สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ภูมิภาคใต้ ไทยพีบีเอส เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นกรณี พ.ร.บ.แร่ 2560 โอกาสหรือข้อจำกัดของความขัดแย้งการสัมปทานแหล่งหินภาคใต้ ชี้ชัด ‘ราชการ’ คือไม้ขีดก้านแรก ส่วน ‘กลุ่มทุน’ สาดความรุนแรงไปทั่ว ได้ข้อสรุปร่วมต้องกระจายอำนาจและให้ประชาชนมีส่วนตัดสินใจแท้จริง พร้อมทบทวนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มระบบ
13 พ.ค.2565 เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมาสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ภูมิภาคใต้ ไทยพีบีเอส ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 4/2565 หัวข้อ “พ.ร.บ.แร่ 2560 โอกาสหรือข้อจำกัดของความขัดแย้งการสัมปทานแหล่งหินภาคใต้” เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวทั้งด้านสถานการณ์และระบบนิเวศวิทยาในภาคใต้ รวมถึงนโยบายแร่ของรัฐบาลและการใช้กฎหมายเกี่ยวกับเหมืองหิน ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเดอะวัน อ.เมือง จ.สตูล
สนธยา แก้วขำ ผู้สื่อข่าวอาวุโสศูนย์ข่าวไทยพีบีเอสภาคใต้ ผู้ดำเนินรายการเปิดเผยว่า ตนเองนอกจากนำเสนอข่าวแล้วยังได้ช่วยประสานเครือข่ายและติดอาวุธด้านการสื่อสารให้ประชาชนและชุมชนด้วย ต้นธารของปัญหาคือ ระบบราชการ แต่กลุ่มทุนก็เป็นองค์ประกอบสำคัญ ฝ่ายที่ต้องการให้ทำเหมืองหินเพราะเขามองเห็นภาพใหญ่ว่าภาคใต้กำลังถูกทำให้เดินไปทางไหน ทำไมต้องการผลิตหินเข้าสู่กระบวนการพัฒนามหาศาล ขณะฝ่ายได้รับผลกระทบด้อยอำนาจกว่า การจัดเวทีของสภาผู้ชมฯ ครั้งนี้เป็นการหนุนช่วยเสริมพลังภาคประชาชน
ดาราณี วาจิ อาจารย์โรงเรียนอรุณศาสน์วิทยามูลนิธิ จ.สตูล กล่าวว่า เราคือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหรือปอเนาะที่มีครูอาจารย์ บุคคลกรและนักเรียนตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมรวมแล้วกว่า 1,800 ชีวิต ซี่งส่วนใหญ่มีวิถีผูกพันโรงเรียนเหมือนกับบ้านตนเอง วันดีคืนดีมีข่าวว่ากำลังจะมีการระเบิดเขาโต๊ะกรังข้างโรงเรียน ทุกคนก็ตื่นตกใจและกลัวผลกระทบ เคยมีจัดรับฟังความคิดเห็น โดยทั้งนายทุนและข้าราชการยืนยันว่าจะระเบิดหินแบบไม่ให้มีผลกระทบเลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ พวกเราจึงต่อสู้กันมาแล้วกว่า 5 ปี
“เรากำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แค่นี้ยังไม่เพียงพออีกหรือคะ ทำไมเราต้องมาทำอุตสาหกรรมเหมืองหินเพื่อทำร้ายโลกเราเพิ่มขึ้นไปอีก” ดาราณีกล่าว
อารีฟัน โซ๊ะ เครือข่ายเยาวชนพิทักษ์เขาลาเมาะ จ.นราธิวาส กล่าวผ่านระบบซูมออนไลน์จากเวทีรับฟังความเห็นเหมืองหินในพื้นที่ว่า ประชาชนทราบเรื่องให้สัมปทานเหมืองหินเขาลาเมาะ ต.ลาโละ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส มาตั้งแต่ปี 2564 มี 4 หมู่บ้านได้รับผลกระทบโดยตรง และชาวบ้านอีกจำนวนมากได้รับผลกระทบด้วย แม้เราจะรับรู้เห็นแค่ 5 วันก่อนจัดเวทีรับฟังความ แต่ตอนนี้มีชาวบ้านกว่า 1,000 ชีวิตเข้าร่วม ซึ่งส่วนใหญ่คัดค้านสัมปทานเหมืองหินแน่นอน
“ถ้าให้ระเบิดหินภูเขาลาเมาะ ส่วนทุเรียนและผลไม้ชื่อดังของนราธิวาสได้รับผลกระทบอย่างหนักแน่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ซึ่งมีการสำรวจแล้วเฉพาะใน 4 หมู่บ้านที่ต้องรับกระทบโดยตรงมีกว่า 3,000 คน และแทบทั้งหมดไม่เห็นด้วย ที่ผ่านมาเคยมีกระบวนหรอกให้ชาวบ้านร่วมลงชื่อสนับสนุนอย่างไม่รู้ตัวมาแล้ว” อารีฟัน กล่าว
