“ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” หรือ “ตำรวจโคบัง” ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น ได้เคยมีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยเข้าศึกษาดูงานเพื่อนำรูปแบบมาใช้กับงานตำรวจโรงพักของไทย
สถานีตำรวจชุมชนปากบาง (โคบังเมืองไทย) ที่หมู่ 4 ต.ตาเนาะ-แมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา เป็น 1 ใน 3 โครงการตำรวจชุมชน ที่เริ่มทำใน พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย 2 แห่งทำในพื้นที่เมืองยะลา สถานีตำรวจชุมชนชิโนรส และ สถานีตำรวจชุมชนบาละ อ.กาบัง จ.ยะลา
พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผบช.ภ.9 มองภาพความสำคัญงานด้านมวลชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
มีส่วนช่วยลดความรุนแรง
มอบ พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ ผบก.ภ.จ.ยะลา และ พ.ต.อ.เอกชัย พราหมณกุล ผกก.สภ.เบตง ที่อดีตเป็น ผกก.6 บก.ป.และ รอง ผกก.6 บก.ป. ที่เคยริเริ่มตำรวจผู้รับใช้ชุมชนที่ ชุมชนหัวทาง อ.เมืองสตูล มาก่อน
สมัยนั้นนำตำรวจคลุกคลีกับชาวบ้าน เรียนรู้ความเป็นมาชุมชน รวบรวมความเป็นอยู่มาวางแผนป้องกันอาชญากรรม เป็นการทำงานเข้าถึงชาวบ้าน จากปัญหาวัยรุ่นติดยา ขับรถประลองความเร็วในพื้นที่ กก.6 บก.ป.สมัยนั้นอาศัยชุมชนช่วยบำบัด ด้วยความเชื่อใจตำรวจชุมชน ทำให้หลายคน ลด ละ เลิกพฤติกรรมเหล่านั้นได้
จากการทำ “สตูลโมเดล” ในพื้นที่ชุมชนหัวทาง ส่วนใหญ่เป็นคนไทยมุสลิมเหมือนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มองเห็นปลายทางดับไฟใต้ คลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้
อาศัยความเข้าถึงและเข้าใจชุมชน
“สตูลโมเดล” ถูก พล.ต.ต.ทินกร นำมาเป็นแนวทางปฏิบัติในพื้นที่ยะลา จัดตั้งตู้ยามหรือป้อมชุมชน จัดส่งตำรวจเข้าไปอยู่ร่วมกับคนในชุมชน เพื่อแสวงหาความร่วมมือและแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนในระดับพื้นที่ ตำรวจทำตัวเป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำคนในชุมชน และดึงให้คนในชุมชนมาร่วมกันแก้ปัญหาชุมชนตัวเอง
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มอบ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. มาขับเคลื่อน ตั้งแต่สมัยเป็น ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.อ.เพิ่มพูน ลงพื้นที่เยี่ยมตำรวจที่อยู่ในโครงการ และพูดคุยชาวบ้าน ผู้นำชุมชนย้ำว่า “ตำรวจต้องไม่อวดเก่ง จะต้องประสานงานกับทุกหน่วยโดยใกล้ชิด เพราะตำรวจไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ต้องได้รับความร่วมมือกับทุกฝ่าย ต้องรู้จักแสวงหาความร่วมมือประชาชนและหน่วยร่วมในพื้นที่ให้ดีที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดจะได้เกิดกับประชาชนโดยส่วนรวม”
“ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” เป็นโครงการที่ถูกมาใช้ปฏิบัติจนได้ผลดีในหลายประเทศ หากตำรวจมีความจริงใจที่จะเดินเข้าหาประชาชนด้วยความจริงใจ ชุมชนเชื่อมั่นตำรวจพื้นที่ ปัญหาในชุมชนแก้ไขได้ไม่ยาก
น่าแปลกที่ไม่มีใครสนใจทำจริงจัง.
“เพลิงพยัคฆ์”
[email protected]