“ครูณัฐ” ครูกลางป่า ใช้ห้องเรียนธรรมชาติสอนเด็กๆ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวมานิ กลุ่มเปราะบาง ที่ยังเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาของภาครัฐ
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
เฟสบุ๊คชื่อ “ครูณัฐ จิตอาสาทำดีด้วยใจ” โพสต์คลิปเด็กๆ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวมานิ ที่ช่วยกันอ่านอักษรและพยัญชนะภาษาไทย ส่งเสียงกันแบบชัดถ้อยชัดคำ
เป็นผลงานที่สุดภาคภูมิใจของ “ครูณัฐ” หรือ ครูณัฐนันท์ โอมเพียร อายุ 56 ปี คุณครูสอนวิชาภาษาไทย โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ในตัวเมืองละงู จังหวัดสตูล
ที่ใช้ช่วงเวลาวันว่าง เสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตกฤษ ขี่รถจักรยานยนต์คู่ใจ ไป-กลับ รวมระยะทาง 100 กิโลเมตร
ยังไม่รวมระยะทางการเดินเท้าเข้าป่า เพื่อไปหาเด็กๆ ชาวมานิ พร้อมอุปกรณ์การสอน อยู่บนเนินเขาในป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด
ซึ่งต้องจอดรถ และเดินเท้า เข้าไปสอนถึงทับ หรือที่พักของชาวมานิ โดยใช้พื้นที่ลานกลาง พักชองชาวมานิ ภายในป่าเป็นห้องเรียนเคลื่อนที่ ซึ่งปฏิบัตเช่นนี้ ต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมา
“ครูณัฐ” มีความตั้งใจว่า อยากจะช่วยปูพื้นฐานด้านการศึกษาให้เด็กๆ ชาวมานิ เพื่อส่งต่อการเข้าระบบการศึกษาในระดับชั้นต่อไป
เมื่อครั้งแรงยามเห็นศักยภาพของเด็กๆ เหล่านี้ เพียงแค่เราต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับเขาก่อน จากนั้น ครอบครัวและเด็กๆ ก็จะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
สิ่งที่ ครูณัฐ มุ่งหวังคือ ให้ เด็กๆ เหล่านี้ ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับเหมือนเด็กๆ ทั่วไป แต่นั่นมีถึงความจริงใจของทุกฝ่าย ในการเข้ามาช่วยเหลือและรับรู้ข้อจำกัดของพวกเขาเท่านั้น
วิชาที่ “ครูณัฐ” สอน จะเป็นวิชา ภาษาไทย คณิตศาสตร์ เพื่อปูพื้นฐานในการอ่านออก และเขียนได้ รวมทั้งการนับเลขได้ เพื่อสื่อสาร และป้องกันการถูกหลอกจากคนไม่หวังดี
นอกจากนี้ การละเล่นเพื่อละลายพฤติกรรม จะยิ่งสร้างความสนิทสนม และได้รับความร่วมมือกับครอบครัวและเด็กๆ ชาวมานิได้เป็นอย่างดี ซึ่ง ครูณัฐ บอกว่า จะสอนไปแบบนี้จนกว่าเรียวแรงจะหมดไป
นายคะนึง จันทร์แดง อายุ 71 ปี บุคคลอีกคนที่ชาวมานิ ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ บอกว่า ยอมรับในน้ำใจของครูณัฐ ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ โดยใช้เวลา เสาร์ อาทิตย์ ขี่รถจักรย่นยนต์มาจากตัวเมืองละงู ระยะทางไปกลับร่วม 100 กิโลเมตร
โดยไม่มีค่าจ้าง มาด้วยหัวใจ เพียงต้องการช่วยเหลือด้านการศึกษาจากใจจริงเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนหนังสือ ยอมรับและนับถือในน้ำใจว่า เป็นครูจิตอาสาตัวจริง ที่ทำเพื่อคนอื่น
สำหรับเด็ก ๆ เยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวมานิ กลุ่มนี้น้อยมากจนแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้ ในการเข้าถึงระบบการศึกษา ด้วยจำกัดในเงื่อนไข สภาพทางครอบครัว พื้นที่ห่างไกล การจะส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียนในหมู่บ้านจึงเป็นเรื่องยากทำสำหรับพวกเขา หากภาครัฐไม่จริงใจและยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ให้เข้าถึงระบบการศึกษา ที่พวกเขาควรจะได้รับเหมือนกับเด็ก ๆ ทั่วไป