ชาวเลหลีเป๊ะ เห็นพ้อง ตรวจสอบที่ดินทั้งเกาะ หากออกเอกสารสิทธิไม่ถูก ต้องเพิกถอน เผย “บรรหาร”สมัยเป็น มท.1 เคยเสนอเข้า ครม.แต่เรื่องเงียบหาย
วันที่ 8 ม.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อค่ำวันที่ 7 มกราคม 2566 ที่โบสถ์บนเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ชาวอูรักลาโว้ยและสหกรณ์ชาวเลบริการท่องเที่ยวเกาะหลีเป๊ะ จัดประชุมเพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับนำเสนอข้อเท็จจริงให้คณะกรรมการและหน่วยงานต่างๆที่จะลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีชาวเลกำลังประสบปัญหาความเดือดร้อน เนื่องจากที่ดินและที่อยู่อาศัยถูกเอกชนฟ้องขับไล่ รวมถึงการปิดเส้นทางดั้งเดิมที่ใช้สัญจรลงชายหาดและเด็กนักเรียนใช้เดินไปสู่โรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ
ทั้งนี้ตามกำหนดการในวัน 12-13 มกราคม คณะกรรมาธิการ(กมธ.) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร จะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และในวันที่ 18-19 มกราคม ชาวเลมีแผนที่จะเดินทางเข้า กทม.เพื่อไปยื่นหนังสือข้อเท็จจริงให้กับหน่วยงานต่างๆ และในวันที่ 22 มกราคม คณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ ซึ่งมี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ “บิ๊กโจ๊ก”เป็นประธาน จะนำคณะกรรมการฯลงพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ
แม่บ้านชาวอูรักลาโว้ยกำลังกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมชาวเลได้หารือกันถึงการจัดทำข้อมูลที่เกี่ยวกับปัญหาที่ดินของชาวเลที่ถูกเอกชนออกเอกสารทับทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งชาวเลจะร่วมกันสะท้อนเรื่องราวต่างๆที่เผชิญและไม่ได้รับความเป็นธรรม
โดยที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าขอให้มีการตรวจสอบเอกสารสิทธิทุกแปลงบนเกาะหลีเป๊ะ หากพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิไม่ถูกต้องควรให้เพิกถอนและคืนสิทธิให้เจ้าของสิทธิที่แท้จริง โดยทุกคนในที่ประชุมต่างยกมือสนับสนุนให้นำที่ดินที่เกิดข้อพิพาทมาทำเป็นโฉนดชุมชนเพื่อให้ลูกหลานชาวเลได้อาศัยอยู่
นอกจากนี้ในที่ประชุมยังต้องการให้คืนพื้นที่สาธารณะให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งในเรื่องทางเดินสาธารณะที่เป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนและชุมชนชาวเล คูคลองสาธารณะที่ถูกถมเปิดกั้นจนทำให้น้ำท่วมบริเวณกลางเกาะเมื่อฝนตก สุสานบรรพบุรุษที่ถูกอ้างกรรมสิทธิในที่ดินและห้ามชาวบ้านเข้าไป และพื้นที่ชายหาดและพื้นที่จอดเรือที่ถูกเจ้าของรีสอร์ทบางส่วนห้ามชาวบ้านจอดเรือ
“ตอนนี้มีปะการังกำลังเสียหาย จากการที่ให้เรือสปีดโบ๊ตที่ขนนักท่องเที่ยวเข้าไปจอดถึงริมหาด ส่วนหนึ่งเพราะบริเวณหน้าหาดบางแห่ง เขาไม่ยอมให้เรือชาวบ้านจอด ทำให้เรือต้องไปจอดรวมกันเป็นกลุ่ม ”ชาวเลรายหนึ่ง กล่าว และว่าอยากให้แก้ปัญหาเรื่องการจัดการขยะด้วย เพราะทุกวันนี้มีปริมาณขยะจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
นายทวยเทพ หาญทะเล ชาวเลอาชีพทำประมงและขับเรือ กล่าวว่า ขณะนี้แนวปะการังน้ำตื้นหลายจุดรอบเกาะหลีเป๊ะเกิดความเสียหายจากเรือสปีดโบ๊ทที่เข้ามาจอดหน้าหาด เพราะใบพัดเรือสปีดโบ๊ทโดนปะการังและความแรงของใบพัดได้ตีทรายขึ้นมากลบปะการังทำให้ปะการังตายและหัก โดยสมัยก่อนเรือสปีดโบ๊ตจอดบริเวณโป๊ะหรือทุ่นที่ห่างจากชายหาดจึงไม่มีปัญหา
แต่ตอนหลังเขาอนุญาตให้เข้ามาถึงฝั่งซึ่งแต่ละวันมีสปีดโบ๊ทเข้ามาจำนวนมาก โดยเฉพาะฝั่งชายหาดฝั่งพัทยาบริเวณหน้าถนนคนเดิน ปากะรังแตกเสียหายอย่างเห็นได้ชัด หากปล่อยสถานการณ์เช่นนี้ไปเรื่อยๆปะการังจะยิ่งเสียหายหนัก ทางที่ดีไม่ควรให้เรือสปีดโบ๊ตเข้าฝั่ง แต่ให้ไปจอดบริเวณยบริเวณโป๊ะหรือทุ่นที่อยู่ห่างออกไปจากชายฝั่ง
“สภาพแวดล้อมเกาะหลีเป๊ะเปลี่ยนไปมาก สมัยก่อนหน้าหาดทรายกว้างกว่านี้มาก แต่ปัจจุบันปริมาณทรายหายไปเยอะ ตอนนี้เรารวมกลุ่มดูอิทบายฮาร์ท(ทำด้วยใจ) ร่วมกันเก็บขยะตามเกาะแก่งต่างๆ เแต่ไม่มีหน่วยงานราชการไหนเข้ามาสนับสนุน ตามเกาะอื่นมีปริมาณขยะอยู่เยอะ เราต้องการให้หน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก เพราะไม่ใครเก็บขยะตามเกาะแก่งต่างๆ”นายทวยเทพ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบเอกสารของคณะกรรมการชุดต่างๆที่ตรวจสอบกรณีปัญหาที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ ทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)ชุดที่ 1 และ 3 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินและพื้นที่จิตวิญญาณของชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงการตรวจสอบของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ต่างๆมีความเห็นสอดคล้องกันว่ามีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบเกิดขึ้นจำนวนมากและเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิกถอนเอกสารสิทธิเหล่านี้ แต่กลับไม่เคยมีการดำเนินการแก้ไขตามข้อเสนอ
จากการตรวจสอบเอกสารยังพบด้วยว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2533 นายบรรหาร ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ได้นำเรื่องการแก้ปัญหาบุกรุกที่ดินที่เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วเห็นว่าเนื่องจากสภาพแวดล้อมธรรมชาติเกาะอาดังและเกาะราวี มีธรรมชาติที่งดงามสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่ต่อไป เพื่อเป็นการป้องกันการบุกรุกบริเวณดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเกาะหลีเป๊ะ กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้
1.สั่งการให้จังหวัดสตูลเร่งสำรวจข้อมูลและขึ้นทะเบียนกากรอยู่อาศัยและครองครองที่ดินของชาวเกาะหลีเป๊ะ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีผู้อพยพย้ายถิ่นเข้ามาเพิ่มในภายหลัง
2.สั่งการให้กรมโยธาธิการเร่งรัดเสนอร่างพระราชกฤษฏีกาเรื่องการควบคุมการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างบนเกาะหลีเป๊ะ และเกาะใกล้เคียง เพื่อเป็นการป้องกันนายทุนไปกว้านซื้อที่ดินจากเกาะหลีเป๊ะเพื่อสร้างเป็นรีสอร์ต
3.สั่งการให้กรมที่ดินและจังหวัดสตูล เร่งรัดดำเนินการขอเพิกถอน ส.ค.1 จำนวน 17 แปลง และน.ส.3 จำนวน 12 แปลง ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายโดยเร็วพร้อมกับให้ติดตามผลการตีความของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ในที่ดินจำนวน 10 แปลง ที่อ้างว่าออก น.ส.3 และ ส.ค.1 โดยชอบด้วยกฎหมาย
“อนึ่งจากที่ได้พบปะเยี่ยมเยียนราษฏรจากเกาะหลีเป๊ะ และผู้นำท้องถิ่นพบว่ามีปัญหาความเดือดร้อนเกี่ยวกับเรื่องสถานศึกษาและสถานีอนามัย เนื่องจากมีโรงเรียนในสังกัดประถมศึกษาแห่งชาติ 1 แห่ง ซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรม สมควรที่จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างอาคารใหม่” ในเอกสารเสนอ ครม.ระบุ