ติดเชื้อโควิดรายวันยังทะลุ 1.4 หมื่นคน เสียชีวิต 119 ราย สาหัสอีก 4 พัน คลัสเตอร์ใหม่ผุดเป็นดอกเห็ด กระจายในหลายจังหวัด เพชรบูรณ์สั่งปิดโรงงานไก่สดหลังตรวจ 3 พันติดเชื้อกว่าพันคน โชคดีฉีดซิโนฟาร์มไปแล้วยังไม่มีใครอาการหนัก ส่วนที่สงขลาหลังทลายปาร์ตี้ริมสระน้ำในโรงแรมดังพบติดเชื้อแล้ว 5 คน
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,260 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 13,593 ราย ซึ่งมาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 9,714 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 3,879 ราย, จากเรือนจำและที่ต้องขัง 655 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 12 ราย
ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 481,967 ราย ผู้หายป่วยเพิ่ม 7,637 ราย ยอดรวมหายป่วยแล้ว 327,789 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 150,248 ราย อาการหนัก 4,099 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 939 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 119 ราย เป็นชาย 66 ราย หญิง 53 ราย อยู่ใน กทม. 61 ราย, สมุทรสาคร 7 ราย, นครปฐม 6 ราย, ปทุมธานี 5 ราย, นราธิวาส ชลบุรี นครนายก พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี จังหวัดละ 3 ราย, นครสวรรค์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ จังหวัดละ 2 ราย, สมุทรปราการ ยะลา สงขลา สตูล ชุมพรนครศรีธรรมราช เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม อุทัยธานี สิงห์บุรี พิจิตร สุโขทัย เลยร้อยเอ็ด นครพนม นครราชสีมา หนองบัวลำภู อุบลราชธานี จังหวัดละ 1 ราย
ทำให้ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตสะสม 3,930 ราย ส่วนการฉีดวัคซีนวันที่ 23 ก.ค. เพิ่มขึ้น 352,879 โดส ทำให้ขณะนี้มียอดฉีดสะสม 15,741,818 โดส ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ป่วยสะสม 194,048,867 ราย เสียชีวิตสะสม 4,160,217 ราย
สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน 10 อันดับแรก ได้แก่ กทม. 2,745 ราย, สมุทรสาคร 1,054 ราย, สมุทรปราการ 908 ราย, นนทบุรี 663 ราย, ชลบุรี 662 ราย, ฉะเชิงเทรา 385 ราย, ระยอง 332 ราย, กาญจนบุรี 294 ราย, ปทุมธานี 285 ราย และอุบลราชธานี 224 ราย ส่วนคลัสเตอร์ใหม่พบกระจายในหลายจังหวัด ได้แก่ จ.สมุทรสาคร อ.เมืองฯ พบ 2 คลัสเตอร์ ในโรงงานอาหารแช่แข็ง 15 ราย และบริษัทผักผลไม้พร้อมทาน 20 ราย, จ.สมุทรปราการ อ.เมืองฯ พบ 2 คลัสเตอร์ ในแคมป์ก่อสร้าง 54 ราย และโรงงานรองเท้า 29 ราย, จ.กาญจนบุรี อ.ท่ามะกา พบผู้ติดเชื้อที่โรงงานอาหารแช่แข็ง 141 ราย, จ.พัทลุง อ.กงหรา พบในโรงเรียนประถมศึกษา 14 ราย และ จ.จันทบุรี อ.เมืองฯ พบในโรงงานไม้ยางพารา 24 ราย
นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า หลังจากจังหวัดได้รับรายงานการติดเชื้อของคนงาน จึงสั่งให้มีการปิดโรงงานชั่วคราว พร้อมทั้งระดมเจ้าหน้าที่ตรวจหาเชื้อเชิงรุกในกลุ่มคนงานทั้งหมดที่มีประมาณ 6,000 คน สามารถตรวจไปแล้วกว่า 3,000 ราย พบผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 1,000 ราย และในวันนี้ทีมเจ้าหน้าที่ก็ได้ดำเนินการตรวจเชิงรุกต่อ
รวมทั้งสั่งให้มีการตั้งโรงพยาบาลสนามภายในบริษัทซึ่งมีพื้นที่หลายพันไร่ ขนาด 3,000 เตียงไว้รอรองรับผู้ป่วย เพราะคาดว่าหากตรวจแรงงานทั้งหมดแล้วอาจจะมีผู้ป่วยถึง 3,000 ราย แต่ถ้าหากมีผู้ติดเชื้อมากกว่านี้ ก็พร้อมที่จะขยายโรงพยาบาลสนามออกไปได้อีกตามจำนวนผู้ติดเชื้อ
โดยทางทีมหมอและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์จะเข้าไปรักษาภายในพื้นที่ของบริษัทจะไม่มีการนำผู้ป่วยออกมาข้างนอกอย่างแน่นอน รวมทั้งได้ขอกำลังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทหาร ตำรวจ บล็อกทางเข้า-ออกของบริษัททุกเส้นทาง ไม่ให้มีการเข้า-ออกโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยเด็ดขาด
ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มไปแล้ว
นายกฤษณ์กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังได้มีคำสั่งให้ประชาชนรวมทั้งแรงงานต่างชาติที่พักอยู่พื้นที่ใกล้เคียงบริษัท 3 หมู่บ้านคือ บ้านหนองปล้อง หมู่ที่ 2, บ้านลำตะคร้อ หมู่ที่ 4 และบ้านลำตะคร้อเหนือ หมู่ที่ 15 ต.กันจุ อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ ห้ามออกจากที่พักโดยไม่จำเป็นตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค.2564-6 สิงหาคม 2564 รวมทั้งประชาชนทั่วไปขอให้งดเว้นที่จะเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
“โรงงานแห่งนี้มีคนงานประมาณ 6,000 คน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการระวังป้องกันการติดเชื้อโควิดเป็นอย่างดี คนงานของกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มไปแล้ว แต่ก็ยังเกิดการติดเชื้อ และส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการคาดว่าเป็นผลมาจากได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และขณะนี้กำลังสอบสวนโรคเพื่อหาสาเหตุการติดเชื้อดังกล่าว” ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ระบุ
ทั้งนี้ บริษัท โกลเด้นไลน์บิสซิเนส จำกัด (เครือสหฟาร์ม) ประกอบธุรกิจผลิตไก่สดแช่แข็งเพื่อการส่งออกแบบครบวงจรใหญ่ที่สุดในเอเชีย และเป็นสถานประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวชาวเมียนมามากที่สุดใน จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งก่อนหน้านี้บริเวณด้านหน้าบริษัทจะคึกคักเต็มไปด้วยแรงงานชาวเมียนมาที่มาจับจ่ายซื้อข้าวของ แต่ในวันเสาร์เงียบสนิทแทบจะไม่มีใครออกมาเลย
นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 908 ราย เป็นผู้ป่วยในพื้นที่จำนวน 760 ราย อำเภอเมืองสมุทรปราการ จำนวน 431 ราย, อำเภอพระประแดง จำนวน 169 ราย, อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จำนวน 32 ราย, อำเภอบางพลี จำนวน 115 ราย, อำเภอบางบ่อจำนวน 7 ราย, อำเภอบางเสาธง จำนวน 6 ราย, โรงพยาบาลเอกชนรับมารักษาต่อในสมุทรปราการจำนวน 148 ราย เสียชีวิต 1 ราย เป็นเพศหญิงอายุ 67 ปี ไม่มีโรคประจำตัว รวมเสียชีวิตสะสม 290 ราย
การตรวจคัดกรองเฝ้าระวังในคลินิก ARI และในชุมชน จำนวน 257,524 ราย พบเชื้อ 26,520 ราย ผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงปัจจุบันจำนวน 31,672 ราย ในพื้นที่ 26,254 ราย นอกพื้นที่ 5,148 ราย กำลังรักษาในโรงพยาบาลของรัฐจำนวน 1,762 ราย กำลังรักษาในโรงพยาบาลเอกชนจำนวน 2,000 ราย รักษาใน Hospitel มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีสมุทรปราการ จำนวน 1,183 ราย
ข้อมูลจำนวนเตียงผู้ป่วยในสถานการณ์โรคโควิด-19 จังหวัดสมุทรปราการ ประจำวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 โรงพยาบาลรัฐสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและสังกัดอื่นๆจำนวนเตียงเต็ม โรงพยาบาลสนาม (Hospitel และ Field Hospital) จำนวนเตียงคงเหลือ 377 เตียง โรงพยาบาลเอกชนจำนวนเตียงเหลือ 9 เตียง
ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ของ จ.บุรีรัมย์ ล่าสุดพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 181 ราย เป็นตัวเลขทำสถิติสูงที่สุดตั้งแต่มีการระบาดมาของ จ.บุรีรัมย์ กระจายใน 13 อำเภอ แยกเป็น ผู้ติดเชื้อพบในพื้นที่จังหวัด 2 ราย ติดเชื้อมาจากนอกพื้นที่ 179 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 2,256 ราย เสียชีวิตสะสม 5 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 381 ราย และอยู่ระหว่างรักษา 1,870 ราย
ปาร์ตี้สงขลาติดโควิด
