คลัสเตอร์รร.ลาม11จว.กทม.เร่ง-ไฟเซอร์เด็ก
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
ทุบสถิติป่วยโอมิครอนพุ่งเกิน 9 พันวันแรก ตายอีก 21 เผย 11 รายยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย พบหญิงท้องที่สตูลก็ดับเซ่น โควิด ศบค.ห่วงคลัสเตอร์โรงเรียนวันเดียวเจอ 11 จว. ส่วนคลัสเตอร์ตลาดลาม 21 จว. ยันไม่ได้เกิดจากตรุษจีน สธ.ย้ำฉีดวัคซีน ครึ่งโดส เข้าชั้นผิวหนังใช้เฉพาะ mRNA ส่วนไวรัลเวกเตอร์ยังไม่แนะนำ ‘บิ๊กตู่’ ยันยังไม่ปลดล็อกเพิ่ม เหตุติดเชื้อยังสูง ขณะเดียวกันองค์การอนามัยโลกห่วงหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการ เผยทั่วโลกป่วยโอมิครอนเกิน 90 ล้าน
ติดเชื้อพุ่งเกิน 9 พัน-ตาย 21
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,172 ราย ติดเชื้อในประเทศ 8,889 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 8,855 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 34 ราย มาจากเรือนจำ 61 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 222 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 7,832 ราย อยู่ระหว่างรักษา 84,413 ราย อาการหนัก 517 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 107 ราย
เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 21 ราย เป็นชาย 11 ราย หญิง 10 ราย เป็นผู้มีความเสี่ยงทั้งอายุเกิน 60 ปี มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และมีหญิงตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ เสียชีวิตที่สตูล 1 ราย พบว่าไม่ได้ฉีดวัคซีน ซึ่งข้อมูลพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่เสียชีวิตมากกว่า 50% จะเสียชีวิตไปพร้อมลูกในครรภ์ ถือว่าเป็นความสูญเสียอย่างมหาศาล
โดยผู้เสียชีวิต 11 ราย ไม่เคยรับวัคซีนเข็มหนึ่ง ส่วน 1 รายรับเข็มเดียว และอีก 5 รายรับครบ 2 เข็ม แต่นานเกิน 4 เดือน จึงเป็นที่มาที่เรารณรงค์ให้ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่รับ 2 เข็มเกิน 3 เดือน หรือผู้ติดเชื้อหายแล้ว 3 เดือนขึ้นไปให้รับเข็มกระตุ้นด้วย ขณะที่ 10 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยวที่รับเข็มสองแล้วให้มารับเข็มสาม ถ้ารับเข็มสามเกิน 3 เดือนให้มารับเข็มสี่ด้วย ส่วนก.พ.จะระดมฉีดเด็กอายุ 5-11 ขวบ เน้นเด็กมีโรคประจำตัวในร.พ.ก่อน ให้กุมารแพทย์ประจำตัวทบทวนตัดสินใจร่วมผู้ปกครอง ส่วนที่ไม่มีโรคจะฉีดที่โรงเรียนไล่ตามลำดับชั้น คือป.6 ไล่ลงมาถึง ป.1
พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดได้แก่ กทม. 1,432 ราย สมุทรปราการ 854 ราย ชลบุรี 399 ราย ภูเก็ต 395 ราย นนทบุรี 324 ราย นครศรีธรรมราช 194 ราย มหาสารคาม 193 ราย ปทุมธานี 179 ราย ศรีสะเกษ และระยอง จังหวัดละ 175 ราย
ยอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,456,732 ราย ยอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,359,082 ราย ยอด ผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 22,228 ราย ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 2 ก.พ. 289,389 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 115,820,553 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 385,204,312 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 5,718,791 ราย
พบคลัสเตอร์ร.ร.วันเดียว 11 จว.
