นายวัฒนา โชคสุวณิช กรรมการคณะกรรมการการท่องเที่ยวคุณภาพสูง หอการค้าไทย และนายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจเรือสำราญไทย กล่าวในสัมมนาออนไลน์ เรื่อง การท่องเที่ยวเรือสำราญโอกาสและความพร้อมของไทยในมุมมองผู้ประกอบการเรือสำราญนานาชาติ ที่มีธุรกิจเรือสำราญและธุรกิจห่วงโซ่ธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศมาแชร์ความคิดเห็นในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเรือสำราญของเอเชีย ว่า เป็นโอกาสที่จะมาแลกเปลี่ยนความเห็นถึงความพร้อมและโอกาสของประเทศไทย ในการขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญของเอเชีย อาทิ การพัฒนาท่าเรือต้นทาง (Home Port) การเลือกที่ตั้งของท่าเรือต้นทาง การกำหนดขนาดของท่าเรือและอาคารผู้โดยสาร ซึ่งเมืองท่าต้นทางต้องมีอัตลักษณ์มีความโดดเด่น สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวอย่างเห็นได้ชัด และต้องการผู้ที่มีความรู้จริง มีประสบการณ์ในการพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญมาอย่างมากมายเพื่อให้ท่าเรือสำราญของไทยสามารถรองรับเรือสำราญทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างน้อยอีก 10-20 ปี
นายวัฒนา กล่าวต่อว่า สำหรับการท่องเที่ยวเรือสำราญในประเทศไทย นั้น จังหวัดภูเก็ต มีเรือสำราญเข้ามาท่องเที่ยวกว่า 200 เที่ยวเรือ ในปี 2561 เป็นลำดับที่ 7 ขณะที่ภูเก็ตยังไม่มีท่าเทียบเรือสำราญและอาคารผู้โดยสารที่ได้มาตรฐานเลยก็ตาม ดังนั้นการสร้างท่าเรือสำราญที่พัทยาจะทำให้การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในกรุงเทพได้อย่างรวดเร็วและได้สะดวกมากยิ่งขึ้น จากรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จากโครงสร้างพื้นฐานด้าน การขนส่งที่รัฐบาลได้วางเอาไว้แล้ว ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 3 ของประเทศที่มีเรือสำราญเข้ามาท่องเที่ยวมากที่สุดของเอเชีย ทำให้เห็นได้ว่าเมืองท่าเรือสำราญของไทยได้รับความสนใจและการยอมรับจากสายเรือสำราญอยู่แล้ว การสร้างความร่วมมือกับสายการเดินเรือสำราญในการพัฒนาเมืองท่าเรือสำราญจะทำให้ ประเทศไทยสามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดมากยิ่งขึ้น นำรายได้จากการท่องเที่ยวที่ได้จากปริมาณและคุณภาพของนักท่องเที่ยวเรือสำราญ บรรลุเป้าหมายในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือระหว่างปี 2561-2580 ได้อย่างเป็นจริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแลกเปลี่ยนช่วงสัมมนาผู้บริหารสานเรือสำราญระดับโลกให้ความเห็นตรงกันว่าธุรกิจเรือสำราญ เริ่มฟื้นตัว หลายบริษัทหลายประเทศกลับมาให้บริการอีกครั้ง โดยเริ่มจากยุโรป สหรัฐอเมริกา ล่าสุดเรือออกจากซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยผู้ประกอบการทั่วโลกประเมินว่าธุรกิจเรือสำราญจะฟื้นเต็มตัวในปี 2566 และกลับมาขยายตัวมากกว่าปี 2562 ที่เริ่มเกิดโควิดระบาด หรือขยายตัวอีก 2-3 เท่าตัวภายในปี 2569 เนื่องจากเรือสำราญทั่วโลกมีการขยายขนาดเรือเพื่อเพิ่มผู้โดยสาร ที่กำลังต่อเรือที่สามารถบรรจุคนได้ถึง 6,780 คน และการเปิดท่าเรือใหม่ๆ รวมถึงในประเทศไทย โดยเฉพาะที่ได้รับความสนใจในการลงทุนทางทะเลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา สตูล สุราษฎร์ธานี และชลบุรี
ทั้งนี้ นักธุรกิจผู้มีประสบการณ์ตรงในการบริหารสายเรือสำราญระดับโลก อาทิ Carnival Cruise Line Royal Caribbean Cruise Line ซึ่งเป็นสมาคมเรือสำราญนานาชาติที่มีสายเรือสำราญเป็นสมาชิกมากกว่า 90% และ”CLIA” ผู้บริหารท่าเรือสำราญ Marina Bay Cruise Centre “MBSCC” จากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทสถาปนิกที่พัฒนาโครงการท่าเรือสำราญสำคัญๆ มาแล้วเกือบทั่วโลก และ Bermello Ajamil “BA” รวมทั้ง Regional Director จากบริษัท Destination Asia ซึ่งเป็นตัวแทนการท่องเที่ยวเรือสำราญในหลายประเทศ
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่