7 มิถุนายน ของทุกปี จะเป็นวันความปลอดภัยอาหารโลก ในปี นี้ FAO และ WHO ให้คำขวัญวัน World Food Safety Day 2022 ว่า Safer food, better health ซึ่งกรมวิชาการเกษตร มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางอาหารพืช โดยทำการวิจัย พัฒนา เทคโนโลยีที่เหมาะสม พร้อมทั้งทำการตรวจสอบรับมาตรฐานการผลิตพืชปลอดภัย
ดร.จิระ สุวรรณประเสริฐ ผอ. สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 (สวพ.8) กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สวพ.8 ได้รับนโยบายจากนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในการพัฒนาพืชอาหารปลอดภัยในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ สงขลา พัทลุง ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในแต่ละปี สวพ.8 จะดำเนินงานในด้านการตรวจสอบและให้การรับรองการผลิตพืชตามมาตรฐาน GAP และ เกษตรอินทรีย์ Organic Thailand โดย ณ ปัจจุบันกลุ่มถ่ายทอดเทคโนโลยี สวพ.8 รายงานว่า มีเกษตรกรที่ได้การรับรอง รวม แปลง 15,114 แปลง 41,559 ไร่ อยู่ในจังหวัดสงขลา 2,636 แปลง 4,694 ไร่ พัทลุง 1,995 แปลง 5,126 ไร่ ตรัง 2,109 แปลง 3168 ไร่ สตูล 1,599 แปลง 4,297 ไร่ ปัตตานี 1,403 แปลง 4,617 ไร่ ยะลา 3,265 แปลง 14,020 ไร่ และนราธิวาส 2,107 แปลง 5,637 ไร่ ชนิดพืชที่รับรองครอบคลุมไม้ผลพืชผักเกือบทุกชนิดที่เกษตรกรนิยมปลูกในภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งได้ช่วยสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ไม่ต่ำกว่า 1,662 ล้านบาท และช่วยทำให้เกิดความปลอดภัยของอาหารมาต่ำกว่า 20,780 ตัน
ผอ. สวพ.8 กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านการติดตามสถานการณ์สารพิษตกค้างในผลผลิตพืช กลุ่มพัฒนาการตรวจสอบพืชและปัจจัยการผลิต สวพ.8 รายงานผลการสุ่มตัวอย่างวิเคราะห์สาเคมีตกค้างในผลผลิตพืช พบว่า ตั้งแต่ปี 2562-2565 สุ่มตัวอย่างจำนวน 882 ตัวอย่าง พบว่าสถานการณ์ความปลอดภัยทางอาหารดีขึ้นเป็นลำดับ คือพบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน เหลือเพียง 5% เท่านั้น ลดลงจากช่วงปี 2553-2558 ที่พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน 11% ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจได้ว่าผลผลิตพืชในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมีความปลอดภัยสูงเพิ่มขึ้นตามลำดับ เกษตรกรในภาคใต้ตอนล่างที่สนใจจะขอรับรองมาตรฐานสามารถติดต่อได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 จังหวัดสงขลา หรือที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรในทุกจังหวัด
นายธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ (ภาคใต้ตอนล่าง ) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในโอกาส World Food Safety Day 2022 ในปีนี้ FAO และ WHO ได้เผยแพร่สาระสำคัญที่อยากให้ทั่วโลกได้ตื่นตระหนักให้ความสำคัญ เช่น ให้ตระหนักถึงอาการป่วยที่เกิดจากอาหารไม่ปลอดภัย เช่น หนึ่งในสิบคนทั่วโลกจะป่วยจากอาหารที่ปนเปื้อนจากกินอาหารที่มีแบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต สารเคมี จุลินทรีย์ที่ดื้อต่อยาต้านจุลชีพ ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตประมาณ 700,000 คนทั่วโลก และประโยชน์ของอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ ที่จะส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในผู้ใหญ่ ตลอดจนช่วยสร้างเศรษฐกิจให้เติบโต นอกจากนั้น FAO ยังรณรงค์ในเรื่องต่าง ๆ เช่น If it is not safe, it is not food ถ้าไม่ปลอดภัย มันไม่ใช่อาหาร Food safety has a direct impact on health ความปลอดภัยของอาหารมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ Everyone is a risk manager ทุกคนเป็นผู้จัดการความเสี่ยง Food safety is based on science ความปลอดภัยของอาหารอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ Strengthening collaboration improves food safety เสริมสร้างความร่วมมือเพื่อปรับปรุงความปลอดภัยของอาหาร Investing in food safety today will reap future rewards ลงทุนในความปลอดภัยของอาหารในวันนี้จะเก็บเกี่ยวผลตอบแทนในอนาคต เป็นต้น
สำหรับด้านงานวิจัยและพัฒนาของ สวพ.8 นั้น ในปี 2565-2567 สวพ.8 ได้จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาเรื่องการจัดการผลิตพืชเพื่อเพิ่มเสถียรภาพทางรายได้และความมั่นคงทางอาหาร ใน 6 ชุมชนเกษตร ในจังหวัดสงขลา พัทลุง สตูล ยะลา และปัตตานี เพื่อจะเป็นชุมชนต้นแบบด้านการจัดการความมั่นคงทางอาหารชุมชน มีงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาการใช้สารสกัดจากพืชและการใช้จุลินทรีย์มาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้พืชมีความทนทานต่อการทำลายของโรคแมลง และการนำชีวภัณฑ์ไปใช้ในการลดสารเคมีทางการเกษตร เป็นต้น