เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เรื่องน่ายินดี เมื่ออุทยานแห่งชาติทะเลบัน จ.สตูล พบ “นกเปล้าหน้าแดง” เพศเมีย นกประจำถิ่นหายากของไทย ที่ใกล้สูญพันธุ์
อุทยานแห่งชาติทะเลบัน จ.สตูล พบนกเปล้าหน้าแดง เพศเมีย ซึ่งพบโดย นายวัชระ สงวนสมบัติ นักปักษีวิทยา และนักวิชาการประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และบันทึกภาพไว้ได้โดยนายบุญฤทธิ์ เดโชโชย หัวหน้าฝ่ายวิจัยและกิจกรรมพิเศษ ประจำอุทยานแห่งชาติทะเลบัน
ซึ่งทางเฟซบุ๊กเพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “นกเปล้าหน้าแดง” (Jambu Fruit Dove) ไว้ว่าเป็นนกชนิดที่พบครั้งแรกที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย การกระจายพันธุ์ มีกำเนิดในสุมาตรา และบอร์เนียว ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบในมาเลเซีย และไทย
ลักษณะทั่วไป เป็นนกที่มีขนาดเล็ก (26-27 ซม.) ตัวผู้ใบหน้าเลือดหมู ด้านบนลำตัวสีเขียว ด้านล่างลำตัวสีขาว มีลายพาดสีชมพูที่อก และสีช็อคโกแลต ที่ขนคลุมโคนขนหางด้านล่าง คางสีออกดำ ขาและนิ้วสีแดง
ตัวเมียลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่บริเวณใบหน้าเป็นสีม่วง คางทางพาดสีเข้ม ด้านล่างลำตัวสีเขียวเข้ม โดยบริเวณท้องเป็นสีขาว ขนคลุมโคนขนหางด้านล่างสีน้ำตาลแดง-สีเนื้อ
แตกต่างจากนกเปล้าอื่นๆ โดยขอบตาสีขาว ปากสีส้ม ไม่มีลายที่ปีก สีบริเวณอกและท้องตัดกันชัดเจน ตัวไม่เต็มวัยลักษณะคล้ายกับตัวเมีย แต่บริเวณ ใบหน้าเป็นสีเขียว โคนปากสีเข้ม
เป็นนกที่พบตามป่าชายเลน และป่าดงดิบ ตั้งแต่ ระดับพื้นราบ จนกระทั่งความสูง 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล พบโดดเดี่ยว หรือเป็นคู่ ไม่ค่อยพบที่อยู่เป็นฝูง เวลาเกาะกิ่งไม้พักผ่อน โดยเฉพาะในตอนเย็น ตัวจะยกสูงขึ้น ส่วนของท้องไม่ติดกับกิ่งไม้เหมือนอย่างนกเปล้าทั่วไป
เป็นนกที่ค่อนข้างจะเปรียว จึงไม่ค่อยพบเห็นบ่อยนัก กินผลไม้ต่างๆเป็นอาหาร โดยการเกาะกับกิ่งไม้ ผลกําลังสุก ใช้ปากเด็ดแล้วกลืนกินทั้งผล หากเป็นผลไม้ขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะกลืนกินทั้งผลก็อาจจะใช้ปากจิกกินทีละส่วน บ่อยครั้งที่ลงมายังพื้นดิน กินผลไม้สุกที่หล่นจากต้นโดยวิธีเดียวกัน หรือกินน้ำหรือกินโป่ง
นกเปล้าหน้าแดง ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาว หรือระหว่างเดือน พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ทำรังตามต้นไม้ เป็นรังแบบง่ายๆ ใช้กิ่งไม้มาวางซ้อนทับกันตามง่ามไม้ ส่วนชีววิทยาการสืบพันธุ์อื่นๆ ยังไม่เคยมีผู้ใดรายงานไว้ในประเทศไทย แต่คาดว่าคงไม่แตกต่างไปจากนกเปล้าอื่นๆมากนัก โดยเฉพาะการเลี้ยงดูลูกอ่อนในระยะแรกๆ คงใช้น้ำนมนกเช่นเดียวกัน
นกเปล้าหน้าแดง เป็นนกประจําถิ่นของไทย พบเฉพาะภาคใต้ตอนใต้สุด พบไม่บ่อยและปริมาณไม่มากนัก สถานภาพตามกฎหมาย กฎหมาย นกเปล้า หน้าแดงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ที่มา :
ภาพถ่าย : นายบุญฤทธิ์ เดโชโชย หัวหน้าฝ่ายวิจัยและกิจกรรมพิเศษ ประจำอุทยานแห่งชาติทะเลบัน
http://www.thaiwildlife.info/wildlife.php?Act=View&ID=0261
เอกสารอ้างอิง หนังสือชุด นกในเมืองไทย เล่มที่ 2
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ [email protected] หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline