16 พ.ย. 2564 | 19:53:45
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวระหว่างการลงพื้นที่ปฏิบัติราชการของคณะรัฐมนตรี ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน วันนี้ (16 พ.ย.64) ว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มอบนโยบายให้กระทรวงฯ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เพื่อความมั่นคงปลอดภัย ทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ ขับเคลื่อนการทำงานคุ้มครองและดูแลประชาชน ให้ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องจากการใช้งานอินเทอร์เน็ต ตลอดจนบูรณาการทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของทุกกระทรวง บังคับใช้กฎหมายจริงจังในการหยุดยั้งข่าวปลอม
สำหรับผลการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ในการมอนิเตอร์สถานการณ์ข่าวปลอมเกี่ยวกับพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (1 ม.ค.- 28 ต.ค.64) พบว่ามี 2 กลุ่มข่าว ได้แก่ หมวดผลิตภัณฑ์ สุขภาพ และหมวดนโยบายรัฐ/ความมั่นคง โดยหลักๆ จะเป็นข่าวปลอมที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นโควิด-19 รวมถึงภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์
ขณะที่ ภาพรวมข่าวปลอมภาคใต้ (กระบี่/ตรัง/พังงา/ภูเก็ต/ระนอง/สตูล) ในช่วงดังกล่าว พบการแชร์ข่าวปลอมซ้ำมากที่สุด จำนวน 5 ข่าว ดังต่อไปนี้ 1.บขส. แจ้งหยุดเดินรถทุกเส้นทางทั่วประเทศ 2.รายชื่อ 10 จังหวัด ล็อกดาวน์ ห้ามเดินทางเข้า-ออก 3.ศบค. ประกาศเคอร์ฟิว เวลา 23.00น. – 04.00 น. พื้นที่สีแดง 18 จังหวัด 4.จ.ภูเก็ต พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย และ 5.พบนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าภูเก็ต 6 ประเทศ มีผลติดเชื้อโควิด-19 ทุกราย
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงฯ และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มีกลไกในการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเฝ้าระวังดูแล กลั่นกรอง ตรวจสอบ รวมถึงใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการปัญหาข่าวปลอม อีกทั้งเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริง ผ่านช่องทางออนไลน์/โซเชียลทางการของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดตามรวมกันเกือบ 12 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ต.ค. 64)
ได้แก่ เว็บไซต์ : https://www.antifakenewscenter.com มียอดผู้เข้าชมจำนวน 9,140,811 คน 2.เฟซบุ๊ก Anti-Fake News Center มียอดผู้ติดตาม 89,036 คน 3.ทวิตเตอร์ @AfncThailand มียอดผู้ติดตาม 12,326 ผู้ติดตาม 4.บัญชีไลน์ทางการ @antifakenewscenter มียอดผู้ติดตาม 2,415,524 คน อีกทั้งมีช่องทางรับแจ้งเบาะแสข่าวปลอมผ่านสายด่วน GCC1111 ต่อ 87
“แนวทางทำงานเชิงรุกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาข่าวปลอมได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวนั้น ควรมีการเร่งรัดสร้างการรับรู้ เพื่อรู้เท่าทันและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมเชิงรุก ให้ครบทุกจังหวัด จัดทำหลักสูตรอบรมออนไลน์ เน้นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม เช่น สำนักข่าว สื่อมวลชน กลุ่มสมาคมวิทยุสมัครเล่น เครือข่าย อสม. เครือข่าย อสด. เครือข่ายอื่น ๆ และประชาชนทั่วไป เพื่อร่วมกันแก้ไขขจัดปัญหาข่าวปลอมให้ลดลงไป และดึงประชาชนมามีส่วนร่วมสนับสนุนข่าวสารทางราชการ รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องทันกับสถานการณ์ กระจายออกให้เร็วและมากที่สุด” นายชัยวุฒิกล่าว
นอกจากนี้ ขยายการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ในการตรวจสอบข่าวท้องถิ่นกับสื่อมวลชน ให้มีการร่วมกันตรวจสอบปลอม ตรวจสอบการเผยแพร่ของสื่อมวลชนด้วยกันเอง ตลอดจนสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับรู้เท่าทันข่าวปลอมในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ร่วมกับนักเรียน นักศึกษา เพื่อปลูกฝังการรับมือและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม
ทั้งนี้ ในส่วนของเครือข่าย อสด. ซึ่งมองว่าจะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจสร้างการรับรู้ข่าวปลอมในระดับพื้นที่/ชุมชน รวมทั้งเป็นช่องทางร่วมสนับสนุนข่าวสารราชการ และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้กระจายในวงกว้างอย่างรวดเร็วนั้น กระทรวงฯ ได้สนับสนุนความต่อเนื่องของโครงการการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) ที่ขยายลงมาถึงการพัฒนาอาสาฯ ในระดับหมู่บ้าน ดึงคนรุ่นใหม่ในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม
ทั้งนี้ เป็นการต่อยอดจากวัตถุประสงค์เริ่มต้นในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่มีจิตอาสา มีความสนใจด้านดิจิทัล ให้ทำหน้าที่ดูแลและให้คำแนะนำการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ถูกต้อง ส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในพื้นที่ ผ่านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล “เน็ตประชารัฐ” ที่รัฐบาลจัดสร้างให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เนื่องจากมองว่าเป็นโครงการที่มีส่วนช่วยสร้างบุคลากร ที่เป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ ลดความตื่นตระหนกจากข่าวปลอม และลดการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ รวมทั้งเสริมสร้างทักษะความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ตั้งเป้าหมายว่าควรมีการพัฒนา อสด. ประจำหมู่บ้าน ให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ
Share this: