วันที่ 14 ม.ค.65 ที่สำนักงานชลประทานที่ 16 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและแนวทางการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2565 ในเขตพื้นที่ภาคใต้ โดยมีนายเอนก ก้านสังวร ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล พร้อมด้วย นายปริญญา สัคคะนายก ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 นายเดช เล็กวิชัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 16 และ นายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 17 และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมและรายงานสถานการณ์น้ำ
นายเอนก ก้านสังวร ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา อิทธิพลของพายุและร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคใต้ ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ กรมชลประทาน ภายใต้การนำของนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำในลำน้ำต่าง ๆ รวมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือกว่า 1,189 หน่วย ประจำจุดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม อาทิ เครื่องสูบน้ำ 350 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 440 เครื่อง รถแทรกเตอร์/รถขุด 196 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่น ๆ อีก 203 หน่วย เป็นต้น เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด ทำให้ขณะนี้พื้นที่ส่วนใหญ่กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 13 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา พัทลุง ตรัง สตูล ยะลา นราธิวาส และปัตตานี
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2565 ในพื้นที่ภาคใต้ กรมชลประทาน ได้ดำเนินการตามมาตรการการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 ทั้ง 8 มาตรการ อย่างเคร่งครัด โดยการเร่งเก็บกักน้ำและจัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง พร้อมจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในพื้นที่ ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ อาทิ การอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน การเกษตร และการอุตสาหกรรม เป็นต้น รวมทั้งวางแผนสนับสนุนการเพาะปลูกพืชในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยก่อนเป็นอันดับแรก นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อสนับสนุนน้ำเตรียมแปลง และเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก สายรอง ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน พร้อมติดตามประเมินผลให้เป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้ สิ่งสำคัญคือการสร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและแผนบริหารจัดการน้ำ โดยการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน ร่วมแรงร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ วางแผนบริหารจัดการน้ำทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งให้ครอบคลุม และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือให้สามารถออกปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา พร้อมวางแผนแก้ไขปัญหาต่างๆ ไว้ล่วงหน้า รวมทั้งติดตามและเร่งรัดงานโครงการต่างๆ ที่ประชาชนได้ร้องขอมาในแต่ในพื้นที่ ที่สำคัญให้บูรณาการหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรฯ ในการทำงานร่วมกัน และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้รับทราบความคืบหน้างานต่างๆ ของกระทรวงฯ อย่างต่อเนื่อง