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ทั้ง 181 ราย กระจายใน 13 อำเภอ พบในพื้นที่อำเภอคูเมือง 10 ราย (ในพื้นที่ 1 ราย), อ.นาโพธิ์ 12 ราย (ในพื้นที่ 1 ราย), อ.ประโคนชัย 12 ราย, อ.สตึก 20 ราย, อ.กระสัง 60 ราย, อ.บ้านกรวด 16 ราย, อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ 5 ราย, อ.ปะคำ 8 ราย, อ.หนองหงส์ 11 ราย, อ.ห้วยราช 7 ราย, อ.โนนดินแดง 3 ราย, อ.บ้านด่าน 11 ราย และ อ.แคนดง 6 ราย
โดยอำเภอที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ อ.เมืองฯ 276 ราย รองลงมา อ.กระสัง 256 ราย, อ.สตึก 211 ราย, อ.ประโคนชัย 196 ราย, อ.คูเมือง 139 ราย และ อ.บ้านกรวด 136 ราย ตามลำดับ ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคสะสม ทั้งหมด 1,447 ราย แยกเป็นรายใหม่ 51 ราย และรายเก่า 1,396 ราย ส่วนการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่สีแดงเข้ม/แดง/ส้ม สะสม 27,944 ราย แยกกักตัวที่บ้าน 22,818 ราย และกักตัวในท้องถิ่น 5,126 ราย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ยอดผู้ป่วยติดเชื้อจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ก็ยังมีมาตรการคุมเข้มอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งมีประชาชนสนใจลงทะเบียนในระบบ Buriram IC ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลบริการวัคซีนของจังหวัดบุรีรัมย์ แสดงความจำนงประสงค์รับวัคซีน จำนวน 665,450 คน จากจำนวนผู้ลงทะเบียนสะสม 813,981 คน เพื่อให้ครบ 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากร หรือ 1,106,749 คน โดยผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนทุกคนจะได้รับเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนและสติกเกอร์แสดงสถานะของการได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม
ที่ห้องประชุมศาลากลาง จ.สงขลา การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.สงขลา มีนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการ จ.สงขลา เป็นประธาน มีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อติดตามสถานการณ์โรคโควิด ปัญหาและอุปสรรคในมาตรการป้องกันและมาตรการล็อกดาวน์
รายงานข่าวว่า ที่ประชุมได้แจ้งจำนวนผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิดภายในประเทศรายใหม่วันที่ 24 ก.ค.64 จำนวน 172 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 10,285 ราย เสียชีวิตสะสม 56 คน ผู้ป่วยจำนวนมากมาจากกลุ่มผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงโรงงาน และกลุ่มผู้ติดเชื้อในชุมชนหัวเขา อ.สิงหนคร
นายจารุวัฒน์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกค้นหาผู้ติดเชื้อเพื่อส่งตัวเข้ารักษา ส่งผลให้พบผู้ติดเชื้อเพราะมีผู้สัมผัสเสี่ยงจากผู้ติดเชื้อจากพนักงานโรงงาน ผู้เดินทางจากศูนย์มัรกัส จ.ยะลา ผู้เดินทางจากต่างจังหวัด ในตลาดและหน่วยงานที่กำลังมีปัญหาคือชุมชนหัวเขา อ.สิงหนคร พบผู้ติดเชื้อค่อนข้างมาก ได้มีการประเมินสถานการณ์อยู่ว่าควรจะปิดชุมชนชั่วคราวหรือไม่
ความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอเมืองสงขลา ร่วมกับชุดปฏิบัติการพิเศษฝ่ายปกครอง จ.สงขลา เข้าทลายปาร์ตี้ริมสระน้ำในโรงแรม THE LAKE HOUSE ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 1 ต.เกาะยอ อ.เมืองสงขลา รวบวัยรุ่นทั้งชายและหญิงได้จำนวน 48 คน หนึ่งในนั้นมีเยาวชนหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปีรวมอยู่ด้วย 1 คน พร้อมยาเสพติดทั้งไอซ์ เคตามีน และน้ำใบกระท่อมจำนวนหนึ่ง เหตุเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมกับนำตัวทั้ง 48 คนไปตรวจหาเชื้อโควิด-19