สมบูรณ์ คำแหง ที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) กล่าวว่า ปรากฏการณ์ใช้กลโกงเพื่อให้เหมืองหินเขาลาเมาะที่ จ.นราธิวาส ผ่านการอนุมัติเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั่วภาคใต้ ในพื้นที่อื่นๆ ยังมีใช้เงินฟาดหัวด้วย แล้วก็มีการต่อสู้กันมาหลายสิบปี มีข่าวใหญ่โตถึงความขัดแย้งและถึงขั้นสังหารกันแบบเลือดนองแผ่นดินมาก็มากแล้ว ส่วนที่สตูลบ้านตนเองก็กำลังเกิดปัญหาใหญ่ทั้งที่ 4 อำเภอของ จ.สตูล ได้รับการขึ้นทะเบียนอุทยานธรณีโลกไปแล้ว แต่นายทุนกลับยังไม่เลิกขอสัมปทานเหมืองหิน
“สตูลควรเป็นจังหวัดแรกของประเทศที่ต้องทบทวนเพื่อนำไปสู่การยกเลิกเหมืองหิน เพราะได้รับประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลกไปแล้ว แต่กรณีเขาโต๊ะกรังชายขอบที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่อุทยานธรณีโลกก็ยังเป็นข่าวใหญ่อยู่ ที่ผ่านมามีการอ้างจากนายทุนว่าจะให้เลิกได้อย่างไร พวกเขาใช้เงินทุ่มลงไปแล้วกว่า 50 ล้านบาท” นายสมบูรณ์กล่าวและว่า ถึงเวลาหรือยังที่สังคมไทยต้องทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสัมปทานเหมืองหิน เพื่อให้ทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและเกิดความเป็นธรรมกับประชาชนทุกภาคส่วน
อับดุลก๊อฟฟา หลีเยาว์ กลุ่มอนุรักษ์เขาโต๊ะกรัง จ.สตูล กล่าวเสริมว่า การขอประทานบัตรเขาโต๊ะกรังเริ่มปี 2539 และชาวบ้านก็รับรู้ถึงกลโกงมาตลอด โดยเฉพาะมีการใช้ระบบราชการที่ลงไปถึงกำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นแขนขา พยายามอ้างว่าเป็นกลาง แต่จริงๆ แล้วเอียงกระเท่เล่ห์เข้ากับฝ่ายนายทุน ตอนนี้ใช้ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ปี 2560 แล้วก็ยังเหมือนเดิม มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชน แต่กลับพยายามกีดกันชาวบ้านฝ่ายคัดค้านออกตลอดเวลา แม้เขาโต๊ะกรังจะอยู่ชายขอบพื้นที่อุทยานธรณีโลก แต่ไม่ใช่ไม่มีแหล่งโบราณคดีสำคัญ ที่ผ่านมาก็มีการค้นพบแล้วจำนวนมาก
“ผมกล้าระบุอย่างไม่กลัวเลยว่า กลไกราชการ คือตัวปัญหาสูงสุด ความจริงต้องทำหน้าที่เพื่อสังคมส่วนรวม หรืออย่างน้อยต้องเป็นกรรมการกลาง แต่กับทำเป็นตรงกันข้ามไปเสียทั้งหมด กลับไปเข้าทางกลุ่มนายทุนที่ต้องการสัมปทานเหมืองหิน มีการข่มขู่ชาวบ้านแบบที่รับรู้กันทั่วไป ถึงเวลาหรือยังที่เราต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ ให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่ประชาธิปไตยเพื่อนายทุน” อับดุลก๊อฟฟา กล่าว
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าวผ่านระบบซูมถึงภาพรวมปัญหาเหมืองหินทั่วประเทศว่า กำลังเป็นปัญหาใหญ่และไม่เฉพาะที่ภาคใต้เท่านั้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้สร้างปัญหามาตั้งแต่อดีตกาล ปี 2538 มีการนำกฎหมายแร่มาบังคับใช้กับการทำเหมืองหิน ตอนแรกสังคมคิดว่าจะแก้ปัญหาห่วงโซ่สัมปทานบ้าง แต่การให้มีคณะกรรมการกำหนดแหล่งหิน สุดท้ายกลับกลายไปสู่การเอาใจอุตสาหกรรมก่อสร้าง มากกว่าที่เน้นพิทักษ์หรือปกป้องผลประโยชน์ประชาชน ยิ่งหลังๆ มีการกำหนดพื้นที่ให้ทำเหมืองหินได้แบบไม่ดูตาม้าตาเรือเอาเลยด้วย
นิวัฒน์ วัฒนยมนาพร กรรมการที่ปรึกษาหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น จ.กระบี่ กล่าวถึงผลสำเร็จการใช้โบราณสถานและโบราณวัตถุต่อสู้สัมปทานเหมืองหินว่า ตนจบและเป็นอาจารย์สอนด้านคณิตศาสตร์ เมื่อลุกขึ้นสู้ก็ต้องศึกษาเรียนรู้จริงจัง และเมื่อมีข่าวให้สัมปทานเหมืองหินเขาหน้าวังหมีที่ ต.ทับปริก อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ จึงได้ยกความเป็นแหล่งโบราณคเก่าแก่ โดยเฉพาะมีการขุดพบโครงกระดูกโบราณและข้าวของเครื่องใช้โบราณมาเป็นเครื่องมือต่อสู้ ที่ผ่านมาได้ร่วมกับผู้นำท้องถิ่นและกรมศลิปากรต่อสู้จนได้รับชัยชนะเบื้องต้นไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถทำให้เลิกระเบิดภูเขาหิน จ.กระบี่ ได้อย่างเด็ดขาด
“อยากฝากทุกคนว่าความเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญนำมาเป็นเครื่องมือต่อสู้ได้ โดยต้องมีการสำรวจอย่างเป็นวิชาการ และมีการถ่ายภาพเก็บไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อนำมาเป็นหลักฐานสำคัญคัดง้างสัมปทาน เพราะการต่อสู้ในศาลต้องการหลักฐานอ้างอิงที่เชื่อถือได้ ผมกับเพื่อนที่ร่วมสู้กันมาไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้านและเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรก็ถูกฟ้องมาแล้วว่าบุกรุกพื้นที่นายทุน แต่สุดท้ายเราชนะทั้งหมดทุกคดี” นิวัฒน์กล่าว
เฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า มูลนิธิได้ช่วยทำคดีการลุกขึ้นสู้ของประชาชนเกี่ยวกับแหล่งแร่และเหมืองหินทั่วประเทศมากมาย สำหรับภาคใต้สัมปทานหินเขาคูหา ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ถือว่าเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญมาก มีการระเบิดหินบนภูเขาไปแล้วมากมาย แต่ช่วงกำลังจะต่ออายุชุมชนได้ลุกขึ้นสู้ แม้จะไม่เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญ แต่ชุมชนลุกสำรวจทรัพยากรและความเป็นแหล่งสำคัญด้านต่างๆ ซึ่งเวลานี้ได้รับชัยชนะทางศาลไปแล้วก็จริง แต่ยังต้องถือว่าชนะแบบไม่เบ็ดเสร็จ เพราะเพียงแต่หยุดการระเบิดเขาต่อได้ แต่สัมปทานที่นายทุนถือไว้ยังมีชีวิตอยู่
“การจัดเวทีรับฟังเหมืองหิน จ.นราธิวาส ที่มีขึ้นมีทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนก็ได้ให้การช่วยเหลือ ตอนนี้ชาวบ้านก็กำลังลุกขึ้นสู้อย่างมีพลัง อยากบอกว่าชาวบ้านมีสิทธิ์ลุกขึ้นทำประชาคมรับฟังความเห็นได้ ซึ่งตามกฎหมายเราก็สามารถผลักดันให้ทำประชามติได้ แต่ต้องให้กลุ่มทุนรับผิดชอบ ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องพิจารณาหาทางผลักดันกันต่อไป” ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าว
สุทธิเกียรติ คชโส ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมด้านกฎหมายว่า ตาม พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 มีการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการแร่ไว้ชัดเจน แม้มาตรา 17 และ 19 กำหนดว่าเขตให้สัมปทานหินได้หรือไม่ได้ ซึ่งมีหลายประเภท อาทิ เขตอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวมถึงแหล่งโบราณสถาน เป็นต้น เรื่องนี้ต้องมีการทบทวนพื้นที่สัมปทานหรือกำลังจะให้สัมปทานกันอย่างเป็นระบบ แต่กลับไม่มีการทบทวนอะไรเลย จึงนำไปสู่การเปิดช่องโหว่มากมาย