ศบค.ห่วงชายแดนใต้ โควิดพุ่ง 23% ตายสูง ย้ำแผนเปิดประเทศปรับได้ตามสถานการณ์ ต้องกำกับติดตามเข้มงวด มีแผนเผชิญเหตุหากมีการระบาดเพิ่มขึ้น
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2564 พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค เป็นตัวแทน ศบค.แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ 10,111 ราย เสียชีวิต 63 ราย ภาพรวม กทม. และปริมณฑลการติดเชื้อลดลง สัดส่วนเหลือ 16% ถือว่าทิศทางลดลงชัดเจน ต่างจังหวัดลดลงช้าๆ สัดส่วน 61% ส่วนชายแดนใต้ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากสัปดาห์ที่แล้วัดส่วนประมาณ 16-17% วันนี้เพิ่มเป็น 23% ขณะที่ผู้เสียชีวิตจากภาคใต้รวมกันสูงสุด คือ 21 ราย มาจากนครศรีธรรมราช 8 ราย ภูเก็ต 3 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 3 ราย สุราษฎร์ธานี 2 ราย นราธิวาส 2 ราย ยะลา 1 ราย ชุมพร 1 ราย และสตูล 1 ราย
สำหรับ 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด ครึ่งหนึ่งมาจากภาคใต้ คือ ยะลา 756 ราย นครศรีธรรมราช 615 ราย สงขลา 579 ราย ปัตตานี 502 ราย และนราธิวาส 466 ราย เมื่อวิเคราะห์การติดเชื้อในจังหวัดที่ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด ภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ถึงกลาง ต.ค. พบว่าปัจจัยเสี่ยงมาจากสถานบันเทิง เรือนจำ โรงงาน ผู้มีอาการมาจากพื้นที่เสี่ยง และผู้ติดเชื้อจากประเทศเพื่อนบ้านทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อในนราธิวาส ยะลา และปัตตานี
ทั้งนี้ นายกฯ ได้ตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา หรือ ศบค.ส่วนหน้า ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว จะส่งผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรคลงไปสอบสวนโรคเพิ่มเติม
ส่วนคลัสเตอร์อื่นๆ ใน 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุดที่ให้ความสำคัญและเฝ้าระวังต่อเนื่อง คือ คัลสเตอร์แคมป์ก่อสร้างจันทบุรี ระยอง สหกรณ์กองทุนสวนยาง ชลบุรี และล้งผลไม้พบมากที่จันทบุรี คลัสเตอร์งานศพพบหลายจังหวัด เช่น ลำพูน ขอนแก่น เลย สระแก้ว และกาญจนบุรี
พญ.สุมนี กล่าวต่อว่า การเปิดประเทศอีก 2 สัปดาห์ก่อนถึงวันที่ 1 พ.ย. มีการหารือหลายหน่วยงานเตรียมพร้อมก่อนออกแผน หารือภาคธุรกิจ สถานประกอบการ ไม่มีรูปแบบที่ดีที่สุด แต่ต้องเป็นไปได้มากที่สุดที่จะดำเนินการไปได้ ประชาชนมีความปลอดภัย ระบบสาธารณสุขมีความมั่นคง การระบุรายชื่อประเทศหรือเปิดเที่ยวบิน ข้อเท็จจริงบางประเทศยังไม่ได้อนุญาตคนออกนอกประเทศ แต่เปิดเที่ยวบินเพื่ออำนวยความสะดวกคนไทยประเทศนั้นๆ กลับบ้านสะดวกขึ้น แต่ยังต้องปฏิบัติการมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มงวด
พญ.สุมนี กล่าวอีกว่า เราวางแผนการเปิดประเทศเป็นระยะ โดยต้องเตรียมความพร้อม 3 ด้าน คือ 1.สถานการณ์การแพร่ระบาดต้องทรงตัว 2.มีการพิจารณาขีดความสามารถด้านสาธารณสุข ป้องกันควบคุมรักษา และ 3.พื้นที่นำร่องสีฟ้าต้องฉีดวัคซีนครอบคลุมไม่น้อยกว่า 70% การเปิดประเทศจึงต้องค่อยเป็นค่อยไปและทยอยเปิด พร้อมก่อนเปิดก่อน
โดยมาตรการหลักเปิดภายใต้มาตรการ COVID Free Setting เราอยู่ในระยะนำร่องการเปิดประเทศ คือภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับพื้นที่สีฟ้าอื่นๆ ที่จะเริ่มวันที่ 1 พ.ย. โดยประเทศจะต้องมาจากประเทศที่ สธ.กำหนดมีความเสี่ยงต่ำ เดินทางทางอากาศเท่านั้น รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ผลตรวจต้นทางเป็นผลบ ทำประกันสุขภาพ 5 หมื่นเหรียญ มาถึงต้องตรวจหาเชื้ออีกครั้ง ผลลบจึงเข้าพื้นที่สีฟ้าที่ทำ COVID Free Setting
“หากเปิดประเทศแล้วต้องกำกับติดตามเข้มงวด แผนดำเนินการปรับได้ ชะลอได้ และถ้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงหลังเปิดประเทศ ต้องมีการเตรียมแผนเผชิญเหตุกรณีมีการระบาดเพิ่มขึ้น” พญ.สุมนีกล่าว