คลัสเตอร์ที่ห่วงคือโรงเรียน วันเดียวพบ 11 จังหวัด คือขอนแก่น อุดรธานี ประจวบคีรีขันธ์ หนองบัวลำภู ยโสธร สุพรรณบุรี มหาสารคาม ศรีสะเกษ สระแก้ว กทม. และชลบุรี เป็นเหตุให้ผู้ปกครองกังวล ที่ประชุมหารือโดยวิเคราะห์คลัสเตอร์ในโรงเรียน แม้จะพบหลากหลายจังหวัด แต่เป็นรายงานเล็กๆ 3-9 ราย ไม่เกิน 10 ราย เป็นนักเรียนในชั้นเดียวกัน ครูที่พบมีเพียง 1-2 ราย มีการปิดการเรียนการสอนเป็นชั้นเรียน โดยไม่ต้องปิดโรงเรียน ซึ่งตามแผนเผชิญเหตุ หากติด 1 ห้อง นักเรียนติด 1-2 คน ก็ปิดห้องเรียนหรือชั้นเรียนนั้น 3 วัน งดรวมกลุ่มระหว่างชั้นเรียน เข้ากระบวนการรักษา กลุ่มเสี่ยงสูงงดออนไซต์ เน้นออนไลน์ กลุ่มความเสี่ยงต่ำยังสามารถเข้ามาเรียนได้ ถ้ามากกว่า 2 ราย เกิน 1 ห้องเรียน โรงเรียนจะพิจารณาปิดทั้งโรงเรียน ขอให้ผ่านการปรึกษาคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
คลัสเตอร์ตลาดลาม 21 จว.
พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า ส่วนคลัสเตอร์ตลาดพบถึง 21 จังหวัด คือกทม. สระบุรี ชลบุรี กาญจนบุรี ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ประจวบคีรีขันธ์ น่าน ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ปทุมธานี สุรินทร์ ลพบุรี ปราจีนบุรี ตาก ขอนแก่น อ่างทอง เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา อุดรธานี และสมุทรสาคร ศบค.ชุดเล็กหารือถึงคลัสเตอร์ตลาดซึ่งเพิ่งผ่านตรุษจีนมา ดังนั้นจึงยังไม่ใช้ตัวเลขติดเชื้อจากตรุษจีน เพราะต้องจับตาอีก 1-2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามต้องฝากทุกจังหวัดเน้นย้ำมาตรการตลาดปลอดภัย ประชาชนร่วมกันตรวจสอบหากเห็นว่าตลาดพื้นที่ชุมชนเราไม่ปลอดภัย ก็ต้องรายงานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เช่นแม่ค้าฉีดวัคซีนครบ สถานที่สะอาด ทำความสะอาดจุดร่วม
“คลัสเตอร์ที่ยังรายงานต่อเนื่อง คือพิธีกรรม เช่นงานศพ พบที่อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อุดรธานี เพชรบุรี จันทบุรี งานแต่ง พบที่น่าน ศรีสะเกษ มหาสารคาม งานบวช พบที่ปราจีนบุรี ขณะที่คลัสเตอร์บุคลากรทางการแพทย์ เช่นในแผนกหอผู้ป่วยเด็ก ศัลยกรรม ผู้ป่วยใน พบที่จ.เชียงใหม่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ปทุมธานี นนทบุรี อุดรธานี ขอนแก่น กทม. ซึ่งหลายจังหวัดเป็นเมืองรอง ไม่ได้นำร่องท่องเที่ยว แต่มีการรายงานติดเชื้อสูงระยะนี้ ศบค.ชุดเล็กตั้งข้อสังเกต เราเน้นย้ำจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวดูแลตัวเองเข้มงวด สถานประกอบการผ่านมาตรการ COvID Free Setting แต่เป็นไปได้ไหมว่า เมืองรองไม่ได้รณรงค์มากเพียงพอ จึงฝากพื้นที่จังหวัดไปวิเคราะห์การติดเชื้อในจังหวัดตนเอง กำหนดการป้องกันให้ตรงจุด ฝากสังเกตอาการตนเอง ป้องกันตนเองครอบจักรวาล ตรวจสอบความเสี่ยงตัวเองเสมอ แม้จะเป็นร้านเล็กก็ต้องเข้มงวดเช่นกัน”
ผู้ช่วยโฆษกศบค.กล่าวด้วยว่า สัปดาห์หน้าจะมีการพิจารณาการผ่อนคลายหรือกำหนดมาตรการต่างๆ หลังครบกำหนดประกาศมาตรการฉบับที่ 42 เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยสัปดาห์นี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อเสนอศบค.ชุดใหญ่ ส่วนตัวเลขผู้ติดเชื้อวันนี้ 9,172 ราย หลายท่านอาจทำให้เป็นห่วง แต่ศบค.จะพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยประเทศชาติและประชาชนต้องปลอดภัย กิจการกิจกรรมผ่อนคลายให้ดำเนินชีวิตใกล้เคียงปกติมากที่สุด
สำหรับการเปิดลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านระบบ Test&Go วันที่ 1 ก.พ. คงไม่ได้ปล่อยให้เดินทางเข้ามาวันที่ 2 ก.พ.เลย เพราะต้องตรวจสอบเอกสารต่างๆ เช่นกรมควบคุมโรคตรวจหลักฐานการฉีดวัคซีนครบ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการ ท่องเที่ยวและกีฬา ตรวจสอบหลักฐานชำระค่าโรงแรมที่พัก ซึ่งต้องเป็น SHA Extra+ ด้วย ที่ผ่านมาพบว่า จองจริง แต่ไม่มีร.พ.คู่ปฏิบัติการตรวจ RT-PCR จึงต้องใช้เวลาตรวจสอบ รวมถึงทบทวนประกันสุขภาพที่ซื้อมาด้วย เพราะที่ผ่านมาพบซื้อประกันเฉพาะวันที่ตัวเองอยู่ แต่เจอปัญหาวันสุดท้ายเดินทางกลับแล้วติดเชื้อ แต่ประกันไม่ครอบคลุมแล้ว จึงต้องตรวจสอบการซื้อประกันอย่างเข้มงวดให้มั่นใจ หากติดเชื้ออยู่เมืองไทยต่อต้อง ไม่เป็นภาระระบบสาธารณสุขบ้านเรา
“วันนี้ศบค.ชุดเล็กหารือการตรวจ RT-PCR กลุ่มนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้อาจแสดง หลักฐานการตรวจ ตอนนี้คำถามว่าต้องการเอกสารจริง ผลการตรวจที่มีมาตรฐานด้วย ทั้งหมดคงใช้เวลาไม่เกิน 7 วันน่าจะอนุมัติและเดินทางเข้าประเทศไทยได้ ถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติมซักถาม Thailand Pass สามารถสอบถามได้ตามระบบที่วางไว้” พญ.อภิสมัยกล่าว
‘ฮู’ห่วงหลายปท.ผ่อนคลาย
พญ.อภิสมัยกล่าวด้วยว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ห่วงหลายประเทศที่กำหนดนโยบายผ่อนคลายโควิด-19 มากจนเกินไป โดยให้เหตุผลว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวดอีกต่อไป ซึ่ง WHO ค่อนข้างเป็นห่วง จึงออกมาย้ำเตือนว่าการแพร่ระบาดที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นนั้นจะหมายถึงมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโอมิครอนที่รายงานที่แรกที่แอฟริกาเมื่อ 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกมียอดติดเชื้อแล้วเกิน 90 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งปีของปี 63 จึงมีทิศทางที่ไม่เห็นด้วยกับการผ่อนคลายมากเกินไป
“ประเทศที่ผ่อนคลายชัดเจนคือเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมายกเลิกมาตรการสาธารณสุขที่จำเป็นหลายอย่าง ทั้งเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ รวมทั้งในแง่การดำเนินชีวิตมีการกำหนดว่าการสมัครงานหรือเข้ารับบริการต่างๆ ไม่จำเป็นต้องแสดงหลักฐานหรือใบรับรองสุขภาพอีกต่อไปเช่นเดียวกับประเทศฝรั่งเศสที่เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่กลางแจ้ง เช่นการชมคอนเสิร์ตดูกีฬา และมีการกำหนดว่า 16 ก.พ.นี้จะเปิดให้บริการไนต์คลับ และอนุญาตให้ดื่มได้ในสนามกีฬา โรงภาพยนตร์ เป็นต้น”
ป่วยทุบสถิติโอมิครอน
พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า องค์การอนามัยโลกเป็นห่วงนั้นต้องขอย้ำว่าการยกเลิกมาตรการสาธารณสุขของประเทศเหล่านี้ไม่ได้แปลว่าเขาได้คำนึงว่ามีความปลอดภัยแล้ว แต่เป็นการส่งสัญญาณว่าประเทศเหล่านี้ตัดสินใจเปิดกิจการ กิจกรรม ผ่อนคลายมากขึ้นโดยยอมรับความเสี่ยงที่จะตามมา ถ้าดูตัวเลขอัตราตายทั่วโลกที่อยู่ 1.48% ซึ่งหลายประเทศยังมีการเสียชีวิต อย่างสหรัฐอเมริกา 2,990 ราย ฝรั่งเศส 276 ราย อังกฤษ 534 ราย เยอรมนี 174 ราย รัสเซีย 678 ราย อิตาลี 395 ราย เป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ ศบค.จะพิจารณาอย่างรอบคอบ แม้อัตราเสียชีวิตจะไม่สูงเหมือนเดลตา แต่รายเดียวเราก็ไม่อยากให้สูญเสียชีวิต ขณะที่สหรัฐเปิดเผยว่าการติดเชื้อโอมิครอนสัดส่วนขึ้นไป 99.9% เหลือ เดลตา 0.1% ดังนั้น การฉีดวัคซีนเข็มสามยังจำเป็น ซึ่งหลายประเทศลดหย่อนมาตรการ โดยระบุว่าประชาชนค่อนข้างฉีดวัคซีนครอบคลุม แต่ก็เพราะระบบสาธารณสุขประเทศเหล่านั้นสามารถรองรับอย่างมีมาตรฐาน ส่วนประเทศไทยยังต้องคำนึงหลายองค์ประกอบเพื่อให้ประเทศปลอดภัย และดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เป็นการติดเชื้อรายวันเกิน 9 พันครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน
‘อนุทิน’จ่อบังคับใส่หน้ากาก
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีมี การแชร์ข้อมูลจากเพจศูนย์ข้อมูลโควิด-19 เผยแพร่อัตราค่าปรับผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย เมื่อวันที่ 31 ม.ค.65 ว่า ตนยังไม่ทราบข้อมูลตรงนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังไม่มีใครรายงานเรื่องนี้ แต่อาจเป็นข้อเสนอของ หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งในศบค.ที่เราต้องมาพิจารณา และเห็นว่าการสวมหน้ากากอนามัยควรจะสวมตลอดเวลา
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีดังกล่าวเคยมีประกาศข้อกำหนดตามออกมาก่อนหน้านั้น นายอนุทินกล่าวว่า ยังไม่ได้ผ่านมาทางตน แต่ใครคิดอะไรที่เป็นประโยชน์ที่ทำให้เกิดการป้องกันโรคอย่างสูงสุด และป้องกันตัวเองแบบครอบจักรวาลทุกคนมีสิทธิเสนอได้ โดยต้องนำมาหารือรับฟังความเห็นกัน หากประชาชนร่วมมือรับเป็นอย่างดีก็ไม่ต้องบังคับใช้กฎหมาย แต่ถ้ามีคนปฏิเสธไม่ให้ความร่วมมือ ไม่สวมหน้ากากอนามัย โดยอ้างความเป็นอิสระ แต่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนต้องมาหารือกัน เพราะได้รับรายงานว่าต่างชาติบางคนก็ไม่ยอมสวมหน้ากาก เช่น ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี คนต่างชาติไม่ค่อยยอมใส่หน้ากากอนามัยกัน อาจมีเหตุผลเรื่องวัฒนธรรมแต่จะเพราะเหตุอะไรต้องมาคุยในศบค.ว่าจะทำอย่างไรกับคนกลุ่มนี้
เมื่อถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องให้นัก ท่องเที่ยวปฏิบัติตามมาตรการ นายอนุทินกล่าวว่า ต้องเรามีมาตรการกำหนดออกมาแล้วต้องปฏิบัติตาม เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม
เมื่อถามว่าต้องนำกฎหมายมาบังคับใช้ในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้หารือกัน แต่ถ้าจำเป็นต้องมาหารือกัน ถ้าใช้ก็ต้องบังคับใช้ให้ทั่วหน้า ส่วนจะอ้างว่าเข้าเมืองแบบเทสต์แอนด์โก ผ่านขั้นตอนมาแล้วไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย จะมาอ้างอย่างนี้ไม่ได้ ต้องมีมาตรการจัดการ
เมื่อถามว่าหากยอดผู้ติดเชื้อเกินหมื่นคนต่อวัน จะทบทวนมาตรการหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ตอนนี้ต้องดูผลของวัคซีน และจากการฉีดวัคซีนจำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและเข้าห้องไอซียูยัง ไม่เพิ่มขึ้น และยังควบคุมจำนวนผู้ที่รักษาตัวเองได้ดีอยู่ผู้ป่วยติดเชื้อที่อาการไม่หนักก็อยู่ในเกณฑ์ตามฉากทัศน์ของกรมควบคุมโรค ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ต้องไม่ประมาท
