“อุบัติเหตุที่เกิดกับเด็ก” จากการที่เด็กเล่นหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะในโรงเรียน บ้าน หรือที่อื่น ๆ ในแต่ละปีมีตัวเลขอุบัติเหตุในกลุ่มนี้เกิดขึ้นจำนวนไม่น้อย และนี่ก็เป็นที่มาของ “โมเดลน่าสนใจ” โดย คุณครูในพื้นที่ จ.สตูล ที่ได้นำเอาเรื่องนี้เข้าไปไว้ใน “หลักสูตรการเรียนรู้” เพื่อที่จะ “สอนเด็ก” สอนเด็กนักเรียนในโรงเรียน โดยเฉพาะกับ “กลุ่มเด็กเล็ก”
วัตถุประสงค์สำคัญเพื่อ “ลดอุบัติเหตุ” ในโรงเรียน
โดยการสอนเด็กให้ “รู้จักเรื่องแรงในชีวิตประจำวัน”
ให้เด็กมีความ “เข้าใจ” และทำให้เด็ก “รู้วิธีควบคุม”
เกี่ยวกับโมเดล “สอนเด็กให้เข้าใจเรื่องแรงในชีวิตประจำวัน” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” นำมาสะท้อนต่อในวันนี้ เป็นผลงานของกลุ่มคุณครูที่ จ.สตูล ที่จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องนี้จากความสงสัยที่ว่าจะมีวิธีการใดที่ทำให้นักเรียนกลุ่มเด็กเล็ก “เข้าใจความรุนแรง” โดยเฉพาะขณะที่เล่นกับเพื่อน ๆ เพื่อช่วยให้เด็ก “รู้จักวิธีควบคุม” ซึ่งถ้าหากเด็กเกิดความเข้าใจเรื่องนี้ก็จะสามารถ “ช่วยลดอุบัติเหตุที่ไม่ตั้งใจ” ได้มาก โดย ครูเบญจมาศ ฤทธิศักดิ์ หรือ “ครูแมว” คุณครูประจำชั้นอนุบาล 2 โรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.ละงู จ.สตูล ได้เผยถึงข้อมูล “โมเดลสอนเด็กรู้จักแรง” นี้ไว้อย่างน่าสนใจ…
ทางครูแมวได้มีการอธิบายถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า… การสอนให้เด็กนักเรียนระดับอนุบาลได้เข้าใจเรื่องของ “แรง” นี้ เป็นหนึ่งในการจัดกระบวนการเรียนรู้ภายใต้โครงการบริหารจัดการโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) โดยการสนับสนุนจากทาง กสศ. โดย “บทเรียนเรื่องแรงในชีวิตประจำวัน” นั้น จะมีการสอนเกี่ยวกับ 5 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย… 1.อวัยวะทุกส่วนของร่างกายมีแรง 2.อวัยวะแต่ละส่วนมีแรงไม่เท่ากัน 3.เราสามารถควบคุมการใช้แรงได้ 4.แรงทำให้วัตถุเปลี่ยนแปลงรูปร่างและที่อยู่ และ 5.แรงในธรรมชาติ เช่น แรงน้ำ แรงลม
ทั้งนี้ คุณครูท่านเดิมยังได้ยกตัวอย่างไว้เกี่ยวกับ “วิชาแรงในชีวิตประจำวัน” ที่ใช้สอนเด็กชั้นอนุบาลในโรงเรียน โดยแจกแจงไว้ว่า… จะเริ่มจากการปูพื้นฐานเบื้องต้น ก่อนจะไปสู่การเรียนรู้ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยหัวข้อแรกอย่างเรื่อง “อวัยวะทุกส่วนของร่างกายมีแรง” นั้น ก่อนเข้าสู่กิจกรรมจะเริ่มจากการให้เด็กนั่งสมาธิ จากนั้นให้ฟังครูเล่านิทานเรื่อง “อวัยวะทุกส่วนล้วนสำคัญ” โดยเมื่อเล่าถึงอวัยวะส่วนใดก็จะให้นักเรียนจับที่ส่วนนั้น เพื่อที่จะให้เด็กจดจ่อกับเรื่องที่เล่า ส่วนการทบทวนความรู้หลังเรียนจบนั้น จะใช้วิธีการถามนำเด็ก ๆ ด้วยคำถามอย่างเช่น… เรายกมือขึ้นได้อย่างไร ขยับร่างกายได้อย่างไร
“บางทีถ้าเด็ก ๆ เขายังไม่เข้าใจ เราก็จะสร้างโจทย์สมมุติ เช่น… การที่เราเป็นลม เพราะไม่ได้กินข้าว เพราะไม่ได้พักผ่อน เด็กก็จะค่อย ๆ ทำความเข้าใจว่า…เราเป็นลมเพราะร่างกายไม่แข็งแรง แต่ถ้าเรากินข้าว พักผ่อนพอ ก็จะมีแรงเคลื่อนไหว” …ครูแมวเล่าถึงวิธีการสอนเด็ก ๆ ให้ได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่อง “แรง” ในหัวข้อแรก
