ปลิงทะเลจัดเป็นสัตว์ที่มีความมหัศจรรย์ด้านการบำรุงรักษาตามความเชื่อที่ว่า เมื่อรับประทานปลิงทะเลแล้ว จะทำให้ร่างกายแข็งแรง เป็นยาอายุวัฒนะ โดยได้รับความนิยมการรับประทานในประเทศจีน ไต้หวัน และฮ่องกง และยิ่งประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย นิยมนำปลิงทะเลไปปรุงเป็นยารักษาแผลสด
จากความต้องการของตลาด ส่งผลให้ปริมาณปลิงทะเลในประเทศเริ่มลดน้อยลง จึงเป็นที่มาของการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ปลิงทะเล 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ปลิงขาว(เพื่องานวิจัย) ปลิงดำ ปลิงกาหมาด (เพื่อขยายพันธุ์คืนสู่ธรรมชาติ) ของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล มานานกว่า 5 ปี
โดยเฉพาะปลิงกาหมาดที่เน้นการ เพาะขยายพันธุ์ เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เนื่องจากเป็นปลิงที่นิยมบริโภค ทำยารักษาโรค กันเป็นจำนวนมาก โดยในแต่ละปี จะมีการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติครั้งละ 1,000 ตัว
นางสาวจิรนันท์ สุวรรณรัตน์ นักวิชาการประมง สนง. ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล บอกว่า เน้นอนุรักษ์มากที่สุดคือ ปลิงกาหมาด ทางศูนย์พยามอนุรักษ์เพาะพันธุ์ให้ได้มากที่สุด เพื่อปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ เหมือนเดิม เพราะปลิงเหล่านี้ถูกจับมาเป็นจำนวนมาก
โดยทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล ไม่มีนโยบายในการขาย พ่อแม่พันธุ์ปลิงทะเล แต่ผู้ที่สนใจจะเลี้ยงปลิงทะเล สามารถมาติดต่อศึกษาหาความรู้ดูงานได้ เนื่องจากพบว่าตลาดของปลิงทะเล ยังเป็นที่ต้องการของตลาดกว้างในประเทศจีน ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย ในราคาซื้อขายส่วนใหญ่พบว่า ตัวสดขนาด 80-100 กรัม ราคา 100 บาท
สำหรับในประเทศไทยพบการทำประมงปลิงทะเล เพื่อการบริโภคภายในประเทศและส่งออก มาเป็นเวลานานแล้ว จากสถิติการประมงแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516-2532 พบว่า มีการทำประมงปลิงทะเลมากที่สุดในปี พ.ศ. 2521 ปริมาณ 226 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2.27 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 44.35 ตัน (กรมประมง, 2525, 2534) แต่ในปัจจุบัน การค้าขายปลิงทะเลส่วนใหญ่จะอยู่จำกัดในพื้นที่ตลาดเยาวราช ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งหมด