วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน 2024

ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์: “จะอดตายหรือติดโควิดตาย” คำถามแผ่วเบาจากคณะรำมะนาชาวเล

  • เรื่องโดย ชัยยศ ยงค์เจริญชัย ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
  • วิดีโอโดย วสวัตติ์ ลุขะรัง ผู้สื่อข่าววิดีโอ

คณะรำมะนาชาวเล

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

คณะรำมะนาของกานดาก่อตั้งขึ้นหลังเกิดสินามิในประเทศไทยเหตุเพราะเธออยากสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ให้เลือนหายไปตามกาลเวลา

โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่เปิดเกาะรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 5,000 คน ในช่วง 2 สองสัปดาห์แรก และยังมียอดจองห้องพักไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ย. 176,993 รูมไนท์

โครงการนี้น่าจะเป็นสิ่งที่คนใน จ.ภูเก็ตรอคอย เพราะนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาหมายถึงรายได้ที่จะสะพัดในเมืองที่มีธุรกิจท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเกาะในครั้งนี้

นอกจากผู้ประกอบการท่องเที่ยว เจ้าของโรงแรมรีสอร์ต ร้านค้า บริษัททัวร์ในแหล่งท่องเที่ยวหลักของภูเก็ตแล้ว ยังมีชุมชนชาวเลที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ไม่น้อยกว่ากันหรืออาจจะหนักกว่าอย่างบ้านแหลมตุ๊กแก ซึ่งเป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์อุรักลาโว้ย ที่แทบไม่มีใครเหลียวแล ไม่ว่าจะช่วงปิดเกาะหรือเปิดเกาะ

คำบรรยายวิดีโอ,

วงรำมะนาผู้สูงอายุท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

ชาวบ้านแหลมตุ๊กแกที่เป็นชาวประมงขาดรายได้จากการขายสัตว์ทะเลและรับจ้างขับเรือขนส่งนักท่องเที่ยว ส่วนกลุ่มแม่ม่ายชาวอุรักลาโว้ยที่ตั้งคณะการแสดงพื้นบ้านก็ขาดรายได้เพราะไม่มีคนจ้างคณะไปแสดงให้นักท่องเที่ยวชมเหมือนช่วงก่อนโควิด

ขณะที่ผู้ประกอบการในเมืองเริ่มมีรายได้เข้ามาบ้างจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แต่สำหรับคณะรำมะนาของกลุ่มสตรีอุรักลาโว้ย พวกเธอยังไม่แน่ใจว่าจะกลับมามีงานทำหรือไม่ หรือจะต้องทนอยู่ในสภาพอดมื้อกินมื้อต่อไป

กำเนิดคณะนักแสดงแม่ม่าย

บ้านแหลมตุ๊กแก เกาะสิเหร่ อ. เมืองภูเก็ต ชุมชนชาวเลที่อยู่กันอย่างแออัดมากกว่า 300 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่มีอาชีพหลักเป็นชาวประมงและขับเรือให้นักท่องเที่ยว

ชุมชนแห่งนี้เป็นหนึ่งในหลาย ๆ พื้นที่ของ จ.ภูเก็ต ที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิเมื่อเดือน ธ.ค. 2547 โชคดีที่ไม่มีใครเสียชีวิต แต่คลื่นยักษ์ได้ทำลายบ้านเรือนไปกว่า 100 หลังคาเรือน ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากไร้ที่อยู่อาศัย

เหตุการณ์นั้นทำให้องค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ เริ่มให้ความสนใจชุมชนแหลมตุ๊กแกมากขึ้น กานดาซึ่งเป็นผู้นำสตรีกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับเชิญไปบอกเล่าประสบการณ์และเข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชนอื่น ๆ ทุกครั้งที่เธอไปจะได้รับชมศิลปะการแสดงจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เธอกลับมาตั้งคณะการแสดงพื้นบ้านของชุมชนแหลมตุ๊กแกบ้าง

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ความคิดของกานดาได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกในชุมชนที่พากันเสนอว่าควรนำการแสดงพื้นบ้านอย่าง “รำมะนา” และ “รองเง็ง” ที่ใช้แสดงเมื่อมีเทศกาลสำคัญ ๆ ของหมู่บ้าน เช่น ประเพณีลอยเรือประจำปี และประเพณีเคารพบรรพบุรุษ ไปเผยแพร่ให้คนนอกชุมชนรู้จักอัตลักษณ์ของชาวอุรักลาโว้ยให้มากยิ่งขึ้น