ล่าสุด มีรายงานผลการตรวจเชื้อโควิด-19 จากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองสงขลาของทั้ง 48 คนออกมาบางส่วนแล้ว โดยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยืนยันชัดเจนแล้วจำนวน 5 ราย ส่วนที่เหลือยังอยู่ระหว่างรอผลตรวจ โดยผู้ที่ติดเชื้อทั้ง 5 ราย ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอเมืองสงขลาได้แจ้งผลให้ทั้ง 5 คนได้รับทราบแล้ว และทางโรงพยาบาลสงขลาเร่งนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลสนามโดยเร็วที่สุด และจะตรวจสอบไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อทั้ง 5 คนว่าเดินทางไปที่ใดบ้าง เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่เชื้อ และนำผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดมาตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตามกระบวนการคัดกรองโรคต่อไป
โคราชติดเชื้อเพิ่ม 292 คน
คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ได้เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ล่าสุดพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มอีกจำนวน 292 ราย โดยในจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ เป็นผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 112 ราย ติดเชื้อมาจากการสัมผัสผู้ป่วยรายก่อนหน้า 157 ราย ป่วยโควิดเดินทางมารักษา 23 ราย รวมผู้ป่วยระลอกใหม่สะสมของจังหวัดนครราชสีมา 4,276 ราย รักษาหายแล้ว 1,878 ราย ยังรักษาตัวอยู่ 2,355 ราย และเสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย เสียชีวิตสะสม 43 ราย
นพ.อิทธิพล จรัสโอฬาร ผอ.รพ.มะการักษ์ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ค. เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจหาเชื้อจากแรงงานโรงงานไวต้าฟู้ด แฟคทอรี่ (1989) จำกัด ด้วยวิธี Rapid Test จำนวน 447 ราย ผลเป็นบวก จำนวน 116 ราย จากนั้นจึงเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกไปตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ผลตรวจยืนยันออกมาวันที่ 24 ก.ค. พบติดเชื้อทั้ง 116 ราย
ขณะนี้บริษัทดังกล่าวพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค.64 มาจนถึงปัจจุบัน จำนวน 340 ราย จากจำนวนที่ตรวจ 1,397 ราย ยังคงเหลือกว่า 1,000 ราย ที่อยู่ระหว่างการตรวจหาเชื้อในเชิงลึก
นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถาน ว่าข้อมูล ณ วันที่ 23 ก.ค. เวลา 16.00 น. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 655 ราย (พบในเรือนจำสีแดง 623 ราย และพบในห้องแยกกักโรคผู้ต้องขังรับใหม่ 32 ราย) หายป่วยเพิ่ม 121 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมยังมีผู้ต้องขังติดเชื้อที่อยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ 5,631 ราย
โดยสถานะเรือนจำยังคงเดิมเหมือนวันที่ 23 ก.ค. คือ เรือนจำสีขาวที่ไม่พบการแพร่ระบาด 112 แห่ง และเรือนจำสีแดงจำนวน 22 แห่ง ทั้งนี้ มีที่สิ้นสุดการระบาดแล้ว 8 แห่ง แต่อยู่ระหว่างการตรวจประเมินตามมาตรการสาธารณสุขเพื่อปรับสถานะเป็นเรือนจำสีขาว สำหรับผู้ติดเชื้อที่ยังอยู่ระหว่างการรักษา แบ่งเป็นกลุ่มสีเขียว 83.7%, สีเหลือง 15.9% และสีแดง 0.4% มีผู้ป่วยที่รักษาหายสะสมแล้ว 37,063 ราย หรือ 86% ของผู้ติดเชื้อสะสม 43,099 ราย มีจำนวนผู้เสียชีวิตรวม 48 ราย หรือ 0.1% ของผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด
นายอายุตม์กล่าวว่า ผู้เสียชีวิต 1 รายในวันนี้ เป็นผู้ต้องขังชายอายุ 65 ปี มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง ต่อมลูกหมากโต ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 และเข้ารักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ด้วยอาการเหนื่อย หายใจเร็ว เอกซเรย์พบปอดอักเสบ ให้การรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ Dexamethasone ยาโรคประจำตัว และ Oxygen ความเข้มข้นสูง HFNC แต่ผู้ป่วยเหนื่อยเพิ่มมากขึ้น ตรวจเพาะเชื้อพบมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ฉีดยาปฏิชีวนะระดับสูง ยังเหนื่อยหายใจเร็ว ประสานญาติร่วมพิจารณาแนวทางการรักษา ให้การรักษาประคับประคองตามความประสงค์ และเมื่อวันที่ 22 ก.ค. ผู้ป่วยซึมลง ประสานแจ้งญาติรับทราบอาการ จนกระทั่งเวลา 23.24 น. ผู้ป่วยวัดสัญญาณชีพไม่ได้และเสียชีวิตอย่างสงบ กรมราชทัณฑ์ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปมา ณ โอกาสนี้
ผู้ว่าฯ สมุทรสาครออกกฎเหล็ก
นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงการออกคำสั่งของทางจังหวัดสมุทรสาคร เกี่ยวกับมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่ออกมา 3 ข้อ โดยมีรายละเอียดดังนี้คือ
1.ให้โรงงาน สถานประกอบการที่มีพนักงาน 50 คนขึ้นไป ให้จัดตั้งสถานที่กักตัวให้คนงาน ไม่น้อยกว่า 10% ของคนงาน โดยจัดตั้งภายในโรงงานหรือนอกโรงงานก็ได้ โดยจะต้องสร้างสถานที่กักตัวให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน เพื่อรองรับผู้ป่วยหากไม่ดำเนินการจัดตั้งหรือสร้างไม่เสร็จภายใน 7 วัน ให้สั่งปิดโรงงานทันที
2.ให้ปิดสถานที่เพิ่มเติม อาทิ สวนสาธารณะ ร้านทำเล็บ ร้านสัก ร้านตัดผมห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ ให้หยุดกิจการชั่วคราว
3.ตลาดนัด ให้เปิดได้เฉพาะส่วนที่ขายอาหารหรือวัตถุดิบในการทำอาหารสำหรับเพื่อการบริโภคเท่านั้น หากตลาดนัดที่ใดไม่ยอมปฏิบัติตาม หรือทำเป็นปล่อยปละละเลยไม่สนใจจะสั่งปิดทันที
มาตรการทั้ง 3 ข้อของทางจังหวัดนี้อาจจะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจบ้าง แต่ก็ต้องทำ ถือเป็นยาแรงในการสกัดกั้นโควิดไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้
ขณะที่แอดมินกลุ่มไลน์ภาครัฐและเอกชนจังหวัดตาก และกลุ่มแกนนำแอดมินที่มีอยู่ 5 คน ในไลน์รัฐ-เอกชน ต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่า คนแม่สอด ควรปิดตัวเองอยู่ในบ้าน สำหรับกลุ่มไลน์นี้มีสมาชิกในกลุ่ม 500 คน และเป็นกลุ่มไลน์ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนตาก-แม่สอดในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ได้โพสต์ข้อความที่ระบุว่า
“ในนามของพี่น้องประชาชนคนแม่สอด ขอประกาศให้ภาครัฐที่มีแต่ออกคำสั่งได้รู้ว่า คนแม่สอดจะไม่ทนอีกต่อไป ในเมื่อท่านทั้งหลายไม่ปิดเมืองแม่สอด พวกเราพี่น้องประชาชนอำเภอแม่สอดจะขอปิดเมืองกันเอง เพื่อความปลอดภัยในชีวิต ที่นับวันการแพร่กระจายเชื้อโรคมันลุกลามอย่างรุนแรงในขณะ ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เราคนแม่สอดทุกคนรอฟังคำสั่งปิดแม่สอดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็ไม่มีวี่แววว่าท่านทั้งหลายจะคิดที่จะดำเนินการใดๆ ที่จะให้พี่น้องประชาชนสบายใจได้เลย
นับวันจะมีแต่ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเราเป็นห่วงพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ลูกหลาน ซึ่งที่ผ่านมาท่านทั้งหลายก็รู้ถึงปัญหาหลักที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้มาโดยตลอด แต่ภาครัฐ หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ยังไม่สามารถจัดการการลับลอบเข้า-ออกตามแนวชายแดนได้เลย พวกเรารับรู้ได้ถึงความไม่ปลอดภัยในการดำรงชีวิตประจำวัน ดังนั้น พวกเราอยากประกาศไปถึงท่านทั้งหลายว่า พวกเราจะไม่ทนอีกต่อไป จากวันนี้เป็นต้นไป พวกเราชาวแม่สอดจะขอปิดเมืองแม่สอดกันเอง โดยขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนทุกคน ไม่เปิดห้างร้าน และใช้ชีวิตแบบบ้านใครบ้านมันสักระยะ จนกว่าการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสจะดีขึ้น ทั้งนี้ จะได้เป็นการช่วยแพทย์ พยาบาล พี่น้อง อสม.และ จนท.ได้ทำงานอย่างเต็มที่ ถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องพึ่งตัวเราเอง ยอมเจ็บสักสองอาทิตย์ เพื่อคนที่เรารักและเพื่อแม่สอดของพวกเรา”
รายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังมีการโพสต์ข้อความออกไป ได้มีสมาชิกแสดงความคิดเห็นด้วยข้อความต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแกนนำแอดมินในข้อความที่โพสต์และพร้อมจะล็อกดาวน์ตัวเอง.