สธ.ย้ำฉีดครึ่งโดสเฉพาะ mRNA
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แนะนำให้เร่งฉีดวัคซีน โควิด-19 เข็มกระตุ้นให้ประชาชน โดยเฉพาะเข็ม 3 ตามกำหนด เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค ส่วนเข็ม 4 ในประชาชนทั่วไปที่รับเข็ม 3 มานานกว่า 3 เดือน สามารถเข้ารับการกระตุ้นได้แล้ว โดยเน้นย้ำในกลุ่มเสี่ยงที่มีความรุนแรง คือกลุ่ม 608 ส่วนเข็มกระตุ้น ซึ่งเราไม่ได้นับว่าเป็นเข็ม 3 หรือ 4 ภาพรวมตอนนี้ฉีดได้ครอบคลุม 20% แล้ว
เมื่อถามว่าการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังและฉีดครึ่งโดส ทำได้ในวัคซีน mRNA และไวรัลเวกเตอร์หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า การฉีดครึ่งโดสหรือฉีดเข้าชั้นผิวหนังเพื่อลดความเสี่ยงต่ออาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด คำแนะนำของสธ. ตอนนี้คือเฉพาะชนิด mRNA เท่านั้น ส่วนไวรัลเวกเตอร์ เราให้ฉีดเต็มโดสเข้ากล้ามเนื้อตามปกติ ทั้งนี้การฉีด mRNA เข้าในชั้นผิวหนังหรือครึ่งโดส ผู้รับวัคซีนสามารถเลือกได้ แต่ต้องขึ้นอยู่ดุลพินิจของแพทย์ด้วย
ชี้ฉีดชั้นผิวหนังได้ผลดี
ด้านนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการ ศึกษาของจ.ภูเก็ตซึ่งเป็นจังหวัดรองรับการ ท่องเที่ยว จึงต้องรับวัคซีนกระตุ้นภูมิ ซึ่งใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าฉีดเข้าชั้นผิวหนัง พบว่าได้ผลดี ภูมิคุ้มกันขึ้นพอๆ กับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ส่วนภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้นานแค่ไหนต้องเก็บข้อมูลระยะยาว ต้องใช้เวลา โดยหลักแล้วการฉีดวัคซีนโควิด ภูมิจะอยู่ได้ระดับหนึ่งจึงต้องฉีดกระตุ้น ทั้งนี้ การฉีดที่ลดปริมาณลงมา เช่นฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง หรือฉีดครึ่งโดส เราจะใช้ในช่วงที่มีวัคซีนมีน้อย แต่ตอนนี้เรามีวัคซีนเพียงพอ หรือต้องการลดผลข้างเคียง เช่น ฉีด mRNA ในเด็กผู้ชาย ที่พบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เมื่อการฉีดเข็มกระตุ้น ก็สามารถฉีดครึ่งโดส หรือฉีดเข้าในชั้นผิวหนังได้
“ด้านอาการข้างเคียงของการฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง เราพบว่าลดลง มีเพียงอาการปวดแดงบริเวณที่ฉีด ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่า เมื่อฉีดเข้าในชั้นผิวหนังแล้ว มีโอกาสที่จะพบรอยแดง เป็นหนอง เหมือนเป็นแผลที่แขน จุดตรงฉีดได้ แต่ก็ไม่ได้เกิดเยอะ ไม่อยากให้เกิดเป็นความเข้าใจผิด จึงต้องเน้นย้ำเรื่องนี้ แต่ภูมิขึ้นดีพอๆ กับฉีดเข้ากล้าม” นพ.ศุภกิจกล่าว
‘บิ๊กตู่’ยันยังไม่ผ่อนปรนเพิ่ม
เมื่อเวลา 15.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 11 ก.พ.นี้จะมีการผ่อนปรนมาตรการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ว่า เรื่องการผ่อนปรนมาตรการอะไรต่างๆ ยังไม่มี จะมีเท่าที่เสนอมาแล้วในขณะนี้ ทุกอย่างยังอยู่ในห้วงของการประเมินต่อไป และประเมินเป็นรายสัปดาห์ สถิติสูงขึ้น ลดลง จะว่ากันอย่างไร การฉีดวัคซีนมีผลอย่างไร และวัคซีนเด็กเป็นอย่างไร การดูแลเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการของรัฐมีอะไรบ้าง ทราบกันดีอยู่แล้ว ก็ค่อยๆ ทยอยดำเนินการไป สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือเรื่องของสุขภาพและงบประมาณที่มีอยู่จะต้องสำรองไว้เผื่อเหตุฉุกเฉินด้วย
