู้ปกครอง เรื่องผลกระทบหรือโอกาสที่ครอบครัวได้รับจากวิกฤตที่เกิดขึ้น
“ใบงานที่ออกแบบทำให้เด็กรู้สถานการณ์รอบตัวรู้ว่าแต่ละวันผู้ปกครองทำอะไร แบบไหน แล้วได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างไร เมื่อได้รับข้อมูลเพิ่มขึ้นเด็กตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของตัวเอง เป้าหมายแฝงของใบงานต้องการให้เด็กสื่อสารความคิด ทัศนคติของตัวเองต่อเรื่องนั้น และเมื่อได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากการค้นคว้า จากการสอบถามผูปกครองหรือจากการลงมือช่วยงานผู้ปกครอง เด็กมีความคิดทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และปรับตัวอย่างไร” ครูอาอีฉ๊ะ ระบุ
ด้าน “น้องออน” นักเรียนชั้น ม.3 ลูกสาวของแม่ค้าขนมจีนที่มีพี่น้อง 6 คน สะท้อนว่า กรณีใบงาน “โควิด-19” ทำให้ได้เรียนรู้ว่า “เรา ไม่ควรรังเกียจ หรืออคติ เพราะเมื่อเขารักษาจนหายก็อยู่ร่วมกันได้ในชุมชน เราแค่ระมัดระวัง ใส่หน้ากากป้องกันเป็นปกติ” ส่วนใบงาน “โจทย์ชีวิต” ทำให้ได้ช่วยงานแม่และเข้าใจแม่มากขึ้น “ได้รู้ว่าในแต่ละวันแม่ต้องทำอะไรบ้าง เหนื่อยแค่ไหน จากเดิมที่คิดว่าเป็นเด็กมีหน้าที่เรียนหนังสือ ตอนนี้เข้าใจแม่มากขึ้น” ไม่ขออะไรที่ไม่จำเป็น รู้สึกตัวเองมีความรับผิดชอบมากขึ้น ถึงกระนั้นก็ยังอยากไปเรียนที่โรงเรียนมากกว่าเรียนออนไลน์
บทสรุปของเรื่องราวทั้งหมดนี้ สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ให้ข้อคิดว่า การศึกษาควรพัฒนาผู้เรียนให้มีเครื่องมือเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อปรับใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ใช้ดำรงชีวิตและทำงานได้ หลักสูตรสมรรถนะเน้นสิ่งที่ผู้เรียนควรเรียนรู้ ให้ทำเป็น มีพฤติกรรมทางอารมณ์เหมาะสม มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
ทำให้การเรียนรู้มีความหมาย..และมีคุณค่าบนความเป็นจริง!!!