การจัดเก็บรวบรวมรักษาองค์ความรู้ข้อมูลวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพผ่านเทคโนโลยี เป็นอีกส่วนหนึ่งร่วมสร้างการอนุรักษ์ยั่งยืน สร้างการเรียนรู้และการเข้าถึงแหล่งข้อมูล …
การพัฒนาแพลตฟอร์ม “นวนุรักษ์” การบูรณาการข้อมูลทางวัฒนธรรมดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือ เป็นคลังข้อมูลการจัดการข้อมูลวัฒนธรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อการอนุรักษ์และเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยว จากการพัฒนาดำเนินการต่อเนื่องชวนรู้จักนวนุรักษ์แพลตฟอร์ม ชวนสืบค้นข้อมูล เรียนรู้วัฒนธรรม และแง่มุมในด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน
ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สวทช. ให้ความรู้ว่า นวนุรักษ์ เป็นแพลตฟอร์มสำหรับเก็บรวบรวมข้อมูลวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยหลักการทำงานของนวนุรักษ์ จะเน้นให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการข้อมูลได้ด้วยตนเอง โดยมีแพลตฟอร์มที่เป็นระบบให้กับชุมชนเก็บข้อมูล เผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์โดยหลักของการทำงาน ชุมชนทำงานได้ด้วยตนเอง
ย้อนกลับไปก่อนมาเป็นนวนุรักษ์ การเก็บข้อมูลลักษณะนี้มีมานาน จากนั้นพัฒนาตัวระบบ จากนั้นปรับเปลี่ยนชื่อ “นวนุรักษ์” มาจาก นว และอนุรักษ์ “นว” หมายถึงใหม่หรืออีกนัยคือ นวัตกรรมและเมื่อรวมกับ “อนุรักษ์” เป็นการอนุรักษ์ในแนวใหม่ มองภาพถึงการนำไปเสริมเรื่องของชุมชนที่นอกเหนือจากเรื่องของวัฒนธรรม มีเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพรวมอยู่ด้วย ในแพลตฟอร์มจึงมีทั้งสองเรื่องอยู่ในนั้น เป็นคลังข้อมูลเบื้องต้นให้ศึกษาและสืบค้นข้อมูล
“ในสองเรื่องนี้ทั้งทางด้านวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพมีอยู่คู่กัน ทั้งนี้บางชุมชนมีอัตลักษณ์ของเขา อาจเป็นเรื่องของการนำพืชพันธุ์ธัญญาหาร นำมาปรับเปลี่ยนเป็นอาหาร หรือนำมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ ชุมชนนำสิ่งที่มีอยู่รอบนำมาสร้างสรรค์ ฯลฯ
การเก็บรวบรวมข้อมูลชุมชนอาจมีการเก็บรวบรวมข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้ได้รับรู้ ชุมชนมีของดีอะไร ใช้ธรรมชาติอะไร ซึ่งเป็นการดูแลรักษาธรรมชาติไปพร้อมกัน”
ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ดร.เทพชัย อธิบายเพิ่มอีกว่า ด้วยที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. เป็นผู้ดูแลโครงการ โดยเราทำงานประสานได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง อว. หรือการทำงานร่วมกับเครือข่าย จากการเก็บข้อมูลลักษณะนี้ ถ้าเป็นกรณีของชุมชนจะเน้นที่ชุมชนเป็นผู้รวบรวมข้อมูล และอีกหลายครั้งเช่นกันที่หน่วยงานเป็นผู้รวบรวมข้อมูล