ที่สำคัญศิลปะพื้นบ้านเหล่านี้กำลังสูญหายไปจากชุมชน เด็กรุ่นใหม่ก็แทบจะไม่รู้จักหรือเล่นไม่เป็น คนที่เป็นศิลปินด้านนี้ก็นับวันจะอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ

“อยากให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้จักวัฒนธรรมท้องถิ่นของเรา ให้รู้ว่าเรามีภาษาของตัวเอง มีการแต่งตัวที่เป็นแบบเฉพาะ…เราต้องอนุรักษ์เอกลักษณ์ของหมู่บ้านให้คนอื่นรู้ว่าชนเผ่าอุรักลาโว้ยของภูเก็ตเป็นอย่างไร เราก็มีดีเหมือนกัน” กานดากล่าว

คณะรำมะนาของกานดามีสมาชิก 15 คนอายุตั้งแต่ 50 จนถึง 70 ปี ส่วนใหญ่เป็นม่ายจากการที่สามีเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วยจากการดำน้ำลึกตัวเปล่าเพื่อจับปลา ซึ่งเป็นวิถีของชาวเลที่นี่

สามีของกานดาก็เสียชีวิตไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ทำให้เธอต้องกลายมาเป็นหัวหน้าครอบครัวตั้งแต่นั้นมา เช่นเดียวกับผู้หญิงอีกหลายคนในชุมชนที่ต้องหารายได้ พวกเธอจึงสมัครใจมารวมตัวกันตั้งวงรำมะนาและรองเง็งเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว และยังได้เผยแพร่วัฒนธรรมชนเผ่าไปด้วย

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ในช่วงที่ชาวบ้านแหลมตุ๊กแกขาดรายได้ การขุดหาหอยริมชายหาดเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการเข้าถึงแหล่งโปรตีน และยังสร้างรายได้เล็กน้อยให้กับครอบครัว

โควิดมา งานหาย รายได้หมด

จากที่เคยทำรายได้มากพอที่จะส่งหลานเรียนและเลี้ยงครอบครัวที่มีสมาชิกถึง 9 คน กานดา ประมงกิต วัย 58 ปี แกนนำสตรีพื้นเมืองชนเผ่าอุรักลาโว้ยบ้านแหลมตุ๊กแก ต้องขาดรายได้ไป 9 เดือนแล้วจากการไร้คนจ้างให้เธอและคณะไปแสดง

ก่อนเกิดโรคระบาด สมาชิกของคณะรำมะนาบ้านแหลมตุ๊กแกมีคนว่าจ้างไปแสดงทั้งในภูเก็ตและจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศสูงสุดถึงเดือนละ 4-5 ครั้ง ทำให้มีรายได้คนละประมาณ 15,000 บาท แต่ช่วงเกือบปีที่ผ่านมา รายได้ของพวกเธอกลายเป็นศูนย์

“ทุกครั้งที่เดินทางไปแสดงก็จะนำผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปและไข่มุกจากกลุ่มแม่บ้านในชุมชนไปขายเป็นรายได้เสริม” กานดาเล่าถึงช่วงที่เธอมีงานมีรายได้

“ตั้งแต่เกิดโควิด ไม่มีงานมามากกว่า 9 เดือนแล้ว ครั้งสุดท้ายที่ได้ไปแสดงก็คือที่เกาะหลีเป๊ะ (จ. สตูล) ก่อนหน้านี้ได้ไปแสดงที่ประเทศฟิลิปปินส์ ได้เงินมา 25,000 บาท หลังจากนั้นก็ว่างงานมาตลอด”

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

กานดาใช้เวลาช่วงนี้ทำหน้าที่เป็น อสม. ของหมู่บ้าน โดยเธอมีหน้าที่เป็นผู้ประสานระหว่างชุมชนและเทศบาลรัษฎา

ดิ้นรนช่วงโควิด

“ตอนนี้เปิดเกาะแล้ว แต่คนในชุมชนก็ยังไม่มีงานทำเลย เรือก็ยังไม่ได้ออก พวกอาหารทะเลก็ยังไม่ค่อยมีคนซื้อ ขายได้เฉพาะในชุมชนกันเอง” กานดากล่าว

