“บริษัทสยามมิชลิน” ซื้อยางตรงกับสถาบันเกษตรกรยางพารา จ.สงขลา สตูล รับซื้อราคาสูงกว่าท้องตลาด ประเดิมแห่งแรกในประเทศไทย เริ่มแรกน้ำยางสด ถัดไปยางรมควัน เป็นยาง GMP เป้าหมาย 800,000 กก./วัน ระบุ ยางร่วง เพราะต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น ต้องส่งออกยางไปต่างประเทศทางเครื่องบินต้นทุนเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัว
นายสมพงศ์ ราชสุวรรณ ประธานเครือข่ายเกษตรกรการยางแห่งประเทศไทยสาขานาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางบริษัท สยามมิชลีน จำกัด บริษัทผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อยานพาหนะอันดับต้นของโลกได้เข้ามาซื้อน้ำยางสดจากกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านนาปรังพัฒนา อ.นาทวี จ.สงขลา โดยเริ่มแรกประมาณ 30,000 กก./วัน ซึ่งมี 19 กลุ่มน้ำยางสด และมีปริมาณน้ำยางสดประมาณ 40,000-50,000 กก./วัน
เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา (กนอ.) แต่จะต้องเป็นน้ำยางสดที่ได้มาตรฐานตามกำหนดของบริษัท คือเป็นยาง GMP โดยจะรับซื้อตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป
นายสมพงศ์กล่าวอีกว่า ชาวสวนยางพาราในเครือข่ายมีความพร้อมในการผลิตน้ำยางสด GMP เพราะได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว และถือเป็นความสำเร็จของชาวสวนยางพาราที่มีความยั่งยืนทั้งทางด้านราคาและการตลาด
โดยทางบริษัท สยามิชลีน จำกัด จะรับซื้อราคาที่สูงกว่าท้องตลาดและสูงกว่าราคาประกาศของตลาดกลางการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)
นายสมพงศ์กล่าวต่อไปว่า ความสำเร็จระหว่างชาวสวนยางพารากับบริษัท สยามมิชลีน จำกัด ครั้งเป็นผลจากการประสานของนายธาดา พรมหมี หัวหน้าตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ได้มีความพยายามผลักดันประสานงานมาอย่างต่อเนื่องในการสนับสนุนชาวสวนยางพารา และประสบความสำเร็จในที่สุด
ในขณะเดียวกันแห่งที่ 2 ที่บริษัท สยามมิชลีน จำกัด จะเข้าไปรับซื้อน้ำยางสด GMP คือสหกรณ์ชาวสวนยาง กยท. เฉลิมพระเกียรติจังหวัดสตูล จำกัด จ.สตูล โดยจะรับซื้อน้ำยางสดปริมาณที่ใกล้เคียงกันกับของ จ.สงขลา
“ถือว่าเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ที่บริษัท สยามมิชลีน จำกัด รับซื้อน้ำยางสด GMP จากชาวสวนยางพารา และบริษัท สยามมิชลีน ยังมีเป้าหมายรับซื้อน้ำยางสด GMP ประมาณ 800,000 กก./วัน”
นายสมพงศ์กล่าวต่อไปว่า ระยะแรกจะรับซื้อน้ำยางสด GMP แต่ระยะถัดไป จะรับซื้อยางรมควัน GMP จากชาวสวนยางพาราต่อไป ซึ่งมีกลุ่มยางรมควัน ประมาณ 5 โรงรม จ.สงขลา ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ
“ทั้งนี้ในการดำเนินการทางบริษัท สยามมิชลีน ก่อนที่จะรับซื้อน้ำยางสด ได้เข้ามาตรวจสอบการสวนยางพารา การกรีดยางพารา การผลิตยางพารา การใส่ปุ๋ยยางพารา ฯลฯ”
นายสมพงศ์กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ยางพาราประสบปัญหาเรื่องการขนส่งในการส่งออกไปต่างประเทศมาก เนื่องจากขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และต้องมีการลำเลียงขนส่งทางเครื่องบิน ซึ่งมีต้นทุนสูงขึ้นถึง 10 เท่าตัว ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของบริษัทผู้ส่งออกยางพารา เพิ่มสูงขึ้นและในที่สุด ตกเป็นภาระให้กับชาวสวนยางพารา ที่ราคาไม่สามารถขยับขึ้นเพราะถูกหักค้าต้นทุนในค่าขนส่งทางเครื่องบิน
“วันนี้ (24 ก.ย. 64) ราคาน้ำยางสดประมาณ 40-42 บาท/กก. และราคาหน้าโรงงาน 44.50 บาท/กก.” นายสมพงศ์กล่าว
แหล่งข่าวจากผู้บริหารสถาบันกลุ่มเกษตรกรทำสวนยางและแปรรูปยางพารา เปิดเผยว่า ยางพารากำลังขาดแคลนอย่างมากและต่อเนื่องมาโดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ 4 อำเภอ อ.นาทวี จะนะ เทพา และ อ.สะบ้ายย้อย จ.สงขลา
จากปัจจัย 1.ยางพาราเกิดโรคใบร่วงระบาดมาแล้ว 2 ปี เมื่อเกิดใบร่วงปริมาณน้ำยางสดก็หดตัวไปเป็นจำนวนมากและบางพื้นที่เกิดโรคระบาดใบร่วงซ้ำ ส่งผลให้ต้นยางพาราตายทำให้พื้นที่ที่มีแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ จึงมีการโค่นยางพาราปลูกผลไม้ทดแทน เช่น ทุเรียน เป็นต้น
2.สวนยางพารามีพื้นที่ว่างมาก จากการขาดแคลนแรงงานกรีดยางพารา โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว ที่ส่งผลจากสถานการณ์โควิด-19
“โดยภาพรวมแล้ว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ปัตตานี ยะลา จ.นราธิวาส ปริมาณน้ำยางสดหดหายไปประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และสวนยางพาราทั่วภาคใต้ น้ำยางสดจะหดหายไปที่ใกล้เคียงกัน”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า จากน้ำยางสดที่หดหายไปประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้นขาดแคลนน้ำยางสด เพื่อนำมาแปรรูปเป็นน้ำยางข้น
เมื่อเปิดแล้วก็ไม่คุ้มทุนโดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลาโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้นต้องปิดตัวเองไปแล้วจำนวน 2 โรง
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า ปัญหายางพารามีหลายปัจจัยในขณะนี้ที่ส่งผลให้ยางพาราขาดหายไปจากตลาดมาก แต่ทางด้านราคาไม่ได้ขยับสูงขึ้นมาก ในขณะที่ตลาดโลกยางพาราก็ยังมีความต้องการ