เกษตรกรใน จ.สตูล พลิกวิกฤติช่วงโควิด-19 เลี้ยงกระต่ายเนื้อขายสร้างรายได้ ซึ่งพบว่าตลาดมีความต้องการสูง พร้อมขอให้สังคมเปิดใจและเข้าใจการบริโภคเนื้อกระต่าย
นายอับดลรอหมาน หลังปูเต๊ะ เกษตรกรทำฟาร์มเลี้ยงกระต่ายเนื้อ ในพื้นที่ ต.ฉลุงอ.เมือง จ.สตูล กล่าวว่า สมัยเรียนที่ประเทศอินโดนีเซีย มีโอกาสกินเนื้อกระต่ายและรู้สึกชอบ พอกลับมาเมืองไทยประกอบอาชีพเขียนโปสเตอร์ขาย แต่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงพยายามหาช่องทางประกอบอาชีพจึงได้ทดลองเลี้ยงกระต่าย โดยเริ่มซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กระต่าย 3-4 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นลูกผสมมาเลี้ยง
จากนั้นเมื่อทดลองขายออนไลน์ปรากฏว่ามีผู้สนใจสั่งซื้อเรื่อยๆ ทั้งใน จ.สตูล จ.สงขลาและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยส่งขายเป็นตัว แต่ภายหลัง พบว่า ลูกค้าบางส่วนต้องการซื้อเฉพาะเนื้อจึงได้แปรรูปจำหน่ายในกิโลกรัมละ 350 บาท โดยเมนูที่นิยมนำไปทำคือ กระต่ายน้ำผึ้งอบสมุนไพร, สะเต๊ะกระต่าย และแกงมัสมั่นกินคู่กับโรตี
ส่วนกรณีที่มี กระแสดราม่าบนโลกออนไลน์ เจ้าของฟาร์มมองว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่ไม่กินโดยขอให้เปิดใจและเข้าใจ ซึ่งล่าสุด ความนิยมของตลาดตอนนี้ ผลิตไม่พอกับความต้องการของตลาดแล้วเพราะเป็นอาหารของผู้ที่ต้องการโปรตีนสูงและไขมันต่ำ
สำหรับเนื้อกระต่าย มีหลายประเทศที่มีวัฒนธรรมในการบริโภค เช่นชาวอังกฤษบางกลุ่ม ที่มีการบริโภคมาตั้งแต่อดีต และปัจจุบันก็ยังบริโภคกันอยู่ อย่างในคลิปวิดีโอนี้ มาจากช่อง อิงลิช เฮอริเทจ กำลังสอนวิธีการทำพุดดิ้งเนื้อกระต่าย ซึ่งเป็นสูตรที่มีมาตั้งแต่ยุควิตอเรีย หรือกว่า 100 ปีมาแล้ว เป็นอาหารที่นิยมกินในวันที่อากาศหนาวเย็น โดยเนื้อกระต่ายในอังกฤษอยู่ที่ประมาณ 4-5 ปอนด์ หรือประมาณ 200 บาทต่อกิโลกรัม
ปัจจุบันเนื้อกระต่ายกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก โดยจำนวนการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4 ต่อปี โดประเทศที่ส่งออกเนื้อกระต่ายสูงสุดคือ จีน รองลงมาคือเกาหลีใต้ และสเปน