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีองค์การอนามัยโลกแสดงความห่วงใยกรณีที่หลายประเทศผ่อนปรนมาตรการมากเกินไป ทั้งที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูงอยู่ นายกฯ กล่าวว่า ตนได้อ่านข่าวและเห็นข่าวก็เป็นห่วง ซึ่งเราประมาทไม่ได้อยู่แล้ว หลายคนบอกว่าต่อไปอาจจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เป็นโรคธรรมดา โรคปกติ เหมือนโรคอื่นๆ ซึ่งตนยังไม่ได้วางใจตรงนี้ เพราะสถานการณ์ยังมีความรุนแรงเกิดขึ้นในหลายประเทศ ทั้งการบาดเจ็บ การสูญเสีย การติดเชื้อ ของเราอยู่ในสภาพที่ยังดูแลได้อยู่ สถิติเห็นกันทุกวัน ก็ยังเป็นห่วงเป็นใยเหมือนเดิม สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อทุกวันที่ยังสูงอยู่นั้นก็ต้องดูว่ามาตรฐานทางสาธารณสุขเรารองรับได้หรือไม่ การเสียชีวิตเกิดจากอะไร และจะแก้ปัญหาตรงนั้นได้อย่างไร ซึ่งก็ทำแบบนี้มาตลอด ตรงนี้จะเป็นปัจจัยในการพิจารณา
นำไ ปตรวจ – ชุดปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หน่วยกู้ภัยฮุก 31 รับตัวผู้เข้าเกณฑ์ต้องสงสัยติดเชื้อโควิด จำนวน 7 คน ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ต.หนองกระทุ่ม อ.เมืองจ.นครราชสีมา ไปตรวจหาเชื้ออย่างละเอียดที่ร.พ.มหาราชนครราชสีมา เมื่อวันที่ 3 ก.พ.
คลัสเตอร์รร.โคราชลามหนัก
คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 209 ราย ติดเชื้อสะสม 38,917 ราย รักษาหายแล้ว 36,501 ราย ยังรักษาอยู่ 2,118 ราย เสียชีวิตสะสม 298 ราย
ขณะเดียวกันจับตาเฝ้าระวังคลัสเตอร์โรงเรียนต่างๆ 6 แห่ง โดยเฉพาะล่าสุดเกิดคลัสเตอร์โรงเรียนเตรียมอุดมน้อมเกล้านครราชสีมา ต.โคกกรวด อ.เมือง จ.นครราชสีมา ล่าสุดพบนักเรียนติดเชื้อใหม่เพิ่ม 3 ราย ทำให้มีนักเรียนและครูติดเชื้อรวม 30 ราย ทางโรงเรียนจึงใช้ระบบสคูลไอโซเลชั่น โดยจัดพื้นที่หอพักภายในโรงเรียนกักตัวผู้ติดเชื้อ และกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด 317 ราย
นายทนงค์ เขียวแก้ว ผอ.โรงเรียนเตรียมอุดมน้อมเกล้านครราชสีมา เปิดเผยว่า เมื่อ 2 วันที่ผ่านมาตรวจพบนักเรียนชั้น ม.4 ติดเชื้อโควิด-19 หลายราย ทางโรงเรียนจึงประสานงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาตรวจ ATK นักเรียนกลุ่มเสี่ยงชั้น ม.4 และ ม.5 ทั้งหมด และเมื่อวันที่ 2 ก.พ. พบมีเด็กนักเรียนและครูติดเชื้อ 27 ราย ล่าสุดวันที่ 3 ก.พ. พบนักเรียนติดเชื้อเพิ่ม 3 ราย รวมผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์นี้ 30 ราย โดยเป็นเด็กนักเรียนชั้น ม.4 จำนวน 27 ราย ม.5 จำนวน 1 ราย และครู 2 ราย ทั้งหมดมีอาการไม่รุนแรง กักตัวกลุ่มผู้ติดเชื้อ และกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด 317 ราย เจ้าหน้าที่กำลังสอบสวนโรค ระหว่างนี้ให้นักเรียนทั้งหมดเรียนออนไลน์ 100%
ด้านเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเคลื่อนย้าย ผู้ป่วยโควิด-19 หน่วยกู้ภัยฮุก 31 นครราชสีมา นำรถตู้ความดันลบเข้าไปรับผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ต้องสอบสวนโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ต.หนองกระทุ่ม อ.เมือง จ.นครราชสีมา 7 ราย มีทั้งผู้ใหญ่และเด็กเล็ก ส่งเข้าตรวจหาเชื้อที่ร.พ.มหาราชนครราชสีมา เนื่องจากมีประวัติเดินทางไปหรือกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง หรือมีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือผู้สงสัยว่าติดเชื้อโควิด ซึ่งยังไม่ชี้ชัดว่าเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์ไหน ทีมสอบสวนโรคกำลังตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก เพื่อเร่งนำตัวผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษา
‘สารคาม’วุ่น 3 คลัสเตอร์ใหม่
ส่วนจ.มหาสารคาม พบผู้ป่วยรายใหม่ 193 ราย มาจากพื้นที่เสี่ยงสูงอยู่ระหว่างกักตัว 6 ราย สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 160 ราย อยู่ระหว่างสอบสวนโรคและตรวจเฝ้าระวังอื่นๆ 27 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกับผู้ติดเชื้อไปก่อนหน้านี้ ซึ่งมีทั้งนักเรียน ครู พนักงานเทศบาลเมืองมหาสารคาม ทำงานที่อู่เคาะพ่นสีรถยนต์ บุคลากรทางการแพทย์ ทำงานร้านอาหารกึ่งสถานบริการ มีประวัติร่วมงานแต่งงาน และงานศพ
นอกจากนี้พบคลัสเตอร์ใหม่ 3 คลัสเตอร์ ได้แก่คลัสเตอร์งานศพ ที่ต.เมืองเตา อ.พยัคฆภูมิพิสัย มีผู้ป่วยเดินทางมาร่วมงานจากจ.ระยอง ก่อนพบติดเชื้อ มีผู้ติดเชื้อสะสม 85 ราย 2.คลัสเตอร์นักเรียน ที่ต.ดงดวน อ.นาดูน มีผู้ติดเชื้อสะสม 15 ราย และ 3.คลัสเตอร์เทศบาลเมืองมหาสารคาม พบมีเจ้าหน้าที่ติดเชื้อแล้ว 17 ราย นายภาคิน ติระพงศ์ไพบูลย์ นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคามประกาศปิดสำนักงานเทศบาลชั่วคราว (3 วัน) ตั้งแต่วันที่ 2-4 ก.พ.เพื่อทำความสะอาดภายในอาคารสำนักงาน
เชียงใหม่ติดเชื้อเพิ่ม 158
ส่วนจ.เชียงใหม่ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 158 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด 149 ราย อีก 9 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างจังหวัดและต่างประเทศ มีผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่เดือนเม.ย.64 จำนวน 34,757 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย เสียชีวิตสะสม 2,028 ราย รักษาหายแล้ว 32,890 ราย ยังคงรักษา 1,617 ราย
ภูเก็ตติดเชื้อพุ่ง 557
ส่วนจ.ภูเก็ตพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 557 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด 395 ราย ผู้ติดเชื้อภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 161 ราย ผู้ติดเชื้อเทสต์แอนด์โก 1 ราย หายป่วยกลับบ้าน 493 ราย ยอดติดเชื้อสะสม 15,987 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อภายในจังหวัด 11,650 ราย ผู้ติดเชื้อรับจากต่างจังหวัด 3 ราย ผู้ติดเชื้อต่างประเทศ 8 ราย ผู้ติดเชื้อแซนด์บ็อกซ์ 3,632 ราย ผู้ติดเชื้อเทสต์แอนด์โก 694 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 11 ราย ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 3,941 ราย
ฉีด 5-11ขวบ – นักเรียนกว่า 500 คน เข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กอายุ 5-11 ขวบ โดยมีครูคอยดูแลปลอบขวัญอย่างใกล้ชิด ที่ศาลาอเนกประสงค์ วัดศรีสำราญราษฎร์บำรุง ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 3 ก.พ.
สมุทรสาครเริ่มฉีดไฟเซอร์เด็ก
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 08.30 น. ที่ลานต้นโพธิ์โรงพยาบาลสมุทรสาคร มีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 5-11 ขวบเป็นวันแรก ตามที่สำนักงานสาธารณสุขและโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งวางแผน เริ่มจากกลุ่มเด็กเปราะบางที่มีโรคประจำตัว หรือเป็นโรคอ้วนก่อน โดยมีผู้ปกครองพาบุตรหลานมาเข้ารับการฉีดไฟเซอร์เด็กอย่างต่อเนื่อง
สำหรับวันแรกมีกลุ่มเด็กนำร่องของทั้ง 3 อำเภอเข้ารับการฉีดวัคฟซีนไฟเซอร์เด็ก 1,100 คน จากนั้นโรงพยาบาลสมุทรสาคร อ.เมืองสมุทรสาคร, โรงพยาบาลกระทุ่มแบน อ.กระทุ่มแบน และโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (มหาชน) อ.บ้านแพ้ว จะดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กอายุ 5-11 ขวบตามความเหมาะสมในแต่ละวัน จากการสำรวจพบว่ามีผู้ปกครองประสงค์จะให้เด็กไทยกลุ่มอายุ 5-11 ขวบในจ.สมุทรสาครเข้ารับการฉีดวัคซีน 26,072 คน จากทั้งหมด 49,044 คน
กทม.จัดคิวฉีดเด็ก-เริ่ม7กลุ่มโรค
วันเดียวกัน ที่ศาลาว่าการ กทม. พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ โดยมีหน่วยงานในสังกัดกทม. และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
พล.ต.ท.โสภณกล่าวว่า ที่ประชุมพิจารณาและหารือแนวทางการฉีดวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ให้แก่เด็กอายุ 5-11 ขวบ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้จัดสรรวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กให้โรงพยาบาลต่างๆ ในกรุงเทพฯ และร.พ.เริ่มดำเนินการให้บริการฉีดวัคซีนแก่เด็กอายุ 5-11 ขวบไปบ้างแล้ว เบื้องต้นช่วงแรกเป็นการฉีดวัคซีนแก่เด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.โรคอ้วนที่มีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น 2.โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง 3.โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง 4.โรคไตวายเรื้อรัง 5.โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ 6.โรคเบาหวาน และ 7.กลุ่ม โรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า จากการสำรวจยอดกลุ่มเป้าหมายเด็กอายุ 5-11 ขวบ ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีโรงพยาบาล 67 แห่ง แจ้งยอดรวม จำนวน 54,833 คน โดยเด็กที่มีภาวะเสี่ยง 7 กลุ่มโรคดังกล่าวสามารถขอรับบริการฉีดวัคซีน ได้ที่ ร.พ.ที่เด็กมีประวัติการรักษาอยู่” พล.ต.ท.โสภณกล่าว
“เพื่อให้การบริหารจัดการวัคซีนแก่เด็ก 5-11 ขวบ เป็นไปอย่างมีระบบตามที่ได้รับการจัดสรร จึงกำหนดฉีดวัคซีนแก่เด็ก 7 กลุ่มโรคเรื้อรังก่อน และเมื่อดำเนินการฉีดวัคซีนให้เด็ก 5-11 ขวบ ทั้ง 7 กลุ่มโรคเรื้อรังครบแล้ว จะเริ่มทยอยฉีดวัคซีนให้แก่เด็กปกติอายุ 5-11 ขวบ ที่อยู่ในระบบสถานศึกษา ไล่ตามลำดับ เริ่มจากชั้นป.6 ครบแล้วจึงฉีดวัคซีนให้เด็กชั้น ป.5 ชั้น ป.4 ไล่ลงไปเรื่อยๆ จนฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียนในระบบสถานศึกษาจนครบ จากนั้นจึงเป็นการฉีดวัคซีนให้เด็กในระบบโฮม สคูล ต่อไป”