หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้เปิด 5 สูตรฉีดวัคซีนในเด็ก 5-11 ปีหลังคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์มในเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ล่าสุดผ่าน 2 สัปดาห์ของการฉีดวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี ผู้ปกครองส่วนหนึ่งที่ยังไม่ตัดสินใจให้บุตรหลานฉีดวัคซีน mRNA ก่อนหน้านี้เห็นด้วยกับการเพิ่มทางเลือกในการฉีดวัคซีนเชื้อตาย ขณะที่อีกส่วนหนึ่งยังไม่เชื่อมั่นกับข้อมูลรองรับที่ยังมีไม่มากพอท่ามกลางยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในหลักหมื่นต่อวัน
สูตรวัคซีนดังกล่าวประกอบด้วย
สูตรที่ 1 อายุ 5-11 ปี ไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) 2 เข็มระยะห่างระหว่างเข็ม 8 สัปดาห์
สูตรที่ 2 อายุ 6-11 ปี สูตรไขว้ซิโนแวค-ไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) ระยะห่างระหว่างเข็ม 4 สัปดาห์
สูตรที่ 3 อายุ 12-17 ปี แนะนำให้ฉีดไฟเซอร์ (ฝาสีม่วง) 2 เข็ม ระยะห่างระหว่างเข็ม 4 สัปดาห์
สูตรที่ 4 อายุ 12-17 ปี สูตรไขว้ซิโนแวค-ไฟเซอร์ (ฝาสีม่วง) ระยะห่างระหว่างเข็ม 4 สัปดาห์
สูตรที่ 5 อายุ 6-17 ปี ซิโนแวค 2 เข็มระยะห่างระหว่างเข็ม 4 สัปดาห์ โดยสูตรนี้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ปกครองที่กังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน mRNA และเด็กที่แพ้วัคซีน mRNA แต่สูตรนี้ภูมิในการป้องกันเชื้อโอมิครอนอาจไม่สูงมาก จำเป็นต้องกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยไฟเซอร์โดยมีระยะห่างจากเข็ม 2 อย่างน้อย 4 สัปดาห์
ธนากร ทองลิ่ม คือหนึ่งในผู้ปกครองที่เห็นด้วยกับการมีทางเลือกในการฉีดวัคซีนให้ผู้ปกครองบ้าง หลังจากมีกระแสข่าวหลากหลายเกี่ยวกับผลข้างเคียงในเด็กสร้างความกังวลให้ไม่น้อย ขณะที่เงื่อนไขการเข้าออกพื้นที่จังหวัดภูเก็ตที่อาศัยอยู่จำเป็นต้องใช้เอกสารการฉีดวัคซีน หากไม่มีก็จำเป็นต้องใช้ผลตรวจ ATK ในการเดินทางแต่ละครั้ง
“อย่างน้อยก็มีทางเลือกให้ผู้ปกครองเพิ่มขึ้น ผมมองว่าวัคซีนเชื้อตายน่าจะมีผลกระทบน้อยกว่าสำหรับเด็ก เพราะในเคสของไฟเซอร์ฝาส้ม ก็มีผลข้างเคียงทั้งป่วยและเสียชีวิตหลังฉีด จริงอยู่มันมีจำนวนที่น้อยมากแต่ก็ไม่มีใครอยากให้ลูกไปอยู่ในจำนวนน้อยนั้น ลูกใครใครก็รักและไม่อยากให้เป็นโรคอะไร แต่หากการฉีดวัคซีนป้องกันทำให้มีความเสี่ยงถึงชีวิตได้ก็คิดหนัก แต่หากไม่ได้รับวัคซีนก็อาจมีข้อจำกัด เช่น หากในโรงเรียนฉีดกันหมดแล้วก็จะมีมาตรการออกมาว่าห้ามคนไม่ได้ฉีดวัคซีนไปโรงเรียน มันเหมือนการบังคับทางอ้อมและผู้ปกครองไม่มีทางเลือก” คุณพ่อจากภูเก็ต กล่าว
เช่นเดียวกับ วันรัฐ ศุภธรรมกุล จากนครศรีธรรมราช ที่มองว่าการอนุมัติวัคซีนเชื้อตายช่วยให้ผู้ปกครองมีทางเลือกในการตัดสินใจ ดีกว่ามีเพียงแค่วัคซีน mRNA ซึ่งหลายคนอาจมีความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียง ส่วนตัวแล้วไม่มีปัญหากับตัวไหนเลย ทั้งสูตรไขว้และไม่ไขว้ เพราะไฟเซอร์ก็มีการรับรองและใช้กันแล้วในต่างประเทศ ส่วนซิโนแวคและซิโนฟาร์มเป็นวัคซีนเชื้อตายที่น่าจะมีผลข้างเคียงน้อย มีการศึกษาก่อนการอนุมัติแล้ว ที่สำคัญเมื่อเด็กๆ ต้องไปโรงเรียนและพบเจอกับคนภายนอก การได้รับวัคซีนก็ช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้
“เห็นด้วยที่จะวัคซีนซิโนแวคกับเด็ก 6 ขวบ เพราะวัคซีนที่มาจากเชื้อตายมันคล้ายวัคซีนหลักที่ฉีดให้กับเด็กๆ เช่น โปลิโอ ไวรัสตับ ที่ใช้กันมานานแล้ว ความเสี่ยงในเด็กเล็กมีน้อย ความปลอดจะสูงกว่าเชื้อเป็น ร่างกายเด็กเล็กภูมิยังไม่เยอะเท่าเด็กโต ที่จะไปฉีดเชื้อเป็น ประสิทธิภาพการสร้างภูมิของวัคซีนเชื้อตายอาจจะช้ากว่าเชื้อเป็น แต่ส่วนตัวคิดว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับเด็กเล็ก” จันจิรา แซมพันธ์ อีกเสียงสนับสนุนจากพังงา
อย่างไรก็ตาม นฤมล จิตตปาลกุล ยอมรับว่ายังไม่มั่นใจกับแนวทางการฉีดวัคซีนซิโนแวคในเด็ก เนื่องจากยังมีข้อมูลไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับตัวไฟเซอร์ ซึ่งจากข้อมูลของทางกระทรวงสาธารณสุขบอกว่าวัคซีนซิโนแวคมีความปลอดภัยและเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ปกครอง แต่ยังไม่การรับรองจาก WHO ในการฉีดในเด็กแต่อย่างใด รับรองแค่เฉพาะผู้ใหญ่
“เท่าที่ลองศึกษาจาก paper ต่างๆแล้ว จะเจอแค่บอกว่าปลอดภัยและภูมิขึ้นเหมือนอย่างที่สธ.ไทยบอก แต่ยังไม่มี paper ยืนยันชัดเจนเหมือนกับไฟเซอร์ ส่วนตัวตัดสินใจจะให้ลูกฉีดไฟเซอร์ แต่หากไม่มีทางเลือกก็อาจจำเป็นต้องพิจารณาให้ฉีดซิโนแวค เพราะมีความกังวลเรื่องอันตรายจากการติดโควิดในเด็กหรือ long covid มากกว่า” คุณแม่จากจังหวัดที่มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ติดท็อป 10 ของประเทศอย่างภูเก็ต กล่าว
สอดคล้องกับ กำพลและศศิภา ลิ้มวัฒนากูล ผู้ปกครองจากกระบี่ที่ยังอยู่ระหว่างศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก เพราะตอนนี้ทางโรงเรียนยังใช้ระบบการเรียนออนไลน์ 100 % แต่ยืนยันจะไม่ฉีดสูตรไขว้หรือสูตรอื่นๆ แน่นอน เพราะไม่มั่นใจในประสิทธิภาพและห่วงเรื่องความปลอดภัยของลูกที่อาจมีผลกระทบตามมาซึ่งยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนมากพอ
ด้าน เยาวเรศ เชื้อกลับ และขวัญกมล สุขศรี 2 คุณแม่จากสุราษฎร์และชลบุรี ยังคงไม่เปลี่ยนใจให้ลูกที่มีอายุระหว่าง 6-11 ปีฉีดวัคซีนในช่วงนี้แม้มีทางเลือกวัคซีนเชื้อตายเพิ่มเข้ามา แต่อนาคตหากมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากพออาจตัดสินใจให้ฉีด เพราะไม่อยากเสี่ยงให้ลูกเป็นหนึ่งในหมื่นหรือแสนคนที่โชคร้าย ส่วนตอนนี้เน้นการดูแลป้องกันให้ดีที่สุดไปก่อน
เห็นได้ชัดว่าปัญหาเรื่องความปลอดภัยและผลกระทบในอนาคตคือข้อกังวลหลักของพวกเขา โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก 5-11 ปีต่างจากอายุ 12 ปีขึ้นไปที่โตในระดับหนึ่งแล้ว ขณะที่เด็กเล็กๆ พัฒนาการหลายอย่างยังไม่สมบูรณ์จึงอยากเห็นวัคซีนที่มีผลการวิจัยที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจได้มากกว่านี้ ประกอบกับโควิดสายพันธุ์โอมิครอนมีอาการไม่รุนแรงมากนักทำให้ผู้ปกครองหลายคนเลือกจะรอดูสถานการณ์ไปก่อน
“จริงๆ ไม่อยากให้เร่งรีบฉีดในเด็กรุ่นนี้ (5-11) เต็มที่ควรเริ่มจากระดับมัธยมขึ้นไป โดยเฉพาะซิโนแวค ความน่าเชื่อถือว่าน้อยมาก อย่างที่รู้กันว่า This is Thailand มันมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่ไม่รู้อีกมากมายที่สร้างความไม่มั่นใจ” ผู้ปกครองไม่ประสงค์ออกนามจากสตูลให้ความเห็นซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องหาทางไขข้อสงสัยให้กระจ่าง
ขอบคุณภาพ – ศูนย์ข้อมูลภูเก็ต