ตั้งแต่ที่คณะการแสดงรำมะนาและรองเง็งของกานดาต้องขาดรายได้ไป เธอและสมาชิกที่ยังพอมีแรงก็สมัครเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ของเทศบาลตำบลรัษฎา ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 200-500 บาท ซึ่งพวกเธอก็ยังมีข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่ได้ 1,500 บาทเหมือน อสม.ในพื้นที่อื่น ๆ

หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลูกสาว 2 คนรวมทั้งลูกเขยถูกเลิกจ้าง กานดาเองก็ไม่มีใครจ้างไปแสดง

“ทุกวันนี้ต้องไปรับบริจาคอาหาร ข้าวสาร น้ำมัน เพื่อประทังชีวิต เพื่อให้ครอบครัวได้มีข้าวกิน ก่อนหน้านี้เทศบาลสนับสนุนอาหารแห้งให้ อสม. ก็พออยู่ได้ไปเรื่อย ๆ” กานดากล่าว

“นอกจากนี้ก็จะไปจับปลา จับหอย ขายลูกชิ้นทอด หรือเอาของที่มีอยู่ไปแลกกับคนอื่น เพื่อที่พวกเราจะได้ไม่อดตาย”

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

หอยขนาดเล็กที่ชาวบ้านเก็บมาได้ถูกนำมาใช้ประกอบอาหารเพื่อประทังชีวิตและแบ่งขายเพื่อสร้างรายได้ให้ครัวเรือน

หญิงวัย 58 ปีบอกว่าบางวันที่ออกไปหาหอยตามชายหาด เธอต้องแบกกระสอบหอยที่หนัก 20-30 กิโลกรัมเพื่อนำไปขาย แม้งานจะหนักแต่เธอก็สู้เพราะต้องใช้เงินหาข้าวปลาอาหารและใช้จ่ายเรื่องการเรียนของหลาน ๆ

กลัวอดตายมากกว่าติดโควิด

“ตอนนี้ภูเก็ตเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามา ก็ไม่รู้ว่าจะดีขึ้นมั้ย หรือจะหนักกว่าเดิม ตอนนี้กลัวอย่างเดียวว่าโควิด-19 จะกลับมาระบาดหนักอีกที่ภูเก็ตอีก” กานดาระบายความกังวล “อยากให้ทุกคนกลับมามีงานทำ จะได้มีเงินใช้จ่ายในครอบครัวและไม่ต้องลำบากกันแบบนี้”

ด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดของชุมชนบ้านแหลมตุ๊กแก คนในชุมชนต่างกลัวว่าจะมีการระบาดในหมู่บ้าน เพราะยังมีคนเข้าออกอยู่ อีกทั้งไม่มั่นใจว่าวัคซีนที่ได้รับครบทั้ง 2 เข็มแล้วจะป้องกันการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ได้หรือไม่

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

อาชีพหลักของชุมชนแหลมตุ๊กแกคือการทำประมง แต่ภูเก็ตในวันที่ไร้นักท่องเที่ยวส่งผลให้ชาวบ้านขาดรายได้เช่นกัน

“ตอนนี้พวกเราได้แต่ตัวเองว่าจะอดตายหรือเป็นโควิดตาย รัฐบาลต้องมาดูสภาพบ้านเราบ้าง” กานดาเรียกร้อง

“ทุกคนก็ตกงานเหมือนกันหมด แล้วรัฐบาลไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือครบทุกคน ระบบที่ตั้งมาก็มีปัญหาบ่อย บางทีจะซื้อของเข้าบ้านระบบก็ล่ม ประชาชนก็ลำบาก” เธอพูดถึงมาตรการเยียวยาช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของรัฐบาลที่ต้องใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ

“ส่วนตัวไม่ได้คาดหวังอะไรกับรัฐบาล เราแค่ต้องต่อสู้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสิ้นชีวิต โควิดไม่ได้กลัวเท่าไหร่ แต่กลัวอดตายอย่างเดียว”

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

สตูล

สตูล

สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์

Related Posts

Next Post

บทความ แนะนำ

No Content Available

Welcome Back!

Login to your account below

Create New Account!

Fill the forms below to register

Retrieve your password

Please enter your username or email address to reset your password.