“ฐานข้อมูลที่รวบรวม จัดเก็บจากที่กล่าว แต่ละชุมชนเป็นผู้รวบรวม อย่างเช่น อุทยานธรณีโลกสตูล จังหวัดสตูล จะมีข้อมูลถ้ำ โดยแต่ละถ้ำมีสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ อีกทั้งในส่วนนี้มีผู้เชี่ยวชาญร่วมเก็บข้อมูล อย่างเช่น ค้างคาว เมื่อเข้าไปเที่ยวในถ้ำอาจเคยสังเกตเห็นค้างคาวแต่อาจไม่เคยได้ยินเสียง ในข้อมูลนวนุรักษ์จะมีการเก็บเสียงเก็บมาให้ฟังกัน หรือก่อนเข้าไปในสถานที่จริงจะเห็นภาพ ได้ยินเสียง อย่างเช่น ตุ๊กกาย อาจคุ้นเคยชื่อ แต่ไม่เคยเห็นตัวก็จะมีข้อมูลให้เรียนรู้ เป็นต้น”
ในส่วนข้อมูลด้านวัฒนธรรมที่บันทึก จะมีทั้งจากชุมชน และเครือข่ายรอบชุมชนเก็บข้อมูล ขณะที่ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากชุมชนจากที่กล่าวจะมีผู้เชี่ยวชาญ นักชีววิทยา นักอนุกรมวิธาน ฯลฯ ให้ข้อมูล เติมข้อมูลครบถ้วนขึ้น อย่างเช่น พืชพันธุ์ไม้ ชุมชนรู้จักในชื่อนี้ก็จะมีชื่อวิทยาศาสตร์ สกุลวงศ์ ลักษณะในด้านอนุกรมวิธาน หรือคุณลักษณะต่าง ๆ ฯลฯ โดยนำข้อมูลที่ได้มาเชื่อมโยงกัน
“จากการจัดเก็บข้อมูลเป็นฐานข้อมูลเบื้องต้นที่เชื่อมโยงนำไปสู่การศึกษา การค้นคว้าและการนำไปประยุกต์ใช้ต่อยอด ต่อเนื่องไป ข้อมูลที่มีในชุมชนจะได้รับการจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบ จะเห็นได้ว่าในเรื่องของวัฒนธรรม หลายชุมชนนำข้อมูลเหล่านี้ส่งต่อให้กับรุ่นต่อไป โดยเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนชุมชน ได้นำข้อมูลบอกเล่า เผยแพร่ ข้อมูลเหล่านี้ก็จะยังคงปรากฏไม่สูญหาย”
ดร.เทพชัย เล่าเพิ่มอีกว่า ในเรื่องของการเก็บข้อมูลมีหลายวิธี จากที่กล่าวแต่ละชุมชนท้องถิ่นมีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ มีประเพณี วัฒนธรรมที่โดดเด่น อย่างเช่น ชุมชนวัฒนธรรมไทยเบิ้งโคกสลุง จังหวัดลพบุรี หนึ่งในพื้นที่ที่เก็บข้อมูล โดยที่นี่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและยังคงวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม ทั้งในเรื่องการแต่งกาย ภาษาพูด อาหารพื้นบ้าน อย่างข้อมูลด้านอาหารของชุมชน ลำตับ เป็นเมนูที่สร้างอัตลักษณ์ให้กับชุมชน หรือ การทอผ้า การย้อมสีเส้นด้ายจากพืชเฉพาะในชุมชน วิธีการผลิตผืนผ้า ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายพื้นที่ ชุมชมเครือข่ายอีกหลายแห่งร่วมกันรวบรวมข้อมูล นำเข้าในแพลตฟอร์มนวนุรักษ์ ต่อยอดองค์ความรู้ต่อไป จากที่กล่าวโครงการฯเน้นชุมชนให้ชุมชนได้รับประโยชน์ ได้ใช้ข้อมูลเหล่านี้ ทั้งนี้ชุมชนเป็นพลังเป็นแกนขับเคลื่อน เพิ่มเติมหรืออัพเดทข้อมูลต่าง ๆ อย่างเช่นที่ อุทยานธรณีโลกสตูล ที่ลงพื้นที่ล่าสุด การเก็บข้อมูลในเชิงดิจิทัล การนำนวนุรักษ์ไปเสริมทำให้เห็นข้อมูลชัดขึ้น นำไปใช้ต่อยอดบริหารจัดการข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่
