วันจิตอาสา ตรงกับวันที่ 27 ธันวาคมของทุกปี เพื่ออุทิศให้กับการทำงานอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และรณรงค์ให้ทำความดีต่อกันโดยไม่หวังผลตอบแทน
รู้หรือไม่ วันที่ 27 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันจิตอาสา โดยวันจิตอาสาก่อตั้งขึ้นหลังจากวันเกิดเหตุการณ์สึนามิที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 โดยในวันนั้นมีอาสาสมัครจำนวนมากหลั่งไหลลงพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิอย่างเร่งด่วน โดยสิ่งตอบแทนอย่างเดียวของพวกเขาคือการได้เห็นผู้รอดชีวิตให้มากที่สุด ขณะที่หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น เครือข่ายจิตอาสาจึงกำหนดให้วันที่ 27 ธันวาคมของทุกปีเป็นวัน “จิตอาสา” เพื่ออุทิศให้กับการทำงานอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และรณรงค์ให้ผู้คนทำความดีต่อกันโดยไม่หวังผลตอบแทน
ย้อนรอยเหตุการณ์สึนามิประเทศไทย
เหตุการณ์สึนามิประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 07.58 น. ของวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 โดยได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ซึ่งจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ห่างจากจังหวัดภูเก็ต ประมาณ 580 กิโลเมตร ซึ่งมีความรุนแรงขนาด 8.9 ริกเตอร์ ทำให้ส่งผลกระทบเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ รวมถึงอาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร เหตุการณ์สึนามิประเทศไทยในครั้งนั้น ได้ถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา จังหวัดระนอง จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,400 คน และบาดเจ็บกว่า 8,000 คน ซึ่งนับว่าเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย
สึนามิ คืออะไร
สึนามิ (Tsunami) เป็นคลื่นยักษ์ที่มีความยาวคลื่นเป็นหลัก 100 กิโลเมตรขึ้นไป ซึ่งก่อให้เกิดภัยพิบัติอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดสึนามิ เกิดจากการเคลื่อนตัวของพื้นทะเลในแนวดิ่งตรงรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งก่อให้มีแนวของรอยเลื่อนมีพลังอันเป็นแหล่งกำหนิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ คลื่นที่เกิดขึ้นมักมีลักษณะขนาดเล็ก ๆ ไม่สามารถตรวจวัดได้ขณะอยู่ในทะเลเปิด แต่เมื่อเคลื่อนที่เข้าใกล้ชายฝั่ง ความสูงของคลื่นจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตามสภาพภูมิลักษณ์ของชายฝั่งนั้น ๆ จนมีผลกระทบร้ายแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีผลต่ออ่าวที่เว้าเป็นรูปตัววี (V) และเปิดไปสู่มหาสมุทรโดยตรง
ที่มาข้อมูล : เครือข่ายจิตอาสา
ที่มาภาพ : AFP