วันศุกร์ ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2565, 06.00 น.
ดร.จิระ สุวรรณประเสริฐ ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขต 8 (สวพ.8) กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้พัฒนาพืชอาหารปลอดภัยในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ สงขลา พัทลุง ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ด้านการตรวจสอบและให้การรับรองการผลิตพืชตามมาตรฐาน GAP และ เกษตรอินทรีย์ Organic Thailand ปัจจุบันกลุ่มถ่ายทอดเทคโนโลยี มีเกษตรกรที่ได้การรับรอง รวม แปลง15,114 แปลง 41,559 ไร่ อยู่ใน จ.สงขลา 2,636 แปลง4,694 ไร่ พัทลุง 1,995 แปลง 5,126 ไร่ตรัง 2,109 แปลง 3168 ไร่ สตูล 1,599 แปลง 4,297 ไร่ ปัตตานี 1,403 แปลง 4,617 ไร่ ยะลา 3,265 แปลง 14,020 ไร่ และนราธิวาส 2,107 แปลง5,637 ไร่ ชนิดพืชที่รับรองครอบคลุมไม้ผลพืชผักเกือบทุกชนิดสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 1,662 ล้านบาท
ดร.จิระกล่าวต่อว่า ด้านการติดตามสถานการณ์สารพิษตกค้างในผลผลิตพืช กลุ่มพัฒนาการตรวจสอบพืชและปัจจัยการผลิต สวพ.8 รายงานผลการสุ่มตัวอย่างวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในผลผลิตพืช พบว่า ตั้งแต่ปี 2562-2565 สุ่มตัวอย่าง 882 ตัวอย่าง พบว่าสถานการณ์ความปลอดภัยทางอาหารดีขึ้นเป็นลำดับ คือพบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน เหลือเพียง 5% เท่านั้น
ด้านนายธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ (ภาคใต้ตอนล่าง) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในโอกาส World Food Safety Day 2022 ในปีนี้ FAO และ WHO ได้เผยแพร่สาระสำคัญที่อยากให้ทั่วโลกได้ตื่นตระหนักให้ความสำคัญ เช่น ให้ตระหนักถึงอาการป่วยที่เกิดจากอาหารไม่ปลอดภัยคนทั่วโลกจะป่วยจากอาหารที่ปนเปื้อนจากการกินอาหารที่มีแบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต สารเคมี จุลินทรีย์ที่ดื้อยาต้านจุลชีพ ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตประมาณ 700,000 คนทั่วโลก และประโยชน์ของอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ ที่จะส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในผู้ใหญ่ ตลอดจนช่วยสร้างเศรษฐกิจให้เติบโต นอกจากนั้น FAO ยังรณรงค์ในเรื่องต่างๆ เช่น If it is not safe, it is not food ถ้าไม่ปลอดภัย มันไม่ใช่อาหาร Food safety has a direct impact on health ความปลอดภัยของอาหารมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ Everyone is a risk manager ทุกคนเป็นผู้จัดการความเสี่ยง เป็นต้น
ส่วนงานวิจัยและพัฒนาของ สวพ.8 ในปี 2565-2567 ได้จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาเรื่องการจัดการผลิตพืชเพื่อเพิ่มเสถียรภาพทางรายได้และความมั่นคงทางอาหารใน 6 ชุมชนเกษตร พื้นที่ จ.สงขลา พัทลุง สตูล ยะลา และปัตตานี เพื่อจะเป็นชุมชนต้นแบบด้านการจัดการความมั่นคงทางอาหารชุมชน มีงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาการใช้สารสกัดจากพืชและการใช้จุลินทรีย์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้พืชมีความทนทานต่อการทำลายของโรคแมลง และการนำชีวภัณฑ์ไปใช้ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร
ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายประพันธ์ สุขทะใจ ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น