ครั้งแรก! กรมทรัพยากรธรณี เตรียมเข้าสำรวจความเสี่ยงเขาตะปู หรือเกาะเจมบอนส์ จ.พังงา แหล่งท่องเที่ยวดังเสี่ยงถล่ม ชี้ต้องการหาคำตอบอัตราเร่งจากการกัดเซาะ และโครงสร้างธรณีวิทยาเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ ห่วงซ้ำรอยเกาะทะลุ จ.กระบี่ที่เพิ่งถล่ม ต.ค.63
วันนี้ (1 เม.ย.2564) นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ กรณีการเตรียมเข้าสำรวจข้อมูลทางธรณีวิทยาเขาตะปู หรือเกาะเจมบอนส์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพังงา จ.พังงา ว่า หลังเกิดเหตุการณ์หินถล่มเกาะหินปูนทางภาคใต้ ทั้งในฝั่งอ่าวไทย และอันดามันหลายจุด ทำให้นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สั่งการให้กรมทรัพยากรธรณีติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเกาะแก่งส่วนใหญ่ในภาคใต้เป็นเขาหินปูน ซึ่งเป็นหินตะกอนเนื้อประสาน จึงผุกร่อนง่าย
ประกอบกับเขาหินปูนในทะเลมีเรื่องการกัดเซาะคลื่นเป็นปัจจัยสำคัญอาจจะผุสลายง่ายนอกจากนี้มีการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกสูง ทำให้หินแตกเยอะ และอิทธิพลทางใต้มีรอยเลื่อนขนาดใหญ่คือรอยเลื่อนระนอง และคลองมะรุ่ย ซึ่งการเคลื่อนตัวส่งผลให้หินมีรอยแตก จึงมีรอยแตกเยอะ
ช่วงปลายปีหลังจากมีมรสุมเข้า หินปูนแถวภาคใต้แตกเยอะ และบริเวณรอยแตกรับน้ำหนักไมไหว และพังถล่มลงมา จึงเสี่ยงภัยดินถล่มเพราะมีประชาชน นักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยว
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ลงสำรวจความเสี่ยงถล่มเขาตะปู ช่วงเม.ย-พ.ค.นี้
รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า โดยหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายสำคัญคือ เขาตะปู หรือเกาะเจมบอนส์ ซึ่งเป็นแลนมาร์กของการท่องเที่ยวยอดนิยม ซึ่งพบว่าตัวเขาตะปู จะมีขนาดใหญ่ แต่ฐานรากที่อยู่ในทะเลจะกิ่วลง พบมีโอกาสได้รับผลกระทบสูงที่อาจจะถล่มลงมาได้ ที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาลงลึกในรายละเอียด ดังนั้นกรมทรัพยากรธรณี จะร่วมกับนักวิชาการลงพื้นที่สำรวจในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงปิดการท่องเที่ยวช่วงมรสุมของภาคใต้ เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นฟู
เขาตะปู มีความชันเป็นหน้าผาสูง ส่วนฐานรากที่ติดกับน้ำทะเล ถูกกัดกร่อนโดยคลื่นลม ถือเป็นจุดเสี่ยงภัยดินถล่ม อาจมีผลกระทบต่อชีวิตประชาชนและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ
นายมนตรี กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่เตรียมเข้าไปสำรวจและศึกษาเขาตะปูอย่างเป็นทางการ โดยจะดูโครงสร้างรอยแตกรอยแยก และศึกษาอัตราเร่งการกัดกร่อนว่าใช้เวลานานแค่ไหน โดยจะใช้ข้อมูลปัจจัยน้ำทะเลกัดเซาะ เช่น หากกัดเซาะเฉลี่ย 1-2 เซนติเมตรต่อปี ก็จะคำนวณเรื่องการรับน้ำหนักของฐานรากของเขาตะปูว่ารับน้ำหนักสูงสุดเท่าไหร่ รวมทั้งจะเข้าเก็บหินปูนมาทดสอบทางธรณีวิทยาด้วย
จะเข้าเก็บข้อมูลพื้นฐาน เพื่อจะมีคำตอบกับทางสาธารณะเรื่องปัจจัยเสี่ยงถล่ม เพื่อวางแผนการท่องเที่ยวในอนาคต ซึ่งตอนนี้ยังคงบอกว่าเป็นการเฝ้าระวังและเป็นห่วง แต่ยังไม่ถึงขั้นห้ามการท่องเที่ยว เพราะตัวเขาตะปูอยู่ในทะเล ส่วนนักท่องเที่ยวถ่ายรูปอยู่บนบกไมได้เข้าไปใกล้
เมื่อถามว่าความเสี่ยงของเขาพิงกันในบริเวณใกล้กัน รองธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า เขาพิงกันไม่น่าห่วง เพราะตัวเขาอีกฝั่งหนึ่งพัง และมาเกยกันอยู่ ต่างกับกรณีที่เกาะทะลุ ที่ถล่มลงมาต้องกันพื้นที่เพราะยังยังไม่รู้ว่ามีการเคลื่อนตัวอีกหรือไม่
ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี
ที่ไหนเคยเกิดเหตุเขาหินปูนถล่มบ้าง?
ในช่วงปี 2563-2564 พบการพังถล่มของเขาหินปูนในหลายพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล จากอิทธิของพายุ การผุกร่อน เช่น วันที่ 19 ก.ย.2563 พายุโนอึลสร้างความเสียหาย “หินปูน” เกาะหินแตกถล่มลงในทะเลเป็นบริเวณกว้าง ร้อยละ 15-20 ของพื้นที่เกาะ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี ได้แจ้งเตือนประชาชนห้ามเข้าใกล้พื้นที่ การตรวจสอบคาดว่า เกิดการเคลื่อนตัวของชั้นหินและชั้นดินที่ถูกกัดเซาะจากสถานการณ์ฝนตกหนักและคลื่นลมแรง
วันที่ 18 ต.ค.2563 หินขนาดใหญ่พังถล่มลงมาบริเวณเกาะทะลุ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ห่างจากฝั่งตะวันตกของเกาะไก่ ประมาณ 1 กิโลเมตร โดยหินที่ถล่มลงมาแตกเป็น 2 ก้อน น้ำหนักประมาณ 30,000-50,000 ตัน หลังเกิดคลื่นลมแรง
วันที่ 21 ก.พ.2564 เกิดเหตุหินถล่มบริเวณปราสาทหินพันยอด เกาะเขาใหญ่ ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล จนต้องปิดแหล่งท่องเที่ยวบริเวณดังกล่าวเป็นการชั่วคราว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
นักธรณีวิทยา เตือน “เขาตะปู” เสี่ยงถล่ม
พิษโนอึล “เขาหินปูน” หมู่เกาะอ่างทอง พังถล่ม