เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ตรัง – กล้าพันธุ์ปาล์มขาดแคลนหนักทั่วประเทศ เหตุคนแห่ปลูกเพราะราคาสูง ยอดจองข้ามปีเชื่อนับล้านต้น ส่งผลให้เกิดการขายต้นกล้าปาล์มปลอม ขณะที่เจ้าหน้าที่เงียบ ไม่มีข่าวการกวาดล้างจับกุม
นายวีระ ตระกูลรัมย์ เจ้าของบริษัท ตรัง-มาเลเซีย อะโกรเทค จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของแปลงกล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมันแปลงใหญ่ใน จ.ตรัง กำลังให้คนงานเร่งทำงานแข่งกับเวลาในการดูแลบำรุงรักษาต้นกล้าปาล์มสายพันธุ์ดี และเป็นแปลงผลิตถูกต้องตามกฎหมาย บนเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ รวมจำนวนประมาณ 2 แสนต้น ทั้งการบรรจุดินใส่ถุงที่ยังทำต่อเนื่อง และการดูแลบำรุงรักษาต้นกล้าพันธุ์ เพื่อให้ทันส่งมอบกับเกษตรกรที่รอปลูก
โดยนายวีระ กล่าวว่า ในปีเพาะกล้าพันธุ์ 2561 สำหรับจำหน่ายปี 2562 ราคาปาล์มตกต่ำอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.60-1.80 บาท ทำให้คนปลูกปาล์มน้อยมาก แปลงผลิตกล้าพันธุ์ขาดทุนกันยับเยิน แต่ในปี 2564-2565 ปรากฏว่าปาล์มราคาดีต่อเนื่องเฉลี่ย 6-8 บาท ทำให้คนโค่นยางทิ้งหันมาปลูกปาล์มกันจำนวนมาก แต่ทางแปลงก็ไม่สามารถจะผลิตต้นกล้าพันธุ์ขายได้ทัน เพราะต้องใช้เวลาเป็นปี ประมาณ 10-11 เดือน จึงจะจำหน่ายและปลูกได้
ซึ่งขณะนี้ในแปลงกำลังเตรียมต้นกล้าพันธุ์ปาล์มของยอดจองปี 2565 จำนวนกว่า 200,000 ต้น เต็มกำลังการผลิต โดยมียอดจองมาจากทั่วประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ จ.ตรัง กระบี่ พัทลุง สตูล นครศรีธรรมราช กำหนดจะส่งมอบรวม 3 รุ่น คือเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน, กรกฎาคม-สิงหาคม, กันยายน-ตุลาคม และยังมีคนมาลงชื่อสำรองไว้อีกจำนวนมากหลายแสนต้น แต่ทางแปลงไม่สามารถผลิตให้ได้
ส่วนในปี 2566 ซึ่งกำลังจะเปิดจองในเดือนมีนาคมนี้นั้น ก็เชื่อว่ายอดจองจะต้องมากหลายแสนต้นแน่นอน เพราะขณะนี้มีคนติดต่อเข้ามาเป็นจำนวนมาก เชื่อว่าภาพรวมทั่วประเทศจะต้องเป็นล้านต้น ซึ่งในส่วนของราคาต้นกล้าพันธุ์ปาล์มยังไม่มีการปรับขึ้น เฉลี่ยต้นละ 70-180 บาท เพราะถูกกำหนดโดยบริษัทแม่ที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ แต่อาจจะมีแปลงย่อยที่มีการอัพราคาขึ้นไปขายต้นละกว่า 200 บาท เพราะความต้องการปลูกปาล์มมีสูงมาก
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ส่งผลให้มีกล้าพันธุ์ปาล์มปลอม ที่เจ้าของไม่มีการจดทะเบียนแปลงเพาะ หรือมีแหล่งที่มาไม่ชัดเจน ทั้งที่ลักลอบเก็บเมล็ดใต้โคนมาเพาะขายเอง แต่แอบอ้างว่ามาจากมาเลเซีย ซึ่งพบแหล่งผลิตใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และมีทั้งที่ตั้งใจทำเป็นขบวนการ โดยการส่งกล้าพันธุ์ปลอมจากมาเลเซีย เข้ามาขายในไทยเป็นการเฉพาะหลายแสนต้น และมีการประกาศขายกันอย่างเอิกเกริกผ่านทางสื่อโซเชียล
ทั้งนี้ การลักลอบขายกล้าพันธุ์ปาล์มปลอมมีมานานแล้ว แต่ยังไม่พบการจับกุม ซึ่งคิดว่าทางเจ้าหน้าที่คงทำงานยากลำบาก เนื่องจากเป็นช่วงสถานการณ์โควิด-19 แต่หากเกษตรกรซื้อไปปลูก กว่าจะทราบว่าเป็นพันธุ์ปลอมก็ต่อเมื่อเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว ต้องรื้อทิ้งแล้วปลูกใหม่เท่านั้น ถือเป็นการทำลายอาชีพ ทำลายเศรษฐกิจของประเทศ และทำลายการพัฒนาเปอร์เซ็นต์ปาล์มน้ำมันให้ได้มาตรฐาน จึงขอเตือนให้เกษตรกรระมัดระวังด้วย