นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต มาตั้งแต่ปี 2517 ซึ่งริเริ่มโดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน โดยเริ่มดำเนินการครั้งแรก จำนวน 2 แห่ง คือ ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2517 ต่อมาได้กำหนดให้วันที่ 6 มีนาคมของทุกปีเป็นวันคล้ายวันก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และกำหนดให้วันที่ 6 – 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นสัปดาห์รณรงค์การประหยัดและการออมของประชาชน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นกองทุนชุมชนที่สำคัญ โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมให้ประชาชนมารวมตัวกันออมเงินตามศักยภาพของตนเอง เป็นการสร้างหลักประกัน สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สมาชิกในครัวเรือนและช่วยเหลือคนในชุมชน ซึ่งดำเนินการภายใต้หลักการ “ใช้เงินเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน ” ให้คนมีคุณธรรม 5 ประการ ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความรับผิดชอบ ความเห็นอกเห็นใจกัน และความไว้วางใจกัน และพัฒนาคนให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการชุมชนของตนเอง เรียนรู้การทำงานร่วมกันในรูปแบบ
“กระบวนการกลุ่ม” และใช้ “สัจจะออมทรัพย์” เป็นเครื่องมือในการสร้างวินัยการออมของสมาชิก ปัจจุบันมีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จำนวน 19,222 กลุ่ม สมาชิก 5.2 ล้านคน มีเงินสัจจะสะสมกว่า 34,900 ล้านบาท สมาชิกกลุ่มฯ ได้รับประโยชน์ในการกู้ยืมเงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนประกอบอาชีพ และแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัว ลดการพึ่งพาแหล่งทุนภายนอก จำนวน 1.2 ล้านคน คน เป็นจำนวนเงิน 24,300 ล้านบาท นอกจากนี้ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตสามารถดำเนินกิจกรรมเครือข่ายหรือกิจกรรมเชิงธุรกิจชุมชน เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกและชุมชน เช่น ศูนย์สาธิตการตลาด ยุ้งฉาง ธนาคารข้าว ลานตากผลผลิต โรงสีข้าวชุมชน โรงน้ำดื่มชุมชน เป็นต้น ซึ่งเป็นการฝึกหัดการดำเนินธุรกิจในระบบกลุ่ม เพื่อให้เกิดรายได้ของกลุ่ม เพื่อนำไปดำเนินกิจกรรมการพัฒนาด้านต่าง ๆ และจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกและชุมชน
ทั้งนี้ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่มีการบริหารจัดการที่ดี มีความเข้มแข็ง มีอาคารสถานที่เหมาะสม คณะกรรมการมีศักยภาพในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตอื่น ๆ ที่ยังไม่เข้มแข็ง ภายใต้แนวคิด “พี่สอนน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน” เป็น “โรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต” ซึ่งมี 8 แห่งทั่วทุกภาค และกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่เข้มแข็ง ยังเป็นแกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อนศูนย์จัดการกองทุนชุมชน (ศจก.)
โดยการประสานงานและบูรณาการกองทุนต่าง ๆ ในชุมชน เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน นำไปสู่การลดหนี้และปลดหนี้ แก้ปัญหาทางการเงินของครัวเรือนเป้าหมายอย่างได้ผลดี และเนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ครัวเรือนมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย อัตราการออมครัวเรือนลดลง ส่งผลให้ครัวเรือนมีเงินสำรองไม่เพียงพอ และมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนทางการเงินอย่างรอบคอบ