ข่าวภาคค่ำ – คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ เกาะติดคดีเผาถ้ำขโมยรังนกที่เกาะสี่ เกาะห้า พัทลุง จับกุมผู้ทำผิดได้เพิ่มเติมแค่ไหน มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไร ติดตามจากคุณมะลิ แซ่ฉิ่น
เกือบ 4 เดือน หลังปรากฏเป็นข่าวครึกโครมเผาถ้ำเอารังนกที่เกาะสี่ เกาะห้า อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง พฤติกรรมอำมหิตที่ทำให้ลูกนกจำนวนมากต้องจบชีวิตไปกับความโลภ ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีเอี่ยวด้วยมากกว่า 50 คน โดยหลังจากที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ลงพื้นที่สางคดีนี้ ผ่านไปเกือบ 3 เดือน มีการสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องไปมากกว่า 400 ปาก พบว่ามีกลุ่มคนร้ายอีกจำนวนหลายคน ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ กระทำผิดเกี่ยวกับการลักเอารังนกไป
คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน จึงได้ขออนุมัติศาลจังหวัดพัทลุง ออกหมายจับผู้ต้องหาไปอีก 20 คน ซึ่งศาลจังหวัดพัทลุงพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ต้องหาเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และข้าราชการ กระทำผิดร่วมกับประชาชน แต่ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน ไม่ปรากฏพฤติการณ์หลบหนี จึงให้แค่ออกหมายเรียก
ล่าสุด ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหา 8 คน เป็นพลเรือน 7 คน เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ จำนวน 1 คน มาพบที่ตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุง และจะเปิดโอกาสให้ยื่นหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีได้อีก ซึ่งจนถึงขณะนี้ คดีขโมยรังนกพัทลุง มีผู้ต้องหาทั้งหมด 52 คน บางคนถูกดำเนินคดี 2 คดี แยกเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง จำนวน 5 คน เจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน จำนวน 8 คน ผู้ใหญ่บ้าน จำนวน 2 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจ จำนวน 7 คน และ พลเรือน จำนวน 30 คน จากนี้ไปจะเร่งรัดสรุปสำนวนเพื่อส่งให้อัยการทุจริตภาค 9 ดำเนินการต่อ ถือเป็นการสิ้นสุดคดีนี้ แต่หากมีพยานหลักฐานอะไรเพิ่มเติมก็ยังสามารถที่จะสอบสวนและส่งหลักฐานเพิ่มได้
การเผาถ้ำขโมยรังนกทำเป็นขบวนการ มีเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือ แบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นระบบ แบ่งออกเป็นสี่ส่วน คนเก็บรังนก 40% ตำรวจ 30% ฝ่ายปกครอง 25% อีก 5% นำเข้ากองกลาง แต่ก็มีบางคนที่ไม่ได้ส่วนแบ่ง
ในประเทศไทยมีการให้สัมปทานรังนก 9 จังหวัด ประกอบด้วย ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง กระบี่ พังงา ตรัง และสตูล โดยพบว่ามีหลายพื้นที่ ที่ยังไม่สามารถให้สัมปทานได้ เนื่องจากไม่มีผู้เข้ายื่นซองประมูล ขณะที่จังหวัดพัทลุง หลังมีปัญหาเผาถ้ำขโมยรังนก บริษัทผู้รับสัมปทานจะหารือกับภาครัฐอีกครั้งหลังเดือนมีนาคม ซึ่งจะเป็นการสิ้นสุดฤดูกาลเก็บรังนัก ระลอกสองของปี หากนกเข้ามาในสภาวะปกติ ก็จะแค่เจรจาขอยืดอายุสัมปทานต่อไปอีก 1 ปี จาก 5 ปี เป็น 6 ปี แต่ถ้านกไม่เข้าถ้ำตามเป้าหมาย สิ่งที่รัฐต้องจ่ายเพิ่ม เพื่อคืนให้กับบริษัทที่ได้รับสัมปทานก็จะมากกว่านี้
นี่คือผลจากการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ สุดท้ายผู้เสียประโยชน์คือประชาชนผู้จ่ายภาษีและประเทศชาติ เป็นมะเร็งร้ายที่ยากจะหายไปจากสังคมไทย