ขณะที่หัวข้อต่อมาอย่างการเรียนรู้เรื่อง “อวัยวะแต่ละส่วนมีแรงไม่เท่ากัน” กับหัวข้อนี้ สำหรับกิจกรรมจะเริ่มจากการที่ครูจะสร้างสถานการณ์ที่ต่อเนื่อง อย่างการสมมุติว่า… ถ้าเด็กชาย ก. วิ่งเล่น แล้วบังเอิญชนเพื่อนล้ม จนเพื่อนมีแผล และร้องไห้ ทุกคนจะทำอย่างไร ซึ่งโจทย์นี้จะช่วยทำให้เด็กได้ เรียนรู้ “การขอโทษ” จากการกระทำที่ไม่ตั้งใจ ด้วย และในทางกลับกัน เด็กที่ถูกเพื่อนชนล้มก็จะได้ เรียนรู้เรื่อง “การให้อภัย” เมื่อเพื่อนได้กล่าวคำขอโทษจากอุบัติเหตุที่ไม่ตั้งใจ
“นอกจากนั้น เรายังให้เด็กจับคู่หันหน้าเข้าหากัน และให้คนหนึ่งลองใช้นิ้วมือ ใช้ฝ่ามือ จนถึงใช้ข้อศอก หัวไหล่ สะโพก ทั้งผลัก ดึง กระแทก ชน สะกิด ไล่ระดับกันไป เพื่อให้เด็ก ๆ เข้าใจถึงแรงที่แตกต่างกัน ซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย” …เป็นความรู้ที่จะเกิดขึ้นกับเด็กจากหัวข้ออวัยวะแต่ละส่วนมีแรงไม่เท่ากัน
ยกตัวอย่างอีกหัวข้อสำคัญ… “การควบคุมการใช้แรง” หัวข้อนี้ เมื่อเด็ก ๆ ได้เรียนรู้ถึงความหนักเบาของแรงจากความรู้สึกผ่านการกระทำแล้ว ครูก็จะให้นักเรียนนั่งตัวตรง ยืดขาออกไปข้างหน้า แล้วใช้นิ้วมือบีบกดไล่ไปตามอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ตั้งแต่แก้ม คาง แขน ท้อง ขา เข่า เท้า โดยใช้แรงกดหนักเบาสลับกัน จากนั้นจึงเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ลองอธิบายถึงข้อเปรียบเทียบและความแตกต่างจากแรงกดที่เกิดขึ้นในแต่ละจุด เมื่อได้ลองใช้อวัยวะต่าง ๆ ในการสร้างแรงกด
“หัวข้อนี้เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ว่าควรต้องใช้แรงอย่างไร โดยผลที่ออกมาคือเด็ก ๆ จะสามารถรับรู้ได้ว่า…แรงบีบที่แตกต่าง เป็นสาเหตุให้เกิดความรู้สึกที่ต่างกัน” …เป็นอีกสิ่งที่เกิดจากการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ที่ ครูแมว บอกเล่าไว้…
กับ “วิชาเรื่องแรง” ที่ “สอนให้เด็กรู้วิธีควบคุมแรง”
ทั้งนี้ คุณครูท่านเดิมได้บอกถึง “ผลลัพธ์เกี่ยวเนื่อง” ที่เกิดจาก “วิชาแรงในชีวิตประจำวัน” ไว้ด้วยว่า…สิ่งที่เห็นได้ชัดคือเด็กได้เรียนรู้อย่างมีความสุข จากวิธีคิดที่เป็นอิสระ และหลากหลาย โดยเด็กจะสามารถเชื่อมโยงความคิดเข้ากับหัวข้อที่ครูได้ตั้งโจทย์ไว้ด้วยกิจกรรมที่มีการโต้ตอบระหว่างกัน ทำให้เด็กตั้งใจเรียนและมีสมาธิจดจ่อต่อเนื่อง จนถึงทำให้เด็กสามารถค้นความรู้ใหม่ ๆ ได้ด้วยตนเอง โดยที่ครูเป็นเพียงผู้พาทำกิจกรรมเท่านั้น อีกทั้งวิธีการสอนแบบนี้ยังช่วยกระตุ้นให้เด็กมีความกระตือรือร้นในบทเรียนอื่น ๆ มากขึ้น และที่สำคัญ เด็กสามารถนำประสบการณ์ไปเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันได้ ด้วย
นี่เป็น “โมเดลลดอุบัติเหตุที่เกิดกับเด็ก” ที่น่าสนใจ
“สอนเด็กเรื่องแรง” เพื่อ “ป้องกันเกิดเหตุรุนแรง”…
ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน “น่าสอนให้แพร่หลาย” .