#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด ท่าเรือสำราญเป็นอีกหนึ่งโครงการที่รัฐผลักดันให้มีการศึกษาการวางแผนแม่บทเพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) และสำรวจออกแบบท่าเรือสำราญขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งอันดามัน ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการศึกษาโครงการฯ
โครงการศึกษาฯ ประกอบด้วยพื้นที่ จ.ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ตและสตูล ที่มีความเหมาะสมจะพัฒนาเป็นท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) และจัดทำแผนแม่บทและทำการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม สิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมทั้งประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามหลักวิชาการและยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
“สรุปสั้นๆ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ พ.ศ. 2561-2570” ประเด็นยุทธศาสตร์หลัก 7 ด้าน คือ 1) การพัฒนาท่าเรือสำราญและสิ่งอำนวยความสะดวกหลังท่า 2)การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมแหล่งท่องเที่ยว เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการรองรับจำนวนและขนาดของแหล่งท่องเที่ยวปลายทางของนักท่องเที่ยวโดยเรือสำราญ บริเวณพื้นที่ท่าเรือหลัก ท่าเรือแวะพัก และท่าเรือรองรับจุดทอดสมอ 3) ยุทธศาสตร์ส่งเสริมด้านการตลาดและสนับสนุนสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดเรือสำราญ 4)ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงสาธารณูปโภคและระบบโดยสารสาธารณะ 5)การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบ 6) การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร และ 7) การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับท่องเที่ยวโดยสำราญ
ที่น่าสนใจ การพัฒนาท่าเรือสำราญของประเทศไทยจะเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก กับเอเชียตะวันตก รวมทั้งตลาดหลักของการท่องเที่ยวเรือสำราญในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และแปซิฟิคด้วย เน้นการท่องเที่ยวผสมผสานเส้นทางเดินเรือสำราญกับการท่องเที่ยวแบบ Overland Tour เมืองโดยรอบต่างๆของท่าเรือหลัก ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้เศรษฐกิจท้องถิ่นด้วย
“ธุรกิจเรือสำราญ” ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตของจำนวนครั้งที่เรือสำราญเข้าเทียบท่าสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในระหว่างปี 2557-2562 (ก่อนสถานการณ์โควิด-19) โดยมีอัตราการเติบโตของจำนวนครั้งที่เรือสำราญเข้าเทียบท่าสูงถึงร้อยละ 87.7 โดยในปี 2562 มีเรือสำราญที่เข้าเทียบท่าจำนวน 550 ครั้ง ซึ่งท่าเรือหลัก คือ ท่าเรือภูเก็ต ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือสมุย ตามลำดับ ทั้งนี้พบว่าประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 3 ของประเทศที่มีเรือสำราญเข้ามาท่องเที่ยวมากที่สุดของเอเชีย ช่วงปลายปี 2565 นี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวในธุรกิจเรือสำราญเริ่มกลับมาเช่นกัน
ปัจจุบันเทรนด์การท่องเที่ยวโดยเรือสำราญสามารถปรับใช้กับกลุ่มธุรกิจด้านการประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) มีแผนเตรียมความพร้อมสำหรับการส่งเสริมสนับสนุนโครงการพัฒนาสินค้าและบริการของเรือสำราญและอาหารพื้นถิ่นในจังหวัดโดยรอบ นอกจากนี้ความต้องการแรงงานไทยในธุรกิจเรือสำราญเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น กรมการจัดหางานได้จัดสรรหาตำแหน่งในเรือสำราญไม่ต่ำกว่า 1 พันอัตรา ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ที่จบการศึกษาด้านการโรงแรม หรือคนที่มีประสบการณ์การทำงานโรงแรมเข้าสู่ธุรกิจเรือสำราญในระดับสากล ตัวอย่างตำแหน่งงานที่มีความต้องการ เช่น บริการทำอาหาร และเครื่องดื่ม พนักงานต้อนรับ แม่บ้าน เป็นต้น
“แนวคิด Green Cruise Design” แนวคิดการพัฒนาท่าเรือสําราญให้ความสำคัญเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และต้องสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุน โดยใช้หลักการปฏิบัติและเทคโนโลยีเพื่อช่วยลดมลพิษทางอากาศจากเรือและท่าเรือ (Air Emission) การประหยัดพลังงาน (Energy Consumption) ควบคู่กับการใช้พลังงานสะอาด (Clean Energy) และการบริหารจัดการของเสียจากเรือ (Waste Management) ภายใต้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ท่าเรือสําราญท่ีสําคัญของโลกในกลุ่มสหภาพยุโรปได้มีการพัฒนาและกําหนดนโยบายในการสร้างท่าเรือและดําเนินกิจกรรม การขนส่งทางทะเลเพื่อลดผลกระทบต่อส่ิงแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยมีแผนงาน “Green Cruise Port Action Plan 2030” เป็นกรอบกําหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติซึ่งออกแบบ มาเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเรือสําราญ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ประเทศไทยควรมีแนวการพัฒนาท่าเรือสำราญให้สอดคล้องกับแนวคิดในลักษณะดังกล่าวตามเทรนด์โลก
โครงการแผนแม่บทเพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญฯ เป็นเรื่องที่น่าสนใจและเร่งผลักดันให้เกิดการเดินทางการท่องเที่ยวแบบครบวงจรระหว่างทางน้ำ ทางบกและทางอากาศ เพื่อเพิ่มรายได้การท่องเที่ยวเข้าประเทศมากขึ้น ที่สำคัญเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