วันที่ 14 ต.ค. 64 ที่ห้องประชุมนภารักษ์ โรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และคณะ เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และรักษา ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ของ จ.สงขลา และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ระหว่างวันที่ 14-15 ต.ค. โดยมี นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา นพ.ไชยสิทธิ์ เทพชาตรี ผอ.รพ.หาดใหญ่ และหัวหน้าผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้รายงานสถานการณ์โควิด 19 ภายในจังหวัดระลอกใหม่เดือน เม.ย. 64 ซึ่งล่าสุดมีผู้ป่วยสะสม 37,475 คน และเสียชีวิตสะสม 161 คน มีผู้ป่วยนอนรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 6,027 คน ผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านแล้ว (สะสม) 31,287 คน โดยพบว่า มีแนวโน้มการพบผู้ป่วยในครอบครัวและชุมชนเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด 19 ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มภายในครอบครัว เครือญาติ และชุมชน เช่น การเยี่ยมญาติ เลี้ยงสังสรรค์ งานศพ และ งานบุญประเพณี เป็นต้น
ขณะที่การบริหารจัดการเตียง เพื่อรองรับผู้ป่วย มีทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวม 21 แห่ง โรงพยาบาลสนาม 27 แห่ง และ CI ( Community Isolation) 20 แห่ง Hospitel 6 แห่ง รวมทั้งสิ้น 74 แห่ง มีเตียงรองรับผู้ป่วยรวมจำนวน ทั้งสิ้น 8,022 เตียง มีอัตราการครองเตียง (ณ 13 ต.ค. 2564) ร้อยละ 83.65 มีเตียงว่าง 1,312 เตียง และผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย มากกว่า ร้อยละ 80 และมีอาการรุนแรง ร้อยละ 1.13
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวด้วยว่า ในด้านมาตรการเชิงรุก จ.สงขลา ได้เน้น “ ลดติด ลดป่วยหนัก ลดตาย กระจายยาและวัคซีน และควบคุมโดยเร็ว” โดยให้มีการค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชนให้รวดเร็วและเพิ่มขึ้น และนำเข้าสู่การดูแลรักษาในโรงพยาบาล /โรงพยาบาลสนาม / Hospitel และศูนย์กักรักษาในชุมชน( CI) ให้รวดเร็วด้วย
ทั้งนี้ หลังการร่วมประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทาง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้ง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันสูงเป็นลำดับๆต้นของประเทศ ต่อเนื่องมานานกว่า 2 สัปดาห์ และมาตรการปิดเกมโควิด 19 ในพื้นที่ชายแดนใต้ ได้ตั้งไว้ 2 อย่าง คือ การเร่งฉีดวัคซีนให้กับคนในพื้นที่ ซึ่งจนถึงขณะนี้มีการฉีดวัคซีนได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นในแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะในส่วนของ จ.สงขลา ที่มีกลุ่มเป้าหมายกว่า 1.48 ล้านคน แต่ฉีดไปได้ราว 47% เท่านั้น ซึ่งคาดว่า ในช่วงเดือน ต.ค. นี้ จะมีการกระจายวัคซีนลงมายังพื้นที่ชายแดนใต้ อีกราว 400,000 โดส สำหรับฉีดเข็มแรกที่ยังขาด เพื่อให้ได้ครอบคลุม 70 เปอร์เซ็น ของกลุ่มเป้าหมาย และอีกราว 1 ล้านกว่าโดส ซึ่งคาดว่า จะมาในช่วงเดือน พ.ย. เพื่อครอบคลุมทั้งเข็มแรก และเข็ม 2 ซึ่งค่อนข้างแน่นอนแล้ว และวัคซีนที่จะนำเข้ามาน่าจะเป็นไฟเซอร์ เพื่อควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดให้ได้ผลตามแผนที่วางไว้
ส่วนอีกมาตรการคือ การเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้า และขอความร่วมมือจากประชาชนในในจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะในส่วนของการใช้ชีวิตประจำวัน การทำกิจกรรม และงานตามประเพณีต่าง รวมทั้งการปฏิบัติศาสนกิจที่มีความหลากหลายของเชื้อชาติศาสนาในพื้นที่ ซึ่งเป็นอีกส่วนที่สำคัญนอกเหนือจากการฉีดวัคซีนที่จะสามารถช่วยควบคุมการแพร่ระบาดอย่างได้ผล ซึ่งหากผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ก็จะนำไปสู่การผ่อนคลายในมาตรการอื่นๆที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้าน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า หลังจากที่ทางรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายในการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศสามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้โดยไม่กักตัว จะสามาเริ่มได้ในระยะที่ 1 ใน 15 จังหวัด 1 พ.ย. นี้ และหากสามารถดำเนินการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับคนในจังหวัดชายแดนใต้ ได้ครอบคลุม 70% ก็จะสามารถดำเนินการในระยะที่ 2 ได้ต่อเนื่องในวันที่ 1 ธ.ค. ซึ่งส่วนหนึ่งในกลุ่มจังหวัดจะมี สงขลา สตูล และจังหวัดในชายแดนภาคใต้ ที่มีพรมแดนติดกับประเทศมาเลเซีย โดยขณะนี้ได้มีการหารือกับทางกงสุลใหญ่ปีนัง เพื่อประสานกับทางรัฐเคด้าร์ ถึงความเป็น ได้ที่จะมีการทำบับเบิ้ลระว่าง เกาะลังกาวี มาเลเซีย กับเกาะหลีเป๊ะ ฝั่งไทย ซึ่งปกติเส้นทางดังกล่าวจะมีเรือเมล์หรือเรือเฟอร์รี่วิ่งอยู่แล้ว ซึ่งตนค่อนข้างมั่นใจว่า น่าจะสามารถเปิดจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3-4 จังหวัด ที่มีชายแดนติดต่อ และเดินทางร่วมกับกับประเทศมาเลเซีย ในเดือน ธ.ค. นี้ ได้ แต่สำคัญที่สุดคือ ประเทศมาเลเซียต้องพร้อมที่จะให้คนมาเลเซียเดินทางออกนอกประเทศ และประเทศไทยเอง ก็ต้องพร้อมที่จะให้คนไทยเดินทางออกนอกประเทศไปมาเลเซีย เช่นกัน
นอกจากนี้ ในส่วนของการจัดกิจกรรมเคานต์ดาวน์ที่ จ.สงขลา คาดว่า ทำได้ หากดำเนินการฉีดวัคซีนครอบคลุมเป้าหมายได้ 70 เปอร์เซ็น โดยได้ร่วมหารือกับทางนายกเทศมนตรีนครสงขลา และ นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ในการจัดกิจกรรมเคานต์ดาวน์ร่วมกับทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งเชื่อว่า ทำได้ และกำลังหารูปแบบว่าจะจัดกิจกรรมอะไร อย่างไรกันดี และในช่วงดังกล่าวหากเป็นไปตามแผนที่จะสามารถเปิดจังหวัดชายแดนใต้ และนักท่องเที่ยวมาเลเซีย สามารถเดินทางเข้ามาได้แล้วนั้น การจัดงานเค้าท์ดาวน์ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ก็น่าจะเป็นกิจกรรมหลักกิจกรรมหนึ่งในพื้นที่ภาคใต้ นอกเหลือจาก ภูเก็ต พังงา กระบี่ และ สุราษฎร์ธานี ที่มีการวางแผนเอาไว้แล้วก่อนหน้านี้
/////