และเมื่อวิกฤติโควิดกระทบเศรษฐกิจ จนทำให้ประชาชนมีรายได้ลดลง แต่ยังคงสูบบุหรี่เป็นปกติ ก็ต้องขวนขวายหาซื้อบุหรี่ที่มีราคาถูก ดังนั้นบุหรี่เถื่อน จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของสิงห์อมควัน ที่ปัจจุบันจำนวนผู้บริโภคที่สูบบุหรี่มีอยู่ราว 10-11 ล้านคน
ส่วนพื้นที่มีการนำเข้าบุหรี่เถื่อนส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนี้ ภาคใต้ ได้แก่ จ.สงขลา สตูล พัทลุง ปัตตานี ชุมพร สุราษฎร์ธานี พังงา, ภาคตะวันออก ได้แก่ จ.สระแก้ว จ.จันทบุรี และภาคกลาง ได้แก่ จ.นครปฐม และกรุงเทพมหานคร
ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2564 ได้มีการจับกุมกวาดล้างและจับกุมบุหรี่เถื่อนต่างประเทศหนีภาษี 3 ยี่ห้อ ได้ 64 ลัง รวม 32,000 ซอง มูลค่าเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต 2560 ถึง 60 ล้านบาท และเป็นลอตใหญ่ที่จับกุมได้ในรอบปี ขณะลำเลียงเข้ามาทางทะเลริมชายฝั่งทะเล พื้นที่ ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา แต่ไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดที่กำลังขนบุหรี่ได้ เพราะอาศัยความชำนาญพื้นที่หลบหนีไปได้
ทั้งนี้จากสถิติการจับกุมและดำเนินคดีการลักลอบนำเข้าบุหรี่หนีภาษีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 -16 ก.ย.2564 ได้ดำเนินการจับกุมดำเนินคดีแล้ว 6,729 คดี ค่าปรับ 259.48 ล้านบาท จากทั้งหมดของการจับกุมการนำเข้าสินค้าหนีภาษีรวม 24,362 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 546.07 ล้านบาท ส่วนสินค้าที่มีการลักลอบนำเข้ามากสุด คือ สุรา บุหรี่ ไพ่ น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน น้ำหอม รถจักรยานยนต์ ตามลำดับ
เมื่อความต้องการบริโภคบุหรี่เถื่อนเพิ่มขึ้น ปริมาณการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนก็ย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงเป็นที่มาของสมาคมการค้ายาสูบไทย ออกมาโวย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากได้รับผลกระทบจากบุหรี่เถื่อนแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ เพราะจำหน่ายสินค้าไม่ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ที่มีการลักลอบนำเข้าบุหรี่อย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย มีการลำเลียงนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งทางบกและทางทะเลอย่างต่อเนื่อง เช่น สตูล-หาดใหญ่ เป็นพื้นที่หลักของลักลอบนำเข้า
นอกจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิดแล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญที่ทำให้การลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนพุ่งทะลัก! เป็นผลสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 ที่มีการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ กำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าบุหรี่ต้องเสียภาษี ทั้งคำนวณจากปริมาณและมูลค่ารวมกัน เริ่มจากเก็บต่อมวนละ 1.20 บาท และจัดเก็บกรณีบุหรี่ราคาไม่เกิน 60 บาทต่อซอง จะจัดเก็บภาษี 20% แต่ถ้าราคาบุหรี่เกินราคา 60 บาทขึ้นไป จัดเก็บภาษี 40% และนอกจากภาษีสรรพสามิตแล้ว ยังมีภาษีเพื่อมหาดไทยและนำเงินส่งกองทุนผู้สูงอายุอีกราว 12% ของภาษีสรรพสามิต
และผลจากการปรับโครงสร้างภาษีครั้งนั้น ทำให้ราคาบุหรี่ขายปลีกในประเทศปรับเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เช่น บุหรี่ที่เคยขายกันซองละ 40 บาท ก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 60 บาท และเคยขายที่ราคา 120 บาท ปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 200 บาทต่อซอง ขณะที่ผู้บริโภคหรือสิงห์อมควัน จำนวนการสูบแม้จะลดลง แต่ไม่มาก ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จากบุหรี่ถูกกฎหมาย หันไปหาสินค้าทดแทน เช่น บุหรี่ไฟฟ้า, ยาเส้น และบุหรี่เถื่อน จึงเป็นที่มาของบุหรี่เกลื่อนเมืองในขณะนี้
อีกทั้งยังส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้จากภาษีบุหรี่ด้วย ที่จัดเก็บลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ 2563 จัดเก็บได้ 62,905 ล้านบาท, ปี 2562 จัดเก็บได้ 67,410 ล้านบาท และปี 2561 จัดเก็บได้ 68,548 ล้านบาท รวมถึงสถานะของการยาสูบแห่งประเทศไทย ก็มีรายได้ลดลงเรื่อยๆเช่นกัน ขณะที่จำนวนของผู้บริโภค หรือสิงห์อมควันคงที่ระดับ 10-11 ล้านคน
หลากหลายประเด็นปัญหาจากการบังคับใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่ เมื่อปี 2560 หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จึงได้เสนอให้ทบทวนปรับโครงสร้างภาษีใหม่ ซึ่งรัฐบาลก็ตกลงที่จะทบทวน และจะประกาศโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ เพื่อให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค.นี้
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เมื่อมีการถามถึงการทบทวนการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ กรมสรรพสามิตจะย้ำเสมอว่า จะต้องตอบโจทย์ 4 ข้อนี้ให้ได้ ถ้ายังตอบไม่ได้ ก็ต้องใช้แบบเดิมไปพลางก่อน ส่วนโจทย์ 4 ข้อคือ 1.การดูแลเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ 2.สุขภาพของประชาชน 3.ปราบปรามบุหรี่เถื่อน และ 4.การจัดเก็บรายได้ จะไม่มีข้อใดมากหรือน้อยกว่า แต่จะพยายามทำให้เหมาะสมและสมดุลมากที่สุด
แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า กรมสรรพสามิตจะใช้โครงสร้างภาษีแบบเดิม หรือจะเลือกแบบใหม่ที่กำหนดให้เป็นอัตราเดียวกันทั้งหมด รวมถึงมีการจัดเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าด้วย
ดังนั้น ต้องรอลุ้น!! การตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ให้มีความเหมาะสมกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยได้อย่างไร!!
ดวงพร อุดมทิพย์