โฆษกรัฐบาลเผยนายกฯ มุ่งยกระดับการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
11 ส.ค.2565 – ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการเดินหน้ายกระดับการต่อต้านการค้ามนุษย์ในไทยอย่างต่อเนื่อง กำชับกระทรวงแรงงานให้พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ให้มีความพร้อมต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าว และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า โดยเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยได้ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ 22 จังหวัดชายทะเล ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีหัวหน้าส่วนราชการ รองผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสุราษฎร์ธานีเข้าร่วม พร้อมเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล ซึ่งได้แก่ กระบี่ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชุมพร ตรัง ตราด นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต ระนอง ระยอง สงขลา สตูล สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสุราษฎร์ธานี รวมไปถึงเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสำนักงานจัดหางานจังหวัดที่ปฏิบัติงาน ณ จุดตรวจเรือประมงด้วย
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานนี้ จัดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมหลังจากรัฐบาลเปิดโอกาสให้นายจ้าง สถานประกอบกิจการที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานนำแรงงานต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 4 สัญชาติ ได้แก่ ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม ให้ขึ้นทะเบียนและขอใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยให้ถูกต้อง ซึ่งมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบาย กฎหมาย ระเบียบแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ แผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 มาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure: SOP) การตรวจคัดกรองเบื้องต้นจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน รวมไปถึงแนวทางการคัดแยกผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ
“แม้รัฐบาลมีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง จนได้รับการจัดระดับสูงขึ้นมาอยู่ในกลุ่มเทียร์ 2 ในปีนี้ แต่นายกรัฐมนตรียังคงเดินหน้ายกระดับการป้องกัน และกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพื่อคุ้มครองแรงงาน ดูแลสิทธิประโยชน์และสวัสดิการ ตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทย โดยนายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ด้วยมุ่งหวังให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลถึงผลการจัดอันดับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้มีอันดับสูงขึ้น เพื่อชื่อเสียงและบทบาทของไทย” นายธนกร กล่าว