เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ปีเศษๆ หลังจากที่ได้มีโอกาสไปร่วมพิธีลงนามว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (ชื่อเต็มยาวมาก) เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563
วันนั้นมีความสองจิตสองใจเป็นอย่างมาก ใจหนึ่งก็เอาใจช่วย อยากให้การใช้งานปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเกิดขึ้นในบ้านเราเมืองเราเป็นจริงเป็นจัง ใจหนึ่งก็คิดว่า… “ไม่น่ารอด”
เนื่องจากการสร้างการยอมรับในภาคเอกชน และการแก้ไขข้อกำหนดรายละเอียดก่อสร้างภาครัฐค่อนข้างทำได้ยากมาก ถึงแม้ว่าการพิสูจน์ในเชิงเทคนิค ทั้งในต่างประเทศ (โดยเฉพาะในยุโรป มีการใช้งานปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกสูงมากกว่าร้อยละ 75 ของปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ทั้งหมด) และในประเทศไทย ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คุณสมบัติของปูนซีเมนต์ทั้งสองมาตรฐาน (มอก 15 และ มอก 2594) แทบจะเป็นในเรื่องกระบวนการผลิตเท่านั้น สามารถใช้ทดแทนกันได้ ไม่มีเหตุต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง
อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้ติดตามข่าวคราวความคืบหน้าของภาคีร่วมดำเนินการทุกภาคส่วน พบว่า มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดยั้ง ทำให้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกได้รับการยอมรับในมาตรฐานของทางราชการ
ในหลายๆ แห่ง เช่น มยผ 1101-64 ถึง 11 ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ว่าด้วยการกำหนดคุณลักษณะของวัสดุในงานโครงสร้างอาคาร มทช 101-63 และ มทช 231-64 ของกรมทางหลวงชนบท ว่าด้วยมาตรฐานงานคอนกรีต คอนกรีตเสริมเหล็ก และผิวทางจราจรคอนกรีต
นอกจากนี้ แบบก่อสร้างต่างๆ ของกรมชลประทานได้มีการปรับแก้ให้ใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับข่าวดีที่กำลังรอฟังอยู่ด้วยความชื่นชมก็คือ การปรับปรุงมาตรฐานการก่อสร้างงานทางหลวง ทางหลวงพิเศษ งานสะพาน และโครงการเมกะโปรเจคต่างๆ เช่นรถไฟความเร็วสูง สนามบิน ที่ภาครัฐเป็นเจ้าของโครงการ ให้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกอยู่ในรายการวัสดุที่สามารถใช้งานได้
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมามีโครงการก่อสร้างจำนวนมาก เช่น อาคารเอสซีจี 100 ปี อาคาร FYI Center สะพานตำมะลัง จังหวัดสตูล ก่อสร้างด้วยปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก และที่สำคัญก็คือ อาคารที่ทำการสภาวิศวกรแห่งใหม่ก็ก่อสร้างด้วยปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีวัสดุก่อสร้างอีกหลายชนิดที่สามารถใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก แทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ได้ อาทิเช่น คอนกรีตผสมเสร็จ เสาเข็มคอนกรีต อิฐคอนกรีตรับน้ำหนัก กระเบื้องหลังคาคอนกรีต ซีเมนต์บอร์ด ฯลฯ
นับได้ว่าในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ ประเทศไทยได้ก้าวมาไกลมากสำหรับการแสดงให้เห็นเชิงประจักษ์ว่า สามารถใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ได้อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของภาคีร่วมดำเนินการทุกภาคส่วน คือ การใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกให้ได้ประมาณ 6 ล้านตัน จากปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์เฉลี่ย 25-30 ล้านตันในปีหน้า ยังคงท้าทายจิตสำนึกเรื่องมลภาวะในแวดวงวิศวกรรมอย่างมาก
แต่ถ้าการทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ด้วยปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกบรรลุเป้าหมาย จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 300,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ถึง 31.5 ล้านต้นทีเดียว
นอกจากปลูกต้นไม้แล้ว ปลูกป่าคอนกรีตด้วยการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ก็ลดโลกร้อนนะครับ
บทความโดย รศ.ดร. สมิตร ส่งพิริยะกิจ
ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์