วันนี้ (28 มีนาคม) สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยโครงการนักสื่อสารดิจิทัลสร้างสรรค์สื่อปลอดบุหรี่ (Digitor Thailand) ร่วมกับคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จัดเวทีเสวนาหัวข้อ ‘สื่อดิจิทัลเปลี่ยนโลก ความท้าทายใหม่ลดนักสูบภาคใต้’ ในการปกป้องนักสูบหน้าใหม่ผ่านสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์สื่อติดแฮชแท็กนักศึกษายุคใหม่ไม่สูบไม่ส่งต่อบุหรี่
ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) และอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2560 ยังคงพบว่าภาคใต้มีอัตราการบริโภคยาสูบที่สูงที่สุดในประเทศไทยคือร้อยละ 24.5 และจากรายงานพฤติกรรมการใช้ยาสูบของสมาชิกในครัวเรือนระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงเดือนรอมฎอน (เดือนถือศีลอด) กรณีศึกษาใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ของสถาบันนโยบายสาธารณะและคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้นำเสนอผลการศึกษาว่า จากการสำรวจในพื้นที่จังหวัดสตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จำนวน 850 ครัวเรือนในปีที่ผ่านมา เป็นครัวเรือนที่ไม่สูบจำนวน 562 หลัง คิดเป็นร้อยละ 66.12 และเป็นครัวเรือนที่สูบจำนวน 288 หลัง คิดเป็นร้อยละ 33.88
โดยในเดือนรอมฎอนและภายใต้สถานการณ์โควิด-19 มีผู้ที่ไม่สูบยาสูบเลยจำนวน 668 ราย คิดเป็นร้อยละ 78.58 มีผู้สูบทุกวันจำนวน 111 คน คิดเป็นร้อยละ 13.06 และมีผู้ที่เลิกสูบได้จำนวน 71 คน คิดเป็นร้อยละ 8.35 โดยผู้ตอบแบบสำรวจได้ตอบว่า กรณีไม่ได้เป็นผู้สูบ แต่มีสมาชิกในบ้านหรือเพื่อนบ้านที่สูบ จะแนะนำให้เขาเลิกสูบ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ถึงร้อยละ 82.71 และตอบว่าสมาชิกในครอบครัวจะเลิกสูบในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ถึงร้อยละ 70.35 ซึ่งอาจเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าขณะนี้ภาคใต้คนให้ความสำคัญกับเรื่องยาสูบและสุขภาพมากขึ้น
สำหรับความท้าทายของการควบคุมยาสูบในภาคใต้จะมีด้วยกัน 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่องแรกคือยาเส้น เพราะจากรายงานพฤติกรรมการใช้ยาสูบของสมาชิกในครัวเรือนระหว่างสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในช่วงเดือนรอมฎอน พบการใช้ยาเส้นและใบจากถึงร้อยละ 60.42 ซึ่งแท้จริงแล้วยาเส้นใบจากก็อันตรายไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา
เรื่องที่สอง บุหรี่ผิดกฎหมาย ที่มีการประเมินว่าบุหรี่นอก ที่ขายกันในจังหวัดสงขลา สตูล พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มากกว่าครึ่งหนึ่งอาจเป็นสินค้าหนีภาษี ราวร้อยละ 60 ลักลอบนำเข้าเป็นชุดใหญ่ทั้งทางทะเลและทางบก ร้อยละ 40 ลักลอบนำเข้าผ่านกองทัพมดที่เดินทางข้ามพรมแดนทุกวัน เรื่องบุหรี่ผิดกฎหมายเป็นประเด็นที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหา เพื่อให้สอดคล้องไปกับกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีซึ่งขณะนี้ได้มีการออกพิธีสารว่าด้วยการขจัดการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมายออกมาใช้บังคับแล้ว
และสุดท้ายเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ห้ามนำเข้า ห้ามขายหรือบริการ แต่ก็ยังอาจพบเจอการสูบได้ เนื่องมาจากมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือในการนำเสนอและการบังคับใช้กฎหมายที่อาจยังไม่ทั่วถึง
ดังนั้น 3 ประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย การทำงานเรื่องสื่อดิจิทัลเพื่อลดการสูบยาสูบในพื้นที่ภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง
ด้าน ฮาริส มาศชาย ผู้จัดการโครงการนักสื่อสารดิจิทัลสร้างสรรค์สื่อปลอดบุหรี่ (Digitor Thailand) กล่าวว่า ความท้าทายใหม่ที่ทางโครงการได้เปิดโอกาสให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจสื่อดิจิทัลเทคโนโลยีได้มารวมพลังสร้างสรรค์ไอเดียสู่การสร้างสังคมปลอดบุหรี่ หวังที่จะช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะกลุ่มนักสูบหน้าใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ ผ่านกระบวนการสร้างนักสื่อสารดิจิทัลเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะที่ดีท่ามกลางวิกฤตใหม่สู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนที่เกิดขึ้น
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า