ยานสำรวจดาวอังคารสัญชาติจีน “เทียนเวิ่น-1” (Tianwen-1) ปรับลดอัตราเร็ว และเข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารได้สำเร็จ เตรียมศึกษาพื้นผิวจากมุมสูง ชั้นบรรยากาศและสนามแม่เหล็กของดาวอังคาร
วันนี้ (11 ก.พ.2564) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ยานสำรวจดาวอังคารสัญชาติจีน “เทียนเวิ่น-1” (Tianwen-1) ปรับลดอัตราเร็ว และเข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารได้สำเร็จ เมื่อเวลา 19.52 น. ของวันที่ 10 ก.พ.2564 ตามเวลาประเทศไทย ตามหลังยานโฮปของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปติด ๆ เริ่มต้นก้าวแรกสู่การสำรวจดาวอังคารของประเทศจีน
เทียนเวิ่น-1 ทะยานขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 23 ก.ค.2563 โดยจรวดลองมาร์ช 5 ณ ฐานปล่อยจรวดเหวินชาง เกาะไห่หนาน ขณะนี้เดินทางถึงดาวอังคารและสามารถโคจรรอบดาวอังคารสำเร็จแล้ว หลังจากนี้ประมาณ 3-4 เดือน เทียนเวิ่นจะแยกส่วนยานเพื่อลงจอดบริเวณที่ราบต่ำยูโทเปีย (Utopia Planitia) บนดาวอังคาร
ส่วนที่แยกออกไปประกอบด้วยยานลงจอด (Lander) และรถสำรวจ (Rover) ที่จะทำหน้าที่ศึกษาพื้นผิวที่ตำแหน่งต่าง ๆ มีกำหนดระยะเวลาปฏิบัติภารกิจประมาณ 90 วัน ในขณะที่ส่วนโคจรรอบ (Orbiter) จะยังโคจรรอบดาวอังคารต่อไปเพื่อศึกษาพื้นผิวจากมุมสูง ศึกษาชั้นบรรยากาศและสนามแม่เหล็กของดาวอังคาร และมีอายุภารกิจประมาณ 1 ปี
สำนักงานอวกาศแห่งชาติของจีน ระบุว่า ขั้นตอนต่อไปของยานสำรวจ “เทียนเวิ่น-1” คือการลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคาร ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ค.หรือ มิ.ย.นี้ โดยเป้าหมายของการส่งยานสำรวจขึ้นไปดาวอังคาร เพื่อเก็บข้อมูลสำคัญด้านโครงสร้างธรณีวิทยา ชั้นบรรยากาศ สภาพแวดล้อมและดิน รวมถึงค้นหาร่องรอยของน้ำ