วันที่ 11 ธ.ค. เมื่อเวลา 17.30 น. ที่บริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” โดย นายรุ่งเรือง ระหมันยะ, นายสมบูรณ์ คำแหง แกนนำนักปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จ.สตูล, และน.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนนักเคลื่อนไหวเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น หรือลูกสาวแห่งทะเลจะนะ ยังคงปักหลักอยู่กับกลุ่มมวลชนที่บริเวณดังกล่าว เป็นไปด้วยความสงบ ไม่มีเหตุการณ์อะไรที่รุนแรง
ขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 13.40 น. ที่ผ่านมา นายรุ่งเรืองและน.ส.ไครียะห์ ได้ร่วมแถลงข่าวทิศทางการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ที่ผ่านมา พี่น้องจะนะถูกจับกุมและถูกแจ้งความดำเนินคดี ฝ่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และช่วงเช้าแจ้งเพิ่มอีก 2 ข้อหา ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก และขัดขวางการจับกุม รวมทั้งมีเงื่อนไขการปล่อยตัวออกมาแล้วจะไม่กลับมาชุมนุมอีก ซึ่งนั่นเป็นการใช้กฎหมายปิดปากประชาชน ขณะที่เรากำลังพูดถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน กำลังมาทวงสัญญาที่รัฐบาล แต่กลับถูกจับกุมยัดข้อหา นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลควรทำหรือไม่ ในค่ำคืนนั้นรัฐบาลควรส่งคนมาพูดคุยว่า ชาวบ้านมีข้อเรียกร้องอะไร แต่กลับส่งตำรวจควบคุมฝูงชน 2 กองร้อย มาจับกุมชาวบ้าน นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เรามาปักหลักอยู่หน้ายูเอ็น เพราะไม่อยากสร้างเงื่อนไขให้ตำรวจมาจับกุมพี่น้องเราเป็นรอบที่ 2
นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า อีกสาเหตุที่มาอยู่หน้ายูเอ็น เพราะต้องการใช้พื้นที่ตรงนี้จัดเวทีทุกเย็น นำเรื่องราวความเดือดร้อนของคนจะนะมาสื่อสารทุกๆ วัน ขณะเดียวกัน เพื่อปักหลักรอพี่น้องเครือข่ายที่กำลังตามขึ้นมาจากภาคใต้อีก 100 กว่าชีวิต และคาดว่า จะมีผู้มาสมทบประมาณ 300-500 คน ทั้งนี้ ในวันที่ 13 ธันวาคม เราจะเก็บข้าวของ เดินไปที่ประตู 1 ทำเนียบรัฐบาล จนกว่าจะได้คำตอบ แต่หากเจ้าหน้าที่ดักระหว่างทางตรงไหน ก็จะหยุดตรงนั้น และเพื่อป้องกันการถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทางกลุ่มฯ จะทำหนังสือเชิญยูเอ็น,กสม., กรรมาธิการฯ ส.ส.ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน มาร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ด้วย
นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า ทางกลุ่มขอย้ำ 4 ข้อเรียกร้อง คือ 1. รัฐบาลต้องตรวจสอบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อีกครั้ง 2. รัฐบาลจะจัดให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างครบถ้วน เพื่อให้มีข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องประกอบการตัดสินใจเดินหน้าหรือยุติโครงการต่อไป 3. รัฐบาลต้องยุติการดำเนินการทั้งหมดไว้ก่อนจนกว่าจะดำเนินการตามข้อ 1 และ 2 แล้วเสร็จ และ 4. รัฐบาลต้องยุติการดำเนินคดีกับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นทั้ง 37 คน ที่เกิดจากการสลายการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล
“ต้องการหาทางออกความขัดแย้งด้วยกระบวนการ แนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA เราไม่เคยยืนกระต่ายขาเดียวว่าโครงการนี้ต้องหยุด แต่เราเสนอว่าจะทำต่อหรือยกเลิก เอาเหตุผลทางวิชาการมาเป็นตัวตัดสินได้หรือไม่ ใช้นักวิชาการที่มีความชำนาญแต่ละเรื่อง และมี 3 ด้านที่ควรศึกษา คือด้านสิ่งแวดล้อม, สังคมวัฒนธรรม และเศรษฐศาสตร์ จากนั้นเอาข้อเท็จจริงมาประกอบการตัดสินใจให้กับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ สิ่งที่เราอยากได้วันนี้ไม่ใช่เอ็มโอยู อีกต่อไป เราได้ทำร่างกระบวนการ SEA ไว้ให้ท่านแล้ว ร่างนี้ถูกรับรองจากนักวิชาการในมหาวิทยาลัยที่ จ.สงขลา หากมีการตกลงในขั้นหลักการ นายกรัฐมนตรีสามารถเซ็นแต่งตั้งคำสั่งนี้ พวกผมกลับบ้านเลย แต่ถ้าไม่เซ็น ไม่มีกำหนดกลับ จะนั่งอยู่จนกว่าจะได้สิ่งที่ต้องการ” นายสมบูรณ์ กล่าว
ด้านน.ส.ไครียะห์ กล่าวว่า จากการกระทำของรัฐบาลเป็นปรากฏการณ์ว่า รัฐบาลชุดนี้ทำสัญญากับใครมั่วๆ และถ้าใครมาทวงสัญญาก็สลายการชุมนุมแบบนี้ แต่จำเอาไว้ว่า “จะนะ” จะเป็นบทเรียนให้กับคุณว่า คุณไม่สามารถทำแบบนี้กับใครได้อีก ฉะนั้นขอเชิญชวนคนที่ได้รับผลกระทบจากที่รัฐบาลชุดนี้ไปทำเอ็มโอยูด้วย ให้ออกมาเดินเคียงข้างกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล วันที่ 13 ธันวาคม เวลาประมาณ 13.00 น.