เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูล รับแจ้งข้อมูลว่าเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เวลา 17.30 น. เกิดเหตุเรือ MC EXPRESS 1 ลากจูงเรือ MCL PREMIER บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์โดยออกเดินทางจากท่าเรือกันตัง จังหวัดตรัง ไปยังท่าเรือปีนัง ประเทศมาเลเซีย ประสบคลื่นลมแรงตู้สินค้าตกหล่นลงในทะเลอันดามัน จังหวัดสตูล จำนวน 10 ตู้ บริเวณใกล้กับเกาะบุโหลนเล ตำบลปากน้ำ จังหวัดสตูล คาดว่าตู้สินค้าที่ตกหล่นมีทิศทางเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออกเข้าหาฝั่ง
นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า ได้สั่งการให้นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย ควบคุมติดตามพร้อมกำกับดูแลเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูลได้ออกประกาศ เรื่อง ให้ระมัดระวังการเดินเรือโดยหลีกเลี่ยงการเดินเรือผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ ประกาศ ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2564 พร้อมดำเนินการออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของเรือและบริษัทเจ้าของเรือ เข้าเร่งรัดดำเนินการเก็บกู้ตู้บรรทุกสินค้าที่ตกหล่นในทะเล
โดยเรือ MCL PREMIER (BARGE) ของบริษัท อภิโลจิซทิคซ์ จำกัด จะทำการกู้ตู้สินค้าให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน พร้อมจัดทำเครื่องหมายแสดงอันตรายให้ผู้ที่เดินเรือผ่านบริเวณดังกล่าว สังเกตเห็นทั้งในเวลากลางวันและเวลากลางคืน
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูล ได้จัดชุดปฏิบัติการลงพื้นที่สำรวจตู้คอนเทนเนอร์ที่ตกหล่นในทะเลอันดามัน จังหวัดสตูล โดยใช้เรือเจ้าท่า 188 ออกลาดตระเวน ตรวจสอบและควบคุมกำกับความปลอดภัยทางน้ำ พบตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 1 ตู้ หมายเลขตู้ WHSU 5729780 ลอยอยู่บริเวณทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ เกาะโกย ระยะประมาณ 2 ไมล์
และในเวลาต่อมา พบตู้คอนเทนเนอร์ เพิ่มอีก 2 ตู้ ประกอบด้วยตู้หมายเลข IAAU 1749636 ลอยอยู่บริเวณทางด้านทิศตะวันออกของหลักขอบร่องเขียวหมายเลข 1 ระยะประมาณ 200 เมตร และพบตู้หมายเลข WHSU 5448519 ลอยอยู่บริเวณหน้าแหลมเต๊ะปัน ห่างจากร่องน้ำปากบารา 500 เมตร จำนวน 3 ตู้ โดยการออกสำรวจและตรวจสอบ สามารถยืนยันจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่ตกหล่นในทะเลอันดามัน จังหวัดสตูล และติดตามกู้คืนได้จำนวน 7 ตู้ คงเหลืออีก 3 ตู้ จากจำนวนทั้งหมด 10 ตู้
วันที่ 4 สิงหาคม 2564 สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูล ได้รับรายงานผลปฏิบัติการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 10 ตู้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 จำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่ติดตามคืนได้ จำนวน 7 ตู้ มีการตรวจสอบยืนยันเก็บกู้มาไว้บริเวณชายฝั่งเรียบร้อยแล้ว ,กลุ่มที่ 2 จำนวน 3 ตู้ ที่ยังไม่สามารถค้นหาพบ
ทั้งนี้ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูล ได้ประสานงานไปยังเจ้าของเรือหรือตัวแทนเจ้าของเรือ พร้อมกำหนดประเด็นสอบถาม ได้แก่ สินค้าที่ได้รับความเสียหายมีอะไรบ้าง มูลค่าความเสียหายของสินค้าโดยประมาณ ,สินค้าเกิดความล่าช้าในการขนส่งมีระบบแก้ไขปัญหาอย่างไร ,ขอบเขตความรับผิดในฐานะผู้ขนส่งสินค้า, ผู้รับประกันภัย ,ผู้รับสินค้า มีอย่างไร ,แผนงานบริหารจัดการตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ ดำเนินการอย่างไร ,การจัดการค่าใช้จ่าย, ค่าเก็บกู้สินค้า ,การวางแผนชดใช้ค่าใช้จ่าย ,การแก้ไขปัญหาไม้ยางพาราแตกกระจายเกลื่อนลอยในทะเลและตู้อีกจำนวน 3 ตู้ ที่ยังไม่พบ มีแผนปฏิบัติการและแผนป้องกันความปลอดภัยทางน้ำอย่างไร
พร้อมกันนี้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูล และสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาตรัง ได้เข้าร่วมประชุมวางแผนปฏิบัติงาน พร้อมเร่งหาแนวทางการสอบสวน และแนวทางการป้องกันควบคุมความเสี่ยงของเหตุการณ์ตู้คอนเทนเนอร์หล่นลงในทะเล เป็นการประชุมหารือเพื่อหาข้อสรุปและแนวทางในการป้องกันการเกิดเหตุการณ์ทางน้ำที่อาจส่งผลในด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางทะเล