สถานการณ์โควิดในไทยยังแกว่ง แม้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวัน ตามรายงาน ศบค. จะ “ลดลง” ก็ตาม แต่ยอดติดเชื้อยังพุ่งทะลุหลักหมื่น และเสียชีวิตกว่าร้อยศพต่อวัน โดยยอดใน กทม.เริ่มทรงตัว “ติด-ตาย” ลดลง แต่ในต่างจังหวัดยังพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มใหญ่อีกเพียบ
ขณะที่หลายฝ่ายยังเป็นห่วงภาพรวม “ความจริง” ของการแพร่ระบาดโควิดในไทย ที่สถานการณ์ยังคงไม่นิ่ง ซึ่งอาจโดนเชื้อร้ายย้อนกลับมาเล่นงานได้อีกระลอก ล่าสุดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็ไม่รอช้า เตรียมการเปิดประเทศระยะที่ 2 เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพิ่มอีก 5 จังหวัด ต.ค.นี้ ได้แก่ ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และ เชียงใหม่ 1 ต.ค.นี้ ส่วน กรุงเทพมหานคร เล็งชงเปิดเป็นคิวต่อไป 15 ต.ค. เพื่อหวังช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ ท่ามกลาง “ความเสี่ยง” โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.ที่ยังฉีดวัคซีนเข็ม 2 ไม่ถึงเป้า 70%!!!
เริ่มนำร่องเปิดประเทศ 1 ต.ค.นี้
หลายคนคงมีคำถาม? โดยเฉพาะคนในจังหวัด ที่มีแผนจะเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว 1 ต.ค.นี้ ว่า ศบค.มีแผนจัดการและรับมืออย่างไร นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่า นายกฯ ในฐานะ ผอ.ศบค.สั่งการว่า ให้มองไปถึงฤดูกาลท่องเที่ยวปกติ คือ ไตรมาส 4 ของทุกปี หรือไฮซีซั่น เพื่อดูว่าต้องเตรียมตัวกันอย่างไร ให้ไปดูในพื้นที่เพื่อประกาศพื้นที่นำร่อง คือ
- 1) พื้นที่นำร่องท่องเที่ยวปลอดภัยจากโควิด หรือ “โควิดฟรีทัวริสต์แอเรีย แซนด์บ็อกซ์” ที่มีภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เป็นตัวอย่าง จึงมอบให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ไปร่วมกันพิจารณา เช่น พื้นที่เกาะ พื้นที่ที่มีสนามบิน
- 2) ต้องมีมาตรการป้องกันและควบคุมโควิดในพื้นที่นั้นๆ ต้องได้รับความเห็นชอบในการดำเนินการ
- 3) มีขีดความสามารถในการรักษา โดยให้พิจารณาระยะแรกเป็นพื้นที่นำร่อง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป หากมีความพร้อมให้เปิดทดลองดำเนินการ ส่วนระยะที่สองอาจจะเป็นพื้นที่อื่นๆ อาจเป็นในช่วงระยะเวลา 15 ต.ค. หรือ 1 พ.ย. ไปแล้ว ที่อาจจะเปิดพื้นที่ที่มีความพร้อมอื่นๆ เช่น ทะเลในภาคตะวันออก ภูเขาในภาคเหนือ หากพร้อมให้ทดลองดำเนินการ
ททท.ย้ำระยะ 2 เปิด 4 จว.ตามแผนเดิม-กทม.ขยับ
ด้าน นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า แผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามนโยบายเปิดประเทศใน 120 วันของนายกฯ โดยได้เดินหน้าแผนระยะที่ 1 สำเร็จแล้ว คือ การทดลองเปิดพื้นที่นำร่องในรูปแบบ “แซนด์บ็อกซ์” ได้แก่ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ เขาหลัก จ.พังงา เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ จ.กระบี่ รวมถึงเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี
ส่วนแผนระยะที่ 2 นั้น ขณะนี้ยังยืนยันเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ แม้จากเดิมได้วางไว้ว่า จะเปิดเพิ่มทั้งหมด 5 จังหวัด ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ แต่จากการประเมินความพร้อมในการฉีดวัคซีนให้คนในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 70% เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้น พบว่า มีแค่ 4 จังหวัดที่พร้อมเปิดได้ตามแผน ได้แก่ จ.ชลบุรี (พัทยา อ.บางละมุง อ.สัตหีบ) จ.เชียงใหม่ (อ.เมือง อ.แม่แตง อ.แม่ริม อ.ดอยเต่า) จ.เพชรบุรี (ชะอำ) และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน)
ส่วน กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เลื่อนออกไปเปิดรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 15 ต.ค.นี้แทน เนื่องจากต้องรอให้ฉีดวัคซีนให้คนในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 70% ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ก่อน เพราะแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะถัดไปนั้น กำหนดว่าทุกพื้นที่ที่เปิดนำร่อง “จะไม่มีการกักตัว” นักท่องเที่ยวในห้องพัก โดยหากตรวจหาเชื้อภายในสนามบินเมื่อถึงประเทศไทยแล้วพบว่า ไม่มีเชื้อโควิด ก็สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทันที ซึ่งเป็นการนำหลักการของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มาใช้ในพื้นที่ เพื่อเป็นรูปแบบการเปิดประเทศต่อไป
เล็งเปิดระยะ 3 อีก 25 จว. 15 ต.ค.นี้
นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ถัดไปจะเป็นระยะที่ 3 ซึ่งกำหนดว่าจะเริ่มในวันที่ 15 ต.ค. 64 จากแผนล่าสุดจะเป็นการเปิดเพิ่มอีก 25 จังหวัด ดังนี้
- ภาคเหนือ : จ.ลำพูน จ.แพร่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงราย จ.สุโขทัย
- ภาคอีสาน : จ.อุดรธานี จ.หนองคาย จ.บึงกาฬ จ.อุบลราชธานี จ.เลย (เชียงคาน) จ.ขอนแก่น จ.นครราชสีมา
- ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี และ จ.ราชบุรี
- ภาคตะวันออก : จ.ระยอง จ.จันทบุรี และ จ.ตราด
- ภาคกลาง : จ.พระนครศรีอยุธยา
- ภาคใต้ : จ.นครศรีธรรมราช จ.ระนอง จ.ตรัง จ.สตูล จ.สงขลา และ จ.พัทลุง
โดยการดำเนินทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้ความพร้อมของผู้ว่าราชการประจำจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หลายคนในพื้นที่เห็นชอบด้วย ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด
ระยะ 4 มีแผนเปิด 1-15 ม.ค.ปีหน้า
นายยุทธศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนระยะที่ 4 กำหนดในวันที่ 1-15 ม.ค. 65 เป็นการเปิดพื้นที่จังหวัดติดชายแดนเพื่อนบ้าน ท่องเที่ยวระหว่างกัน ในรูปแบบการจับคู่ท่องเที่ยวระหว่างกัน (ทราเวล บับเบิล) ได้แก่
- 1.กัมพูชา เชื่อมกับ จ.สุรินทร์ (ช่องจอม) จ.สระแก้ว (อรัญประเทศ) จ.ตราด (เกาะกง)
- 2.พม่า เชื่อมกับ จ.เชียงราย (ท่าขี้เหล็ก) จ.ตาก (แม่สอด) จ.ระนอง (เกาะสอง)
- 3.ลาว เชื่อมกับ จ.นครพนม จ.หนองคาย จ.มุกดาหาร
- 4.มาเลเซีย เชื่อมกับ จ.ยะลา (เบตง) จ.นราธิวาส (สุไหงโก-ลก) จ.สงขลา (ด่านนอก ปาดังเบซาร์) จ.สตูล (วังประจัน)
“ในพื้นที่ 4 จังหวัด ที่กำหนดเปิดในวันที่ 1 ต.ค.นี้ จากการประเมินความพร้อมยังยืนยันว่า สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ตามกำหนดแน่นอน ส่วนในพื้นที่ตามแผนระยะที่ 3 และระยะที่ 4 นั้น หากพื้นที่ใดมีความพร้อมสูงสุด ก็จะสนับสนุนการเปิดในพื้นที่นั้นๆ ก่อน เพื่อทยอยฟื้นบรรยากาศในภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาเร็วที่สุด ส่วนเงื่อนไขที่นักท่องเที่ยวจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เมื่อเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยนั้น โดยเฉพาะการตรวจหาเชื้อโควิดผ่านวิธีอาร์ทีพีซีอาร์ ทั้งหมด 3 ครั้ง จะสามารถลดลงเหลือ 1 ครั้ง ภายในสนามบินเมื่อถึงไทยได้หรือไม่ เพื่อดึงดูดความน่าสนใจในการมาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ททท.ยังจะต้องหารือร่วมกับ ศบศ. ให้พิจารณาว่าสามารถปรับลดลงได้หรือไม่อย่างไรอีกครั้ง”
รอ ศบค.เคาะวันเปิด “กทม.แซนด์บ็อกซ์”
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวชี้แจงถึงความชัดเจนของการเปิดพื้นที่นำร่อง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว รวมถึง กทม.ในเดือน ต.ค.ว่า มีการรายงานว่ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้หารือร่วมกับ กทม. และมีการเสนอแผนว่า จะมีการจัดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว “กทม.แซนด์บ็อกซ์” เรื่องนี้ ศบค.ชุดเล็กได้รับทราบ แต่ยังไม่ถือว่าเป็นมติที่อนุมัติในเรื่องเปิด กทม.แซนด์บ็อกซ์ 15 ต.ค.นี้
“เพราะการเสนอแผนจะต้องทำเป็นขั้นตอน มีการหารือพื้นที่ มีการหารือร่วมกัน และจำเป็นจะต้องเสนอผ่านกระทรวงสาธารณสุข ให้มีการตรวจสอบในเรื่องมาตรการอย่างรอบคอบ ประณีต รัดกุม เพราะ กทม.เป็นพื้นที่ใหญ่ มีความหลากหลาย จะต้องพิจารณาอย่างละเอียด และเมื่อสาธารณสุขได้พิจารณาแล้ว จะมีการหารือร่วมกับ ศปก.ศบค. หรือ ศบค.ชุดเล็ก และต้องมีการเสนอผ่านการอนุมัติจาก ศบค.ชุดใหญ่”
ผู้ว่าฯ กทม.ยันไม่เคยบอกเปิดเมือง 15 ต.ค.นี้
ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ตนไม่เคยพูดว่าจะเปิดเมืองวันที่ 15 ต.ค.นี้ เพราะการจะเปิดเมืองต้องคำนึงถึงคนส่วนใหญ่ และการป้องกันโรคก่อน หากเปิดแล้วเกิด super spreader อีก จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการ อีกทั้ง กทม.ยังฉีดวัคซีนโดสที่ 2 ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายใน กทม.ไม่ถึง 70% ตามเป้าหมายที่วางไว้จะครบ 70% วันที่ 22 ต.ค. 64 ตนได้ประสานกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเร่งรัดการส่งมอบวัคซีนให้เร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้ กทม.มียอดฉีดวัคซีนโดส 2 ไปแล้ว 40% หากกระทรวงสาธารณสุขเร่งส่งมอบวัคซีนเข้ามา ก็พร้อมฉีดได้ทันที ดังนั้นควรจะต้องฉีดวัคซีนโดสที่ 2 ให้ครบ 70% ก่อน แล้วค่อยมาคิดกันอีกที
“การเปิดกรุงเทพฯแซนด์บ็อกซ์ ต้องถามผมสิ ผมมีอำนาจสั่งปิด หรือเปิดเมือง คนที่พูดไม่มีอำนาจ” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวย้ำ
กทม. ส่งสัญญาณเปิดเมือง 8 พ.ย.
