โฆษกรัฐบาล เผย ครม.ผ่านร่างพ.ร.ฎ 4 ฉบับ ขยายระยะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี พัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 และรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ ถึงสิ้นปี 65 รับทราบมติคกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผ่านรายงาน EIA 4 โครงการ
วันนี้ (25พ.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 4 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0) 2. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบอัตโนมัติ) 3. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูง) และ4. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 4 ฉบับนั้น เป็นการขอขยายระยะเวลาการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อจูงใจนักลงทุนให้มีการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 ส่งเสริมการลงทุนในเครื่องจักรและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเครื่องจักรตามโครงการลงทุนในระบบอัตโนมัติ ส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูง และส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง โดยยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคทรัพย์สินให้แก่ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 ที่จัดตั้งโดยสถานศึกษา แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ลงทุนในระบบอัตโนมัติ นอกจากนี้ ยังเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้มีการจ้างงานบุคลากรผู้มีทักษะสูง ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ตลอดจนยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับรายจ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูงออกไปอีก 2 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เพื่อส่งเสริมการลงทุนให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่องด้วย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา – ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน 2. โครงการถนนเลี่ยงเมืองสตูลฝั่งตะวันออก ตำบลคลองขุด ตำบลพิมาน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล 3. โครงการศึกษาออกแบบระบบขนส่งมวลชนโดยระบบราง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และ 4.โครงการทางหลวงหมายเลข 203 โดยให้ทั้ง 4 โครงการ ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด และให้ตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามมาตรการฯ ที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา – ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ให้ดำเนินการเพิ่มเติมในประเด็นต่าง ๆ เช่น การกำหนดแนวทางการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุที่เกิดจากการก่อสร้าง และการพิจารณาจุดจอดที่สถานี YLEX01 (บริเวณสำนักงานศาลยุติธรรม) และทางเชื่อมยกระดับที่เหมาะสม โครงการถนนเลี่ยงเมืองสตูลฝั่งตะวันออก ตำบลคลองขุด ตำบลพิมาน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ให้ดำเนินการเพิ่มเติมในประเด็นการป้องกัน เฝ้าระวังการรุกล้ำใช้ประโยชน์และการขยายตัวของชุมชนในพื้นที่ที่ผ่านป่าชายเลนเสื่อมโทรม และมาตรการด้านสาธารณสุขสำหรับประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง และ โครงการทางหลวงหมายเลข 203 ให้ประสานกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เกี่ยวกับการควบคุมไม่ให้มีผลกระทบต่อภูมิทัศน์และพื้นที่ป่าไม้บริเวณนอกพื้นที่ก่อสร้าง
นอกจากนี้ ครม. ยังรับทราบการปรับปรุงมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากท่าเทียบเรือประมงบางประเภท และเห็นชอบตามร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากท่าเทียบเรือประมงบางประเภท (ได้แก่ ท่าเทียบเรือประมงพาณิชย์ ท่าเทียบเรือประมงสำหรับการนำเข้าสัตว์น้ำ ท่าเทียบเรือประมงของโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ และท่าเทียบเรือประมงที่มีการขนถ่ายสัตว์น้ำสำหรับการผลิตอาหารสัตว์) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาลงนามต่อไป