จัดวิพากษ์หลักสูตรสมรรถนะ ป.4-6 หลังเปิดรับฟังความเห็นช่วงชั้นที่ 1 แล้ว สพฐ.นำร่องใช้ 265 ร.ร.พื้นที่นวัตกรรม
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีนโยบายยกระดับคุณภาพการศึกษา และคุณภาพของผู้เรียน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะ ขณะนี้คณะกรรมการเพื่อพัฒนา (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ได้จัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ สำหรับจัดการเรียนการสอนในช่วงชั้นที่ 1 หรือชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 เรียบร้อยแล้ว และได้ผ่านการวิพากษ์รับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ CBE Thailand แล้ว โดยได้นำหลักสูตรฐานสมรรถนะมานำร่องใช้ในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรม 265 แห่ง จาก 8 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
น.ส.เกศทิพย์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อนำหลักสูตรฐานสมรรถนะมาใช้ที่โรงเรียนแล้ว จะทำวิจัยโดยใช้วิธีโฟกัสกรุ๊ป เพื่อรับฟังปัญหา และนำมาปรับใช้ต่อไป ทั้งนี้ จะมีพี่เลี้ยงประจำโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนทำหลักสูตรสถานศึกษาให้เหมาะกับบริบทพื้นที่ของตน ส่วนหลักสูตรฐานสมรรถนะ สำหรับการจัดการเรียนการสอนในช่วงชั้นที่ 2 หรือชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ขณะนี้จัดเนื้อหาเสร็จแล้ว ต่อไปจะนำหลักสูตรฐานสมรรถนะช่วงชั้นที่ 2 ไปวิพากษ์ และรับฟังความคิดเห็นต่อไป ขณะเดียวกันจะอบรมบุคลากรร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และมหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) ทั่วประเทศ เพื่อเตรียมบุคลากรให้ทราบถึงวิธีจัดการเรียนการสอน และการวัดและประเมินผลของหลักสูตรฐานสมรรถนะ
นางเกศทิพย์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สพฐ.ได้ปรับเปลี่ยนสูตรแกนกลางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศเช่นกัน โดยจะปรับเปลี่ยนหลักสูตรสถานศึกษา และปรับกระบวนการจัดการเรียนรู้ โดยบูรณาการตัวชี้วัด และบูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้ ให้ออกมาเป็นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการ Active Learning วิธีการนี้จะเป็นการสร้างสมรรถนะให้ผู้เรียนอีกทางหนึ่ง โดย สพฐ.ได้อบรมครูให้ปรับกระบวนการเรียนการสอน ให้มาสอนในรูปแบบ Active Learning แล้ว ขณะนี้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั้ง 245 เขตทั่วประเทศ รวบรวมข้อมูลครูทั้งหมด ว่ามีกี่คนที่ได้รับการอบรมการเรียนการสอนด้วยกระบวนการ Active Learning แล้ว และมีกี่คนที่ยังไม่ได้รับการอบรม ซึ่งการอบรมมีหลายทาง เช่น อบรมผ่านส่วนกลาง อบรมจากเขตพื้นที่ฯ ซึ่งเขตพื้นที่ฯ จะร่วมมือกับวิทยาลัยในพื้นที่มาร่วมกันจัดอบรมครู และโรงเรียนดำเนินการอบรมครู เป็นต้น
“จากข้อมูลที่ได้รวบรวมมา พบว่ามีการจัดการเรียนการสอน Active Learning ทั้งโรงเรียน ประมาณ 70% ซึ่งนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.ได้รับนโยบายจาก น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าอยากให้ครูทุกคนได้รับการอบรม และนำไปใช้สอนนักเรียน เพื่อให้นักเรียนทุกคนมีสมรรถนะอย่างเต็มที่ สพฐ.จึงมีแผนประชุม และเติมเต็มเพื่อให้ครูมาอบรมมากขึ้น โดยจะแบ่งการทำงานเป็น 3 ลู่ คือ อบรมทั้งโรงเรียน อบรมรายวิชา หรือเฉพาะกิจกรรม และอบรมผ่านทางออนไลน์สำหรับคนที่ต้องการรับความรู้เพิ่มเติม” นางเกศทิพย์ กล่าว
นางเกศทิพย์กล่าวอีกว่า คาดว่าภายใน 1 ปีนี้ ครูทั่วประเทศจะได้รับการอบรมเพื่อให้ครูสอนแบบ Active Learning เพื่อให้เด็กมีสมรรถนะ มองว่าหากครูทุกคนสามารถสอนแบบ Active Learning ได้ ก็จะนำมาปรับใช้กับหลักสูตรฐานสมรรถนะที่อยู่ระหว่างผลักดันในขณะนี้ได้” นางเกศทิพย์ กล่าว
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่