ด้าน ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวเพิ่มเติมว่า เงื่อนไขในการเปิด “กรุงเทพฯแซนด์บ็อกซ์” นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว ยังมีเรื่องของการคัดกรองบุคคลที่จะเข้าเมืองอีก ซึ่งจะต้องหารือกับรัฐบาล และ ศบค.ในลำดับถัดไป
“หากฉีดวัคซีนโดส 2 ครบภายในวันที่ 22 ต.ค.นี้ ก็จะต้องนับเวลาเฝ้าดูอาการอีกสูงสุด 14 วัน ซึ่งจะไปตกประมาณวันที่ 8 พ.ย. 64 ซึ่งตามแผนของ กทม. เราแสดงเจตจำนงว่า เมื่อมีประชากรฉีดวัคซีนแล้ว 70% ก็ถือว่ามีความพร้อมในระยะเริ่มต้น แต่ในการจะเปิดเมืองนั้น ต้องหารือกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาล และ ศบค. พิจารณาร่วมกันอีกที”
ดึงดันเปิด กทม.ตามแผนเดิม
นอกจากนี้ มีรายงานว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา มีข้อสั่งการให้ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมข้อมูลเสนอที่ประชุม ศบค.ในวันที่ 23 ก.ย.นี้ เพื่อพิจารณาแผนการเปิดประเทศเพิ่มอีก 5 เมือง ได้แก่ กทม. ชลบุรี (พัทยา อ.บางละมุง อ.สัตหีบ) เพชรบุรี (ชะอำ) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) เชียงใหม่ (อ.เมือง แม่แตง แม่ริม ดอยเต่า) ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ แต่ของ กทม.ขณะนี้ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้วกว่าร้อยละ 90 แต่เข็มที่ 2 ฉีดไปแล้วเพียงร้อยละ 37 คาดว่าประมาณวันที่ 22 ต.ค. ถึงจะฉีดเข็ม 2 ให้ครอบคลุมจำนวนประชากรใน กทม.ได้ถึงร้อยละ 70 หากเร่งการฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้น จะสามารถเปิด กทม.ได้เร็วขึ้น เช่น ถ้าเร่งให้ฉีดเข็ม 2 ได้ครบร้อยละ 70 ในวันที่ 5 ต.ค. สามารถเปิดเมืองได้ 15 ต.ค.เป็นต้น และจะหารือกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอรับวัคซีนให้เร็วขึ้น และในวันที่ 22 ก.ย.นี้ ททท.จะประชุมร่วมกับภาคเอกชนใน กทม. เพื่อหาแนวทางร่วมกันต่อไป
ห่วงไทยเปิดประเทศ ผวาโควิดพุ่ง หวั่นเหมือนภูเก็ต
ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีการเดินหน้าเปิดประเทศ 1 ต.ค.ว่า ที่เป็นห่วงคือสายพันธุ์ใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้น และจะมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีน การเปิดประเทศให้มีการท่องเที่ยวนั้น เป็นการคิดเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่อยากให้นำบทเรียนของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มาประกอบการพิจารณาด้วย เพราะแม้ฉีดวัคซีนครบแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อ หากยกเลิกมาตรการกักตัวก็น่าเป็นห่วง เพราะการทำแซนด์บ็อกซ์หมายถึงการพิสูจน์จำลองเหตุการณ์บางพื้นที่เท่านั้น ไม่ใช่พื้นที่ทั้งหมด สามารถยกเลิก หรือแก้ไขได้ การเปิดประเทศที่ไทยกำลังจะทำถือว่าเปิดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ การเปิดประเทศในต่างประเทศหมายความว่า ประเทศนั้นๆ ฉีดวัคซีนเกิน 70% แล้ว
แนะชะลอ 1 เดือน เตือนใครทำอะไร ต้องรับผิดชอบด้วย!
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า แต่สำหรับไทย การฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ยังได้แค่ 38% เข็ม 2 เพียง 18% หากต้องการความแน่นอนว่าเปิดจริงมีความปลอดภัย ต้องฉีดวัคซีนเข็ม 1 ให้ได้ 60% เข็ม 2 ต้องได้ 40-50% แต่จะเร่งฉีดตอนนี้ก็คงไม่ได้ ความจริงหากจะเปิดประเทศ รออีกสัก 1 เดือนก็ได้ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกอย่างพร้อมจริงๆ
“ดังนั้นใครทำอะไร ต้องรับผิดชอบด้วย จากนี้การทำงานของแพทย์คงต้องกลับมาเหนื่อยกันอีก ยังแทบไม่ได้พักกันเลย สิ่งที่ห่วงคือหากมีการกลับมาระบาดอีก เตียงผู้ป่วย เตียงไอซียู ต้องเพียงพอ ไม่ควรต้องเผชิญกับเตียงไม่พออีก หวังว่าจะไม่เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่มีผลต่อวัคซีน”.
ผู้เขียน : หงเหมิน
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun