เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดเสวนา ภายใต้หัวข้อ “ทุนชายแดนใต้กับตลาดฮาลาล การค้าและการท่องเที่ยว” มีวิทยากร ประกอบด้วย นายเจตกร หวันสู ประธานสภาการท่องเที่ยว องค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล, นางอัยดา อูเจ๊ะ นายกสมาคมการค้าการท่องเที่ยวฮาลาลไทย-อาเซียน, นายชัยวุฒิ บุญวิวัฒนาการ กรรมการหอการค้าจังหวัดสงขลา, ผศ.ดร.ปาริชาติ เบ็ญฤทธิ์ รองผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล ฝ่ายวิชาการ วิจัย และพัฒนาองค์กร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) ดำเนินการเสวนาโดย นายสมชาย สามารถ บรรณาธิการศูนย์ภาคใต้เครือเนชั่น และผศ.ดร.สุระพรรณ์ จุลสุวรรณ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ถ่ายทอดสดทางเพจ ศอ.บต.และสงขลาโฟกัส
ผศ.ดร.ปาริชาติกล่าวว่า หากพูดถึงโอกาสของจังหวัดชายแดนใต้เรื่องการค้า การท่องเที่ยว จากการที่สถาบันฮาลาลมีโอกาสเข้าร่วมคณะทำงานแผนอาหารฮาลาลชายแดนใต้ ได้ทำโฟกัสกลุ่มผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ ฯลฯ มีความคิดเห็นตรงกันในโอกาสจังหวัดชายแดนใต้เรื่องการค้าและการท่องเที่ยวฮาลาล ที่มีจุดแข็งในหลายๆ ด้าน
“ตลาดฮาลาล เรามีประชากร 1 ใน 4 ของประชากรทั่วโลก โดยประเทศไทยส่งออกอาหาร ลำดับที่ 11 ของโลก ส่วนด้านการบริการประเทศไทย มีความเข็มแข็งเรื่องการท่องเที่ยวเช่นกัน”รอง ผอ.สถาบันฮาลาล ม.อ. กล่าวและว่า ความเชื่อมั่นของชาวไทย มาเลเซีย อาหรับ มีความเชื่อมั่นต่อตราฮาลาลของประเทศไทยระดับสูง โดยรวมตราฮาลาลเป็นเรื่องที่ยอมรับมากขึ้น เราต้องทำให้มีระดับที่ได้มาตรฐาน มีความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น
ใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ มีวิธีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ ในสังคมพหุวัฒนธรรมมีอาหาร มีการท่องเที่ยวมากมาย สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามา โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีมุสลิมจำนวนมาก จะมีแรงงานไปเสริมเรื่องการผลิตสินค้าฮาลาลได้มากขึ้น เนื่องจากมีความเข้าใจและตอบสนองของลูกค้าได้
ผศ.ดร.ปาริชาติกล่าวว่า ทั้ง 5 จังหวัดมีหน่วยงานให้การสนับสนุน เช่น มีคณะกรรมการอิสลาม, สถาบันการศึกษา, สถาบันฮาลาล ศอ.บต. ถือเป็นโอกาสอีกทางหนึ่ง ส่วนทางด้านภูมิศาสตร์มีชายแดนที่ติดกับมาเลเซีย
อุปสรรคของประเทศไทยที่เราต้องเสริมสร้างเดินไปด้วยกันคือ สถาบันการศึกษามียุทธศาสตร์หลักคือ พัฒนาบุคลากรด้านฮาลาล และมีหลักสูตรที่ออกมา ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งบุคลากรที่จบมาจะไปเสริมโรงงานต่างๆ ที่ขาดแคลนบุคลากรฮาลาล อีกส่วนที่เราให้ความสำคัญคือ หลักสูตรการจัดการการท่องเที่ยวและบริการฮาลาล รวมถึง “ฮาลาลโลจิตติกส์” ที่กำลังจะทำ MOU กับโรงเรียนขนส่งการค้าระหว่างประเทศ
“นี่คือ 3 หลักสูตรที่พยายามทำเพื่อพัฒนาบุคลากรฮาลาลไปเสริมทัพเรื่องฮาลาลไทย และยังมีหลักสูตรระยะสั้นคือ สปาฮาลาล ที่ไปส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ขณะนี้ที่ปัตตานีก่อสร้างอาคารสปาฮาลาล จะมีการอบรมและผลิตน้ำมันนวด เราจึงต้องมองหลายด้านและต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน”ผศ.ดร.ปาริชาติกล่าว
นางอัยดา อูเจ๊ะ กล่าวว่า สองปีที่ผ่านมา ก่อนเกิดโควิด-19 นักท่องเที่ยวเข้ามาด่านเดียว 1,980,000 คน ซึ่ง 72% เป็นชาวมุสลิม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฮาลาลนำรายได้เข้ามามหาศาล และช่วงที่สมาคมร่วมเขียนโปรแกรมเป็นโปรดักซ์การท่องเที่ยวฮาลาล เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา สร้างเป็นโปรแกรมภาษาอาหรับ-อังกฤษ ประชาสัมพันธ์ทำให้ต่างชาติรู้ว่าประเทศไทยมี “ฮาลาลรูท” ทางอินโดนีเซีย จึงมั่นใจและประกาศกับประชาชนว่า ฮาลาลท่องเที่ยวเส้นกรุงเทพ-พัทยา 100% มีความมั่นใจ เป็นเส้นทางหลักที่นำรายได้เข้ามาอีกทาง
“ตลาดที่นำรายได้เข้ามาประเทศไทยหลักๆ คือ มาเลเซียและอินโดนีเซียสองกว่าล้านคน มีประชากรที่เป็นมุสลิมเกือบ 90% นับเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาทที่เข้ามาประเทศไทย” นางอัยดากล่าวและว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเรามีอะไรที่จะเสริมฮาลางการท่องเที่ยว อันดับแรกคือ เป็นโปรดักซ์เรื่องวัฒนธรรม, แหล่งการท่องเที่ยว, ความเชื่อเรื่องศาสนา, ประวัติศาสตร์, อาหารฮาลาล, ความเป็นมิตรและเรื่องราคา
นางอัยดากล่าวว่า อีกด้านคือ เราประกาศฮาลาลท่องเที่ยวเป็นประเทศแรก โดยสมาคมการค้าการท่องเที่ยวฮาลาลไทย-อาเซียน และมีประเทศอื่นๆ ตามต่อมา หลังจากที่มีสมาคมจัดตั้งขึ้น รัฐบาลก็กำหนดยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวฮาลาล 4.0 แต่ไม่ชัดเจนเรื่องการทำงานร่วมกันกับภาคเอกชน
นายเจตกร หวันสู กล่าวว่า สถานการณ์ฮาลาลในประเทศไทย ถ้าเรามองดูประชากรของโลกทุกๆ ปีกลุ่มมุสลิมจะขยับตัวไม่ต่ำกว่า 8-10% ฐานประชากรมุสลิมของโลกเค่อนข้างสูง แต่ประเทศไทยยังไม่โฟกัส ทั้งๆ ที่มีศักยภาพที่ดี มีปัจจัยหนุนพร้อม พื้นที่ภาคใต้มีตัวเลขฐานนักท่องเที่ยวที่เข้ามาฝั่งมาเลเซียใน 4-5 ด่าน รวม 2-3 ล้านคน โดยตลาดสินค้าหลักเดิมจะมาหาดใหญ่ ขยับมาภูเก็ต และกระบี่
นายเจตกรกล่าวว่า ปัจจุบัน เรามีคณะกรรมการอิสลามค่อนข้างกระจาย การศึกษาและการเรียนรู้ของคนที่ต้องการรู้หลักการฮาลาลเติบโตสูง วันนี้ประเทศไทยต้องคิดใหม่ ถ้าจะให้ตลาดฮาลาลโต ควรจะขยับไปอยู่ที่จังหวัดกระบี่ เพราะกระบี่มีความพร้อมทั้งศักยภาพหลายๆ อย่าง และสถานประกอบการพร้อมหนุนเสริม อาจจะให้จังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดนำ ส่วนพื้นที่ชายแดนใน้เป็นบริวาร
“ถ้าเราต้องการขับเคลื่อนท่องเที่ยวฮาลาลเราควรตั้งองค์กรที่มีพื้นที่การบริหารจัดการ สามารถคุยกับศอ.บต. เพื่อจับมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อต้องการขับเคลื่อนฮาลาลต่อไป” นายเจตกร กล่าว และว่าศอ.บต.กับพื้นที่ 3 จังหวัด และสตูล สงขลา ควรร่วมกันทำ MOU เรื่องการท่องเที่ยวฮาลาลกับกระบี่ เป็นมิติมหาดไทยร่วมกัน และเอาทุกภาคส่วนมาร่วมกัน โดยกระบี่ คือ Sandbox ของมุสลิมท่องเที่ยวฮาลาลในประเทศไทย
ด้านนายชัยวุฒิ บุญวิวัฒนาการ กล่าวว่า ทุนการค้า การท่องเที่ยวในชายแดนใต้มีมหาศาล แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ เอาศาสนามาหากิน สิ่งนี้น่ากลัวมาก ซึ่งโชคดีของภาคใต้ที่เรามีทรัพยากรมหาศาล มีโรงงานอุตสาหกรามแปรรูปแบบอาหาร และเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้น ทั้งโลกช็อคไปหมดทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ภาคใต้เราปรับตัวได้ไว
“ถ้าเราไม่มีความชัดเจนในเรื่องหลักการทำให้มีใครเชื่อเรา ผมมองว่าขาด Unity ทำให้ขาดการยอมรับ เมื่อเป็นอย่างนั้น เราต้องมีมาตรฐานเดียวกันในประเทศไทยถึงจะเกิดขึ้นได้ และการเผยแพร่หลักการทางด้านศาสนาที่สอนมาเป็นหน้าที่ของอิสลามทุกคน” นายชัยวุฒิกล่าว