เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เปิดผลคัดเลือก 18 สุดยอดนายอำเภอ-ทีม พ่วงโครงการนำร่อง จาก กว่า 800 อำเภอ 76 จังหวัด 18 กลุ่มจังหวัด ที่สมัครเข้าคัดเลือกจากสารพัดนโยบายรัฐ ตามนโยบายมหาดไทย “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ดันเป็น “นายกรัฐมนตรีที่ดีของอำเภอ” ร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน
วันนี้ (30 ก.ค.) มีรายงานจากระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามผลการคัดเลือก นายอำเภอและทีมอำเภอ “18 ทีมอำเภอ”
ตามโครงการอำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข บูรณาการสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง กระทรวงมหาดไทย ที่ผ่านการเข้ารับการคัดเลือก ตลอดเดือน มิ.ย.- ก.ค. 2565 เป็น “สุดยอด 18 อำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”
จาก คณะทำงานเฉพาะกิจฯ กว่า 800 อำเภอ ภายหลังสำเร็จการฝึกอบรมทุกภูมิภาค เพื่อให้เป็น“นายกรัฐมนตรีที่ดีของอำเภอ”
ประกอบไปด้วย นายอำเภอแม่อาย จ.เชียงใหม่ นายอำเภอแม่ใจ จ.พะเยา นายอำเภอเมืองพิษณุโลก นายอำเภอตะพานหิน จ.พิจิตร นายอำเภอโนนสะอาด จ.อุดรธานี นายอำเภอปลาปาก จ.นครพนม นายอำเภอเมืองขอนแก่น นายอำเภอศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ นายอำเภอปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ
นายอำเภอหันคา จ.ชัยนาท นายอำเภอไทรน้อย จ.นนทบุรี นายอำเภอปากท่อ จ.ราชบุรี นายอำเภอหนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี นายอำเภอพนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา นายอำเภอแหลมงอบ จ.ตราด นายอำเภอเทพา จ.สงขลา นายอำเภอมะนัง จ.สตูล และนายอำเภอเมืองยะลา
สำหรับ 18 โครงการที่ผ่านคัดเลือก ประกอบด้วย 1) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ได้แก่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ “โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแบบพุ่งเป้า” 2) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ได้แก่ อ.แม่ใจ จ.พะเยา “โครงการการบริหารจัดการน้ำและสืบสาน รักษา ต่อยอดตามศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาแม่ใจอย่างยั่งยืน”
3) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ได้แก่ อ.เมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก “โครงการปลุกพลังความคิด ปรับวิถีชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียง เปลี่ยนเมืองพิษณุโลกสู่ความยั่งยืน (SDGs) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน”
4) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ได้แก่ อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร “โครงการแก้จนคนตะพานหินตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยพลัง บวร”
5) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ได้แก่ อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี “โครงการการส่งเสริมอาชีพเพื่อคุณภาพชีวิต คนโนนสะอาด ตามศาสตร์พระราชาสู่ความยั่งยืน” 6) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 ได้แก่ อ.ปลาปาก จ.นครพนม “โครงการรักษ์ปลาปาก จากโคกหนองนา สู่เขตเศรษฐกิจพอเพียง”
7) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ได้แก่ อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น “โครงการลำห้วยพระ คือ สายน้ำแห่งชีวิต ฟื้นเศรษฐกิจชุมชน”
8) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ได้แก่ อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ “โครงการรักษ์น้ำ (ใจ) สู่ทฤษฎีใหม่ประยุกต์ เพื่อพลิกชีวิตและความหวัง” 9) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ได้แก่ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ “โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
10) กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน ได้แก่ อ.หันคา จ.ชัยนาท “โครงการทำมันให้มีรอยยิ้ม” 11) กลุ่มจังหวัดภาคกลางปริมณฑล ได้แก่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี “โครงการ Care คลอง Care คุณ” 12) กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 ได้แก่ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี “โครงการขันโรงเปลี่ยนคน น้ำสร้างชีวิต”
13) กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ได้แก่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี “โครงการหนองหญ้าปล้องพร้อมใจสร้าง 710 ฝ่ายมีชีวิตพิชิตภัยธรรมชาติ”
14) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา “โครงการการบริหารจัดการน้ำคลองท่าลาดด้วยศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต” 15) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 2 อ.แหลมงอบ จ.ตราด “โครงการเพิ่มศักยภาพและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก”
16) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย อ.เทพา จ.สงขลา “โครงการดาหลาบารูสู่ความเพียร” 17) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน อ.มะนัง จ.สตูล “โครงการน้ำเปลี่ยนชีวิต สร้างเศรษฐกิจ มะนังมั่นคง” และ 18) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน อ.เมืองยะลา จ.ยะลา “โครงการจาโปตาแง แก้จน คนเมืองยะลา”
ทั้ง “18 ทีมอำเภอ” จะได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อนำข้อเสนอโครงการของแต่ละพื้นที่มาถก มาแลกเปลี่ยน มาช่วยกันเสริมเติมเต็มให้เกิดความสมบูรณ์ โดยทีมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย เพื่อทำให้ข้อเสนอไปสู่การ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ต่อไป