นอกจากเรื่อง ถ้ำ แหล่งท่องเที่ยวทางด้านธรณีวิทยา ยังมีธรรมชาติที่น่าประทับใจ ยังมีความน่ามหัศจรรย์ของ กองทัพปู หญ้าทะเล ความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ไม้ งานหัตถกรรมการทำผืนผ้าบาติก ฯลฯ เอกลักษณ์ของชุมชน นำเรื่องน่ารู้เผยแพร่ นำข้อมูลประยุกต์ใช้ทำเป็นสื่อเรียนรู้ หรือนำไปใช้บริหารจัดการเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนฯลฯ โดยสามารถศึกษา สืบค้นได้จากเว็บไซต์
“แต่ละพื้นที่มีความโดดเด่น มีวัฒนธรรมประเพณีเป็นเอกลักษณ์ บางชุมชนมีความโดดเด่นด้านลวดลายผืนผ้า บางชุมชนเน้นความหลากหลายทางชีวภาพ มีพืชพันธุ์ไม้ สัตว์เฉพาะถิ่นให้ศึกษา ซึ่งหลายหน่วยงานมีความพยายามรวบรวมข้อมูล แต่สิ่งหนึ่งที่มีความยากคือ การทำอย่างไรให้ข้อมูลเหล่านี้ไปถึงผู้ใช้ นำไปใช้และยังเป็นข้อมูลที่มีชีวิตอัพเดท
“จากที่กล่าวการนำข้อมูลวางไว้ที่ชุมชนหรือใกล้ชุมชน เกิดการร่วมกันดูแลจะส่งผลให้กับชุมชนมีอัตลักษณ์ รักษาองค์ความรู้และภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนที่สืบทอดกันมาคงอยู่ ทั้งเกิดการแบ่งปันข้อมูล ยิ่งเมื่อรวบรวมอยู่ในแพลตฟอร์มข้อมูลจะเกิดการเข้าถึงได้ในวงกว้าง เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการท่องเที่ยว การเรียนรู้ ฯลฯ เกิดเป็นการบูรณาการองค์รวมของชุมชน ทำให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง”
ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ดร.เทพชัย ให้ข้อมูลทิ้งท้ายอีกว่า ในแพลตฟอร์มยังมีความตั้งใจเพิ่มระบบการจัดเก็บข้อมูลในด้านวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่ม อย่างเช่น มาร์คจุดที่เป็นไฮไลต์ของชุมชน นำเสนอเป็นเส้นทางท่องเที่ยว เสนอสถานที่ที่น่าสนใจในเส้นทางเป็นข้อมูล มีเกมง่าย ๆ คิวอาร์โค้ดเสริมกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ บอกเล่าเรื่องชุมชน ฯลฯ
อีกส่วนหนึ่งจากสิ่งที่เกิดขึ้น จากการรวบรวมจัดเก็บข้อมูลในหลายปีของแพลตฟอร์มนี้ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน จากเครือข่ายที่ทำงานในด้านนี้ ทำให้เห็นการเชื่อมโยงของข้อมูล อย่างเช่น ถ้าพูดถึงเครื่องสังคโลก โดยมากจะนึกถึงจังหวัดสุโขทัย ขณะเดียวกันที่ จังหวัดน่าน และอีกหลายจังหวัดทางภาคเหนือจึงมีความพยายามนำเสนอ เชื่อมโยงข้อมูล จัดเก็บข้อมูลเผยแพร่เป็นระบบ เป็นการเปิดโอกาสให้กับชุมชนได้ร่วมบอกเล่าเรื่องราว เล่าอัตลักษณ์ และสืบรักษาศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นคงอยู่
เข้าถึงข้อมูลชุมชน เข้าถึงวัฒนธรรมดิจิทัล ส่งเสริมการเรียนรู้ การค้นคว้าและการท่องเที่ยวได้รับข้อมูลชัดเจนยิ่งขึ้น.
พงษ์พรรณ